Urban Heat Island เกาะความร้อนในเมือง
สภาพของสังคมเมือง มีการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายสิ่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้สิ่งแวดล้อมโดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ บรรยากาศในสังคมเมืองจะมีลักษณะร้อนขึ้น แสงน้อย ลมน้อย และเกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมโดยรวมนั่นเอง ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ เรานิยามให้มันเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) จะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านกันได้เลย
ภาพลักษณะของปรากฏการณ์เกาะความร้อน
ที่มา https://climatekids.nasa.gov/heat-islands/, NASA/JPL-Caltech
ปรากฏการณ์เกาะความร้อนคืออะไร
ปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือบ้างก็ว่าปรากฏการณ์โดมความร้อน หรือ เกาะความร้อน หรือ เกาะความร้อนเมือง คือ ปรากฏการณ์ที่พื้นที่บริเวณสังคมเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ โดยมีสาเหตุสำคัญส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของแผ่นดินที่มาจากการพัฒนาเมือง เช่นการที่มีอาคารก่อสร้างจำนวนมาก มากกว่าต้นไม้ที่จะคอยดูดซับมลพิษ หรือดักจับฝุ่นในอากาศ กลับดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และปล่อยออกมาในเวลากลางคืน หรือการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดความร้อน เช่นความร้อนจากเครื่องปรับอากาศ ก็ทำให้เกิดการสะสมของพลังงานความร้อนตามอาคาร ซึ่งปล่อยออกมาทำให้เกิดเกาะความร้อนเมืองในบริเวณโดยรอบนั่นเอง หรือแม้กระทั่งในบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นก็มีส่วนทำให้มีการเพิ่มอุณหภูมิทั่วไปโดยเฉลี่ยด้วยเช่นเดียวกัน
ปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมืองนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนคือ ทำให้ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือนในบริเวณใต้ลมที่ห่างจากใจกลางเมืองออกไปประมาณ 60 กิโลเมตรเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับบริเวณพื้นที่เหนือลมนั่นเอง
ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ของเกาะตัวของพลังงานความร้อนภายในเมือง ซึ่งทำให้พบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับขนาดของเมืองและจำนวนประชากร ทั้งนี้ได้มีการทดลองและสำรวจในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ตัวเมืองคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งแบ่งแยกตามประเภทของความหนาแน่นได้ดังนี้
1. พื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง ได้แก่ พื้นที่สีลมและเยาวราช เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลของปรากฏการณ์เกาะความร้อนมากที่สุด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอาคารสูงและประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
2. พื้นที่ที่มีความหนาแน่นปานกลาง ได้แก่ พื้นที่รัตนโกสินทร์และพื้นที่สามย่าน เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลของปรากฏการณ์เกาะความร้อนรองลงมา
3. พื้นที่ที่มีความหนาแน่นปน้อย ได้แก่ พื้นที่บางกะปิ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระยะห่างของอาคารมีมาก ทำให้มีการระบายอากาศได้ดี
การแก้ไขและป้องกันปรากฏการณ์เกาะความร้อน
การศึกษาผลเสียจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะเป็นหนทางที่เราเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา และแนวทางการแก้ไขได้อย่าถูกต้อง ซึ่งแนวทางที่ได้ผ่านการศึกษาและวิจัยอันนำไปสู่การแก้ไขที่ดีก็คือ การแก้ปัญหาจากการศึกษาการออกแบบชุมชนนั่นเอง ซึ่งการออกแบบชุมชนเมืองที่ดี ควรคำนึงถึงทิศทางการพัดของลมประจำถิ่นและการจัดผังของอาคารควรหลีกเลี่ยงการวางเป็นแบบแนวเพราะจะปิดทางผ่านของอากาศ และควรมีพื้นที่โล่งในบริเวณที่มีความหนาแน่นของประชากรและอาคารสูงอยู่จำนวนมาก
แหล่งที่มา
ปรากฏการณ์เกาะร้อน (Urban Heat island) . สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563. จาก https://www.tmd.go.th/programs%5Cuploads%5Cweatherclimate%5Cปรากฏการณ์เกาะร้อน.pdf
ปรากฏการณ์โดมความร้อน (Urban heat island: UHI). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563. จาก http://www.satitm.chula.ac.th/section.php?Id=342&group=27&cate=news
ธนกฤต เทียนมณี. ปรากฏการณ์เกาะความร้อนกับสภาพทางกายภาพของเมือง. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563. จาก http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/thapra/thanakrit_teanmanee/fulltext.pdf
What Is an Urban Heat Island?. Retrieved January 10, 2020, from https://climatekids.nasa.gov/heat-islands/
-
11239 Urban Heat Island เกาะความร้อนในเมือง /article-biology/item/11239-urban-heat-islandเพิ่มในรายการโปรด