วิธีปรับรูปแบบการนอนที่ไม่ดีของวัยรุ่น
รูปแบบการนอนที่ไม่ดีกำลังถูกต่อวงจรและฝังลึกเข้าสู่เด็กและวัยรุ่นอย่างถาวร ในขณะที่การนอนดึกได้กลายเป็นปกติวิสัยของเด็กหนุ่มสาวในปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า การนอนหลับพักผ่อนที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตนั้นมีความเกี่ยวข้องกับนาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm)
ภาพการนอนที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงสีน้ำเงินจากสมาร์ตโฟน ซึ่งจะช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น
ที่มาภาพ https://pixabay.com/images/id-2569584/ ,StockSnap
การศึกษาล่าสุดพบว่า การสัมผัสกับแสงหน้าจอแสดงผลของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแสงสีน้ำเงินที่ปล่อยออกมาจากจอแสดงผลของสมาร์ตโฟน แท็บเล็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ นั้นสามารถส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวภาพ และการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ทั้งนี้จากการศึกษาอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่า แสงสีน้ำเงินจากจอแสดงผลบนสมาร์ตโฟนและแล็ปท็อปมีส่วนในการขัดขวางรูปแบบการนอนหลับตามธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นมากกว่าวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่การศึกษาใหม่ให้ข้อมูลสนับสนุนว่า วัยรุ่นเองสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการนอนหลับของพวกเขา รวมถึงการปรับปรุงสมาธิและอารมณ์ เพียงแค่ลดการสัมผัสกับหน้าจอที่เปล่งแสงสีน้ำเงินในช่วงเย็น ซึ่งสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการใช้สมาร์ตโฟน แล็ปท็อป หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่มีจอแสดงผลสีน้ำเงินในตอนเย็น หรืออีกวิธีหนึ่งคือ การสวมแว่นตาที่ป้องกันความยาวคลื่นแสงสีน้ำเงิน
นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam University Medical Centre) ได้นำเสนอข้อค้นพบเบื้องต้นในการประชุมประจำปีของสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งยุโรปในปี 2019 (the European Society of Endocrinology Annual Meeting 2019) โดยได้เแสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน จะนอนหลับช้าลงโดยเฉลี่ย 30 นาทีเมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน
ทีมวิจัยได้ดำเนินการทดลองแบบสุ่มกับผู้ที่มีพฤติกรรมใช้สมาร์ตโฟนบ่อยครั้ง เพื่อประเมินผลกระทบของการปิดกั้นแสงสีน้ำเงินจากหน้าจอแสดงผลจากการใช้แว่นตากรองแสงสีน้ำเงิน และงดเว้นการสัมผัสกับหน้าจอแสดงผลในช่วงเย็น ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า แว่นตากรองแสงสีน้ำเงิน และการงดเว้นการสัมผัสกับหน้าจอส่งผลให้วัยรุ่นนอนหลับได้ดีขึ้น โดยสามารถนอนหลับได้เร็วขึ้น 20 นาที และยังมีการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยในเรื่องของการมีสมาธิที่ดีขึ้น ความเหนื่อยล้าระหว่างวันลดลง และยังช่วยปรับปรุงอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ดีแม้ว่าผลลัพธ์ของการศึกษาจะมีแนวโน้มที่แน่นอน แต่ข้อสรุปของการค้นพบนี้ยังจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขในเรื่องของการควบคุมการใช้งานแว่นตากรองแสงสีน้ำเงินด้วย
ปัญหาของเทคโนโลยีและการนอนหลับเป็นประเด็นร้อนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากมายที่สนับสนุนว่า แสงสีน้ำเงินจากหน้าจอแสดงผลของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบต่อนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) ของร่างกาย เนื่องด้วยไปยับยั้งการปล่อยฮอร์โมนเมลาโทนิน หรือฮอร์โมนที่ควบคุมวงจรการนอนหลับของร่างกายมนุษย์ ซึ่งการขาดการนอนหลับ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าและมีสมาธิไม่ดีเท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวที่รุนแรงมากขึ้น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้
แม้ว่าในปัจจุบันสมาร์ตโฟน แอปพลิเคชันหลายตัว รวมทั้งอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ จะถูกปรับปรุงให้มีโหมดสำหรับกรองแสงที่มีความยาวคลื่นสีน้ำเงินในเวลากลางคืนแล้ว แต่การหลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสกับหน้าจอแสดงผลที่มีแสงสีน้ำเงินคงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป
แหล่งที่มา
Tom Hale. (2019 May 22). This Could Help The Bad Sleeping Patterns Of Teenagers.
Retrieved June 20, 2019, From https://www.iflscience.com/brain/this-could-help-the-bad-sleeping-patterns-of-teenagers-/
Sleep problems in teenagers reversed in just one week by limiting screen use.
Retrieved June 20, 2019, From https://eurekalert.org/pub_releases/2019-05/esoe-spi051519.php
-
10465 วิธีปรับรูปแบบการนอนที่ไม่ดีของวัยรุ่น /article-biology/item/10465-2019-07-01-04-40-30เพิ่มในรายการโปรด