Stabbing Pain: ปวดเหมือนถูกแทงเป็นเช่นนี้เอง
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยมีอาการเจ็บปวดแบบเสียดแทงในบริเวณจุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย และไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจุดเดียว ที่สำคัญการปวดเช่นนั้นจะเบาบางลงเพียงไม่กี่วินาทีต่อมา เคยสงสัยหรือไม่ว่าอาการเช่นนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติหรือสัญญาณเตือนของโรคร้ายชนิดใด
ภาพที่ 1 อาการปวดแบบเสียดแทงเป็นอย่างไร?
ที่มา https://pixabay.com/, typgraphhyimage
ความเจ็บปวดเกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาทรับความรู้สึก (sensory nerves) เมื่อคุณตัดนิ้วมือของตัวเอง ตัวรับความเจ็บปวดขนาดเล็ก (nociceptors) ที่ผิวหนังจะตรวจจับว่า มีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งตัวรับขนาดเล็กเหล่านี้เชื่อมโยงกับเซลล์ประสาท (nerve cells) ดังนั้น เมื่อเซลล์ตัวรับเหล่านี้ถูกกระตุ้น จะเกิดการสัญญาณไปยังเส้นใยประสาท (nerve fiber) โดยเส้นใยประสาทหลายชนิดรวมกันจะกลายเป็นเส้นประสาทรอบนอก (peripheral nerve) ซึ่งส่งสัญญาณไปยังไขสันหลังในลักษณะของสัญญาณไฟฟ้า (electrical impulse) ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังสมองส่วนทาลามัส (thalamus) ซึ่งเป็นสมองที่มีบทบาทสำคัญในการรับความรู้สึกเจ็บปวด
หลังจากนั้นสัญญาณความเจ็บปวดจะถูกส่งไปยังสมองส่วนคอร์เทกซ์รับความรู้สึก (somatosensory cortex) คอร์เทกซ์กลีบหน้า (frontal cortex) และระบบลิมบิก (limbic system) ซึ่งส่วนต่าง ๆ เหล่านี้รับผิดชอบต่อความรู้สึกทางร่างกาย (physical sensations) ความคิด (thinking) และอารมณ์ (emotions) ตามลำดับ ซึ่งการส่งสัญญาณอย่างรวดเร็วประหนึ่งความเร็วของฟ้าผ่า คุณเจ็บตัวและรู้สึกหงุดหงิดที่มีอาการเจ็บปวดเช่นนั้น ในขณะเดียวกันร่างกายของคุณจะเปิดใช้งานการตอบสนองแบบสะท้อนกลับ (reflex response) เพื่อลดอันตราย
แน่นอนว่าตำแหน่งของอาการปวดที่ราวกับว่าถูกแทงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่จุดเดียวบนร่างกาย แล้วอะไรที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแบบสุ่มที่ดูเหมือนไม่มีสาเหตุชัดเจนเช่นนั้น?
Francis McGlone ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลจอห์นมัวเรส สหราชอาณาจักร ได้อธิบายกับเว็บไซต์ iflscience.com ว่า หลายท่านอาจเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความเจ็บปวดในลักษณะที่เหมือนถูกของมีคมจิ้มแทง ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุใด ๆ นั่นอาจเป็นอาการบาดเจ็บปวดจากเส้นประสาทที่ถูกกดทับ โดยอาจเกิดขึ้นได้เกิดจากการได้รับการกระตุ้นบางอย่างที่กดเส้นประสาท
เส้นประสาทสามารถถูกกดทับได้จากเนื้อเยื่อโดยรอบที่ออกแรงกด (pressure) ลงบนเส้นประสาท หรือที่เรียกว่า เส้นประสาทถูกกด (pinched nerve) ซึ่งจะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยแรงกดอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำ ๆ หรือการที่ร่างกายอยู่ในตำแหน่งที่ผิดธรรมชาติหรือท่าทางเดิมเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการอักเสบเนื่องจากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อ เนื่องจากเนื้อเยื่อที่บวมสามารถสร้างแรงกดต่อเส้นประสาทในบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น อย่างไรก็ดีความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งเดียว เช่น เส้นประสาทถูกกดทับที่บริเวณลำคออาจส่งผลให้เกิดอาการปวดที่แขนได้
ภาพที่ 2 อาการปวดเหมือนถูกของมีคมทิ่มแทงอาจเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ
ที่มา https://pixabay.com/ ,Stockpixbb
หากต้องการลดความเสี่ยงต่ออาการเส้นประสาทกดทับ วิธีที่ดีคือการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายอยู่ในตำแหน่งเดิมเป็นเวลานาน การออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้ร่างกาย แต่อย่างไรก็ดีไม่ควรออกกำลังกายโดยการเคลื่อนไหวซ้ำไปมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ควรดูแลเรื่องน้ำหนัก เนื่องด้วยน้ำหนักตัวที่มากเกินไปเป็นหนึ่งในสาเหตุของการกดทับเส้นประสาทที่มากขึ้น สำหรับบางคน ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากเส้นประสาทกดทับอาจเกิดในระยะเวลาสั้นๆ และจะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้หยุดพัก ในขณะที่บางคนอาจรุนแรงถึงขั้นผ่าตัดเพื่อทำการรักษา เช่น ผู้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc) หรือโรคจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) ซึ่งโดยปกติแล้วระบบความเจ็บปวดจะทำหน้าที่ได้ดีสำหรับการเตือนถึงความผิดปกติบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย ทั้งนี้สิ่งที่ควรทำคือ การดูแลทุกพื้นที่บนร่างกายที่มีสัญญาณเตือน แม้ว่าอาการปวดอาจเป็นการส่งสัญญาณต่อการบาดเจ็บหรือการติดเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาการปวดนั้นจะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่ใช่สาเหตุของความผิดปกติใด ๆ โดยหนึ่งในเงื่อนไขดังกล่าวเรียกว่า อัลโลไดเนีย (Allodynia) หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นจากสิ่งเร้าซึ่งโดยปกติไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยที่ก่อให้เกิดอาการแสบร้อน เป็นต้น อย่างไรก็ดีเชื่อว่า อัลโลไดเนีย เกิดจากความผิดปกติในการรับรู้ของระบบประสาทส่วนกลางที่ไวต่อแรงกระตุ้นมากเกินไป โดยโนซิเซ็ปเตอร์ที่ไวต่อความรู้สึกมากเกินไป จะตีความสัญญาณความเจ็บปวดจากสิ่งเร้าที่ไม่เป็นอันตรายทุกประเภท ตั้งแต่การหวีผมไปจนถึงการกอดเป็นการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาอาการอัลโลไดเนีย แต่หากอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นรุนแรงและเป็นอาการเรื้อรัง การไปพบแพทย์เพื่อรับวินิจฉัยและรักษาอาการที่ถูกต้อง เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพของคุณเอง
แหล่งที่มา
Rachel Baxter. (2019, July 21). What Causes Those Sharp, Stabbing Pains You Get Every So Often In Random Body Parts?
Retrieved August 7, 2019, From https://www.iflscience.com/health-and-medicine/what-causes-those-sharp-stabbing-pains-you-get-every-so-often-in-random-body-parts/
Allodynia. Retrieved August 7, 2019, From https://en.wikipedia.org/wiki/Allodynia
-
10610 Stabbing Pain: ปวดเหมือนถูกแทงเป็นเช่นนี้เอง /article-biology/item/10610-stabbing-painเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง