เกิดอะไรขึ้นเมื่อผิวถูกแดดเผา?
เมื่อเข้าสู่หน้าร้อนของไทยอย่างเป็นทางการ กิจกรรมคลายร้อนคงหนีไม่พ้น การเที่ยวทะเล และแม้การเล่นน้ำทะเลจะช่วยดับร้อน แต่แสงแดดอาจทำให้ผิวแสบร้อน และทำให้เกิดการกลายพันธุ์จนนำไปสู่การเกิดมะเร็งผิวหนังได้
ภาพรังสียูวีจากแสงแดดที่ทำลายผิวหนังชั้นนอก เกิดอาการอักเสบ แสบร้อน และมีรอยแดง
ที่มาภาพ https://pixabay.com/images/id-3973380/, hulkiokantabak
แสงแดดและความเสียหายของดีเอ็นเอที่ชั้นผิว
ผิวเกรียมจากการโดนแดดมากเกินไป (Sunburn) เกิดจากการเผาไหม้ของรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (Ultraviolet หรือ UV) ของแสงแดดที่ทำลายดีเอ็นเอบนเซลล์ผิวชั้นนอก โดยปกติแล้วร่างกายมีกลไกมากมายในการป้องกันและแก้ไขการกลายพันธุ์จากการที่เซลล์ผิวถูกรังสียูวี แต่หากเซลล์ผิวได้รับรังสียูวีมากเกินกว่าที่จะสามารถจัดการได้ ก่อให้เกิดความเสียหายที่อาจเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ เป็นผลให้เซลล์ตาย หลอดเลือดขยายตัวเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และนำไปสู่การกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันออกมาสู่ผิวหนังเพื่อช่วยทำความสะอาด เกิดเป็นอาการบวมแดงและการอักเสบที่เชื่อมโยงถึงการถูกแดดเผา อย่างไรก็ดี เซลล์ผิวหนังที่ถูกแดดเผาจะได้รับการซ่อมแซม แต่เซลล์ผิวที่รอดตายบางส่วนจะเกิดการกลายพันธุ์และหลบหนีการซ่อมแซม ซึ่งเซลล์เหล่านี้อาจกลายเป็นเซลล์มะเร็ง (cancerous) ได้ในที่สุด
ดวงอาทิตย์ปล่อยรังสียูวี 3 ชนิดได้แก่ UVA UVB และ UVC ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วรังสียูวีซีจะถูกดูดซับโดยชั้นบรรยากาศของโลก แต่รังสียูวีเอและยูวีบีสามารถเดินทางมายังพื้นผิวโลก และสามารถทะลุชั้นผิวหนังที่ไม่มีการป้องกัน โดยรังสียูวีบีสามารถแทรกซึมไปยังชั้นหนังกำพร้า (epidermis) ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดของผิวหนัง ในขณะที่รังสียูวีเอสามารถเจาะทะลุผ่านผิวหนังลงไปได้ในชั้นผิวหนังที่ลึกกว่าโฟตอนจากรังสียูวีเอจะทำปฏิกิริยากับเซลล์ผิวหนังซึ่งจะทำลายโปรตีนและเยื่อหุ้มเซลล์ รวมทั้งดีเอ็นเอ แต่โฟตอนจากรังสียูวีบีจะถูกดูดซับโดยดีเอ็นเอเอง และพลังงานบางส่วนสามารถทำให้ดีเอ็นเอบางส่วนมีการจำลองตัวเองอย่างไม่ถูกต้อง เป็นผลให้เกิดการหยุดการจำลองดีเอ็นเอ (DNA replication) ที่ถูกต้อง และทำให้เซลล์ซ่อมแซมตัวเองผิดพลาด จนเป็นเหตุให้เซลล์เริ่มทำลายตัวเองเพื่อลบเซลล์ที่ไม่สามารถจำลองตัวเองได้อย่างถูกต้อง
ผลกระทบของแสงแดดในระดับภูมิคุ้มกัน
เมื่อเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดหรือที่เรียกว่า keratinocytes ตรวจพบความเสียหายของดีเอ็นเอ เซลล์เหล่านี้จะเริ่มผลิตโมเลกุลเพื่อกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันมาสู่ผิวหนัง ทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว เกิดอาการบวม เกิดรอยแดง รู้สึกร้อน และแสบผิวหนังที่ถูกแดดเผาได้
การบุกรุกของเซลล์ภูมิคุ้มกัน (Immune cell invasion) จะเริ่มขึ้นในขณะที่คุณยังคงนั่งบนชายหาด แต่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากที่เริ่มได้รับแสงจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะมากที่สุดที่ 24-48 ชั่วโมงต่อมา และนั่นเป็นสาเหตุให้เกิดรอยแดงและความแสบจากการถูกแดดเผาในอีก 2-3 วันถัดไป
เซลล์ภูมิคุ้มกันบางเซลล์ทำความสะอาดผิวหนังโดยการทำลายตัวเอง ในขณะที่บางเซลล์ปล่อยสารเคมีที่ทำลายเซลล์ที่อ่อนแอ โดยกระบวนการนี้อาจก่อให้เกิดปฏิกริยาการแพ้ชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนัง และภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผิวหนังชั้นนอกสุดจะถูกทำลายและยกตัวขึ้น เกิดเป็นช่องว่างที่เต็มไปด้วยของเหลวคล้ายแผลพุพองอักเสบ ทั้งนี้เมื่อการอักเสบลดลง เซลล์ผิวชั้นล่างลงไปจะเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อแทนที่เซลล์ที่ตายแล้วที่ลอกออก ความเสียหายของดีเอ็นเอยังทำให้เซลล์ผิวชั้นนอกส่งสัญญาณกระตุ้นการผลิตเมลานิน (Melatonin) ได้เป็นผิวสีแทนหลังจากสีแดงจางหายไป โดยเมลานินจะเกาะอยู่เหนือเซลล์ผิวเพื่อป้องกันรังสียูวีต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถพึ่งพาผิวสีแทนให้ปกป้องผิวจากแสงยูวี การป้องกันด้วยการทาครีมกันแดด หรือวิธีการป้องกันอื่น ๆ เป็นทางเลือกที่ดีกว่า
การดูแลผิวที่ถูกแดดเผาที่ดีที่สุดคือการให้เวลาผิวได้รักษาตัวเอง แต่ในระหว่างการรักษาผิวดังกล่าวนี้ สามารถบรรเทาอาการแสบร้อนได้ด้วยการหลีกเลี่ยงแสงแดด การดื่มน้ำ หรือการประคบเย็น แต่หากผิวหนังเกิดความแสบร้อนและความเจ็บปวด หรือมีแผลพุพอง คลื่นไส้ เป็นไข้ และเวียนศีรษะที่รุนแรงเกินกว่าวิธีข้างต้นจะสามารถบรรเทาได้ การพบแพทย์เป็นวิธีการที่ดีที่สุด
แหล่งที่มา
Peter Soyer and Katie Lee. (2016, March 9). Explainer: what happens to your skin when you get sunburnt? Retrieved Febuary 12, 2020, From https://theconversation.com/explainer-what-happens-to-your-skin-when-you-get-sunburnt-53865
What happens when you get a sunburn Retrieved Febuary 12, 2020, From https://www.mdanderson.org/publications/focused-on-health/What-happens-to-your-skin-when-you-get-a-sunburn.h24Z1591413.html
Baron ED and Suggs AK. (2014). Introduction to photobiology.Dermatol Clin.32(3):255-66 Retrieved Febuary 12, 2020, From https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24891049
-
11346 เกิดอะไรขึ้นเมื่อผิวถูกแดดเผา? /article-biology/item/11346-2020-03-06-08-36-38เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง