ทำความรู้จักกับปรสิตกันให้มากขึ้น
ปรสิตคืออะไร?
ปรสิต เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตด้วยการอาศัยและแพร่พันธุ์อยู่ในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นหรือที่เรียกว่า โฮสต์ (Host) หากปราศจากโฮสต์ ก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้ปรสิตจึงไม่ทำลายโฮสต์ แต่มันสามารถเจริญเติบโต แพร่กระจายโรค และก่อให้เกิดความเสียหายต่อโฮสต์ได้
ภาพที่ 1 พยาธิปากขอ ปรสิตชนิดหนึ่ง
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/พยาธิ#/media/ไฟล์:Hookworms.JPG , Angusmclellan
ปรสิตแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วปรสิตจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ปรสิตบางชนิดเช่นหนอนพยาธิก็มีความยาวถึง 30 เมตร ทั้งนี้ปรสิตสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ โปรโตซัว (Protozoa) หนอนพยาธิ (Helminth) และปรสิตที่อาศัยอยู่ภายนอกร่างกายของโฮสต์ (Ectoparasites)
โปรโตซัว (Protozoa) เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็ก ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วภายในร่างกายของมนุษย์ เช่น เชื้อไกอาเดีย (Giardia) มีวงจรชีวิต 2 ระยะ โดยระยะแรกเรียกว่า โทโฟไซต์ (Trophozoite) ซึ่งจะแหวกว่ายและกินอาหารที่ลำไส้เล็ก และในระยะที่ 2 เรียกว่า ซิสต์ (Cyst) ไม่มีการเคลื่อนไหวแต่เป็นระยะติดต่อ โดยโปรโตซัวระยะซิสต์จะถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ และปนเปื้อนในแหล่งน้ำหรือพืชผักที่ปลูกในดินหรือน้ำที่ปนเปื้อน มนุษย์ที่ใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อม หรือมีความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะสามารถส่งเสริมให้เกิดการแพร่เชื้อได้มากขึ้น ทั้งนี้การติดเชื้อไกอาเดีย จะส่งผลให้เกิดอาการตั้งแต่ท้องเสียอย่างรุนแรงถึงขั้นเรื้อรัง ปวดท้อง เมื่อยล้า อ่อนเพลีย และมีน้ำหนักลดลง
นอกจากนี้ยังมีโปรโตชัวชนิดอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น พลาสโมเดียม (Plasmodium) โดยพลาสโมเดียมจะพัฒนาในยุง และยุงที่ติดเชื้อจะส่งเชื้อปรสิตไปยังมนุษย์โดยการกัด พลาสโมเดียมจะทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะและทำให้เกิดโรคในมนุษย์ที่เรียกว่า มาลาเรีย (Malaria)
ภาพที่ 2 ยุงก้นปล่อง พาหะของโรคมาลาเรีย
ที่มา https://pixabay.com/images/id-1016254/,ArtsyBee
มาลาเรียเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากปรสิต (Parasitic Diseases) ทั้งหมด โดยในปีพ.ศ. 2560 มีการประเมินว่า โรคมาลาเรียส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกราว 435,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กในพื้นที่ของประเทศในทวีปแอฟริกาที่ตั้งอยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa)
หนอนพยาธิ (Helminths) เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงตัวเต็มวัย เช่นเดียวกับโปรโตซัว หนอนพยาธิดำรงชีวิตโดยอาศัยอยู่กับสิ่งมีชีวิตอื่น โดยในรูปแบบของพยาธิตัวเต็มวัยจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนภายในร่างกายของมนุษย์ได้ ทั้งนี้กลุ่มของหนอนพยาธิที่ก่อโรคในมนุษย์แบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
-
หนอนตัวแบน (Flat worm หรือ Platyhelminthes) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลักษณะตัวอ่อนแบน มีระบบย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์ โดยมีเพียงช่องเดียวที่เปิดทั้งการกลืนอาหารและการขับถ่าย เช่น พยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด เป็นต้น
-
พยาธิหัวหนาม (Acanthocephalins) เป็นพยาธิที่มีลำตัวกึ่งแบนกึ่งทรงกระบอก โดยมีลักษณะเด่นคือ ส่วนหัวมีอวัยวะยื่นออกมาเรียกว่า Proboscis (งวง) ซึ่งมีหนามเรียงเป็นแถวอยู่โดยรอบ ซึ่งใช้สำหรับเจาะผนังลำไส้ของโฮสต์
ภาพที่ 3 พยาธิตัวกลม
ที่มา https://www.nhs.uk/conditions/roundworm/
- พยาธิตัวกลม (Roundworms หรือ nematodes) เป็นหนอนพยาธิที่มีลำตัวกลม เรียวยาว ไม่แบ่งเป็นปล้อง มีระบบทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์ (Complete Digestive Tract) พบได้ทั่วไปและเกือบทุกสภาพแวดล้อม โดยพยาธิตัวกลมในช่วงตัวเต็มวัยสามารถอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร เลือด ระบบน้ำเหลือง หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Tissues)ได้ อย่างไรก็ดีตัวอ่อนของพยาธิตัวกลมที่ปนเปื้อนอยู่ในดิน สามารถไชผ่านผิวหนังของโฮสต์ได้ ด้วยเหตุนี้พยาธิตัวกลมจึงถูกเรียกว่า หนอนพยาธิที่ติดต่อผ่านดิน (soil-transmitted helminths) เช่น พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน เป็นต้น
ปรสิตที่อาศัยอยู่ภายนอกร่างกายของโฮสต์ (Ectoparasites) โดยทั่วไปหมายถึงสิ่งมีชีวิต เช่น เห็บ หมัด เหา และไร ที่สามารถเกาะติดหรือฝังตัวอยู่ภายในผิวหนังและคงอยู่ได้เป็นเวลานาน ปรสิตประเภทนี้ก่อให้เกิดโรคต่อมนุษย์หรือโฮสต์ เช่น ไร (Mite)ก่อให้เกิดโรคหิด ซึ่งมีอาการคันและเป็นรอยแดงที่ผิวหนัง เป็นโรคผิวหนังที่สามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสโดยตรง
ภาพที่ 4 เหา
ที่มา https://pixabay.com/images/id-1196506/,olivierlevoux
เหา (Head lice) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ไม่มีปีก อาศัยและเพิ่มจำนวนอยู่ในเส้นผมของมนุษย์และดูดเลือดจากหนังศีรษะเป็นอาหาร การติดเชื้อปรสิตก่อให้เกิดโรคอย่างมาก และจากโรคพยาธิทั้งหมด มาลาเรียคร่าชีวิตผู้คนราว 660,000 คนต่อปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเด็กเล็กในแอฟริกาทางตอนใต้ หรือเรียกได้ว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการมียาที่รักษาโรคปรสิตที่มีประสิทธิภาพ แต่การรักษาเหล่านั้นควรมาพร้อมกับการป้องกันเช่น การปรับปรุงสุขอนามัยและการมีเสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะสมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อปรสิต
แหล่งที่มา
About Parasites. Retrieved December 7, 2019, From https://www.cdc.gov/parasites/about.html
Vincent Ho. (2019, November 18). What are parasites and how do they make us sick?. Retrieved December 7, 2019, From https://theconversation.com/what-are-parasites-and-how-do-they-make-us-sick-121489
Alana Biggers. (2018, February 16). What to know about parasites. Retrieved December 7, 2019, From https://www.medicalnewstoday.com/articles/220302.php
-
11203 ทำความรู้จักกับปรสิตกันให้มากขึ้น /article-biology/item/11203-2019-12-19-04-12-07เพิ่มในรายการโปรด