โคนมแสดงพฤติกรรมใดเมื่อถูกรบกวน?
โคนมมีพฤติกรรมการตอบสนองต่อแมลงวันคอกสัตว์ โดยพฤติกรรมการตอบสนองของโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนต่อแมลงวันคอกสัตว์มีดังนี้คือ การส่ายหน้า การกระทืบเท้า การสะบัดหาง และการกระตุกกล้ามเนื้อ โดยพฤติกรรมการสะบัดหางและการกระตุกกล้ามเนื้อเป็นพฤติกรรมที่โคนมแสดงออกสามารถประมาณจำนวนแมลงวันคอกสัตว์ที่เข้ารบกวนโคนมได้ นอกจากพฤติกรรมดังกล่าวจะใช้ในการสังเกตพฤติกรรมการไล่แมลงวันคอกสัตว์ในโคนมแล้ว ยังใช้ในการสังเกตพฤติกรรมการไล่แมลงวันคอกสัตว์ในโคเนื้อได้เช่นกัน พฤติกรรมการตอบสนองของโคเนื้อในการขับไล่แมลงวัน ได้แก่ การสะบัดหาง การกระตุกกล้ามเนื้อ การกระทืบเท้า และการส่ายหน้า จากการสังเกตพบว่าในเดือนมิถุนายนมีความถี่ของการสะบัดหางสูงสูดประมาณ 67 ครั้ง ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณแมลงวันคอกสัตว์
ภาพพฤติกรรมการส่ายหน้าของโคนมเมื่อแมลงวันคอกสัตว์รบกวน
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
จากการศึกษาวิจัยของผู้เขียนเอง (วรางรัตน์ เสนาสิงห์) เกี่ยวกับความถี่ของพฤติกรรมการตอบสนองของโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนเปอร์เซ็นต์เลือดระดับต่าง ๆ ต่อแมลงวันคอกสัตว์ ได้แก่ พฤติกรรมการส่ายหน้า การกระทืบเท้า การสะบัดหาง และการกระตุกกล้ามเนื้อ พบว่าโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนระดับเลือด 75-87.5 % มีความถี่ของการแสดงพฤติกรรมมากที่สุดในทุกพฤติกรรม ยกเว้นพฤติกรรมการส่ายหน้า ในขณะที่โคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนระดับเลือดมากกว่า 87.5-93.8 % มีความถี่ของพฤติกรรมน้อยที่สุด โดยรายละเอียดของแต่ละพฤติกรรมที่โคนมแสดงออกมีดังนี้
การส่ายหน้า ค่าเฉลี่ยของการส่ายหน้าของโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนระดับเลือดมากกว่า 93.8-100 %, มากกว่า 87.5-93.8 % และ 75-87.5 % มีค่าความถี่ 0.88, 0.54 และ 0.71 ครั้ง ต่อ 3 นาที ตามลำดับ โดยพบโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนระดับเลือดมากกว่า 87.5-93.8 % มีความถี่ของการส่ายหน้าน้อยที่สุดซึ่งต่างจากระดับสายเลือดมากกว่า 93.8-100 % ซึ่งไม่ต่างจากระดับสายเลือดมากกว่า 87.5-93.8 %
กระทืบเท้า พฤติกรรมการกระทืบเท้าในโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนเปอร์เซ็นต์เลือดระดับต่างๆ พบว่าโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนระดับเลือดมากกว่า 87.5-93.8 % มีการแสดงพฤติกรรมต่อแมลงวันคอกสัตว์ที่เข้ารบกวนน้อยที่สุดเฉลี่ย 1.04 ครั้ง ต่อ 3 นาที ในขณะที่สายเลือดระดับ 75-87.5 % มีการแสดงพฤติกรรมมากที่สุดเฉลี่ย 1.65 ครั้ง ต่อ 3 นาที
การสะบัดหาง ค่าเฉลี่ยของการสะบัดหางของโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนระดับเลือดมากกว่า 93.8-100 %, มากกว่า 87.5-93.8 % และ 75-87.5 % มีค่าความถี่ 4.47, 4.20 และ 7.20 ครั้ง ต่อ 3 นาที ตามลำดับ โดยการแสดงออกของโคนมระดับเลือด 75-87.5 % มีความแตกต่างจากโคนมระดับเลือดอื่นๆ
การกระตุกกล้ามเนื้อ โคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนระดับเลือด 75-87.5 % มีการกระตุกกล้ามเนื้อมากที่สุดเฉลี่ย 7.36 ครั้ง ต่อ 3 นาที ซึ่งต่างจากโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนระดับเลือดอื่น ๆ ในขณะที่โคนมระดับเลือดมากกว่า 93.8-100 % และมากกว่า 87.5-93.8 % มีความถี่ของพฤติกรรมใกล้เคียงกันคือ 4.53 และ 3.97 ครั้ง ต่อ 3 นาที ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบว่าการแสดงออกของพฤติกรรมต่างๆในโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชียนมีความแตกต่างกันในแต่ละเดือนที่ศึกษา โดยโคนมมีพฤติกรรมการส่ายหน้ามากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2553 เฉลี่ย 1.10 ครั้ง ต่อ3 นาที และน้อยที่สุดในเดือนมีนาคม 2553 เฉลี่ย 0.40 ครั้ง ต่อ 3 นาที มีพฤติกรรมการกระทืบเท้ามากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เฉลี่ย 4.29 ครั้ง ต่อ 3 นาที และน้อยที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2553 เฉลี่ย 0.69 ครั้ง ต่อ 3 นาที และโคนมมีพฤติกรรมการสะบัดหางมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2552 เฉลี่ย 10.79 ครั้ง ต่อ 3 นาที และน้อยที่สุดในเดือนตุลาคม 2553 เฉลี่ย 2.07 ครั้ง ต่อ 3 นาที ส่วนพฤติกรรมการกระตุกกล้ามเนื้อพบมากในเดือนธันวาคม เฉลี่ย 11.45 ครั้ง ต่อ 3 นาที และน้อยที่สุดในเดือนมิถุนายน 2553 เฉลี่ย 1.89 ครั้ง ต่อ 3 นาที
ทั้งนี้ยังพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมแต่ละลักษณะกับการเข้ารบกวนของแมลงวันคอกสัตว์ พบว่าแมลงวันคอกสัตว์มีผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกค่อนข้างน้อย จากความสัมพันธ์พบว่าพฤติกรรมการส่ายหน้ามีปริมาณแมลงวันคอกสัตว์สูงสุด 8-9 ตัว ต่อ 2 นาที แสดงพฤติกรรม 1.5-2 ครั้ง ต่อ 3 นาที พฤติกรรมการกระทืบเท้ามีปริมาณแมลงวันคอกสัตว์สูงสุด 8-9 ตัว ต่อ 2 นาที แสดงพฤติกรรม 5-6 ครั้ง ต่อ 3 นาที พฤติกรรมการสะบัดหางมีปริมาณแมลงวันคอกสัตว์สูงสุด 8-9 ตัว ต่อ 2 นาที แสดงพฤติกรรม 5-6 ครั้ง ต่อ 3 นาที และพฤติกรรมการกระตุกกล้ามเนื้อมีปริมาณแมลงวันคอกสัตว์ 8-9 ตัว ต่อ 2 นาที แสดงพฤติกรรม 16-18 ครั้ง ต่อ 3 นาที
แหล่งที่มา
ชนาณัฐ แก้วมณี. (2550). การศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาแมลงวันคอกสัตว์ Stomoxys caclcitrans (Linnaeus) (Diptera: Muscidae. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
วรางรัตน์ เสนาสิงห์. (2555). เปรียบเทียบพฤติกรรมการตอบสนองของโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชียน 3 สายเลือดต่อการเข้ารบกวนของแมลงวันคอกสัตว์ (Diptera;Stomoxys calcitrans) และเห็บโค (Boophilus microplus Canestrini) และการใช้ไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae) ควบคุมแมลงในสภาพคอก. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Mullens, B.A., Lii, K.S., Mao, Y., Meyer J.A., Peterson, N.G. and Szijj, C.E. (2006, March). Behavioural responses of dairy cattle to the stable fly Stomoxys calcitrans, in an open field environment. Medical and Veterinary Entomology, 20, (1 March), 122-137.
-
10133 โคนมแสดงพฤติกรรมใดเมื่อถูกรบกวน? /article-biology/item/10133-2019-04-19-07-58-53เพิ่มในรายการโปรด