ความลับของผีเสื้อใบไม้ กับการพรางตัวอันแสนแยบยล
ในธรรมชาตินั้นเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดต่างก็มีรูปแบบที่หลากหลาย แต่ก็ยังมีชีวิตหลายชนิดได้ปรับตัวเพื่ออยู่รอดในรูปแบบที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง หนึ่งในนั้นก็คือ “ผีเสื้อใบไม้แห้ง” (Dead-leaf butterflies) นั่นเอง
ผีเสื้อใบไม้แห้งนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากผีเสื้อชนิดอื่นด้วยลักษณะของปีกที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก เพราะมันมีปีกที่ดูเหมือนกับใบไม้มากเลยทีเดียว หากใครที่ชอบเดินป่าแล้วบังเอิญเดินผ่านผีเสื้อใบไม้แห้งเข้า ก็แทบไม่รู้เลยว่านี่คือ “ผีเสื้อ” ที่เป็นแมลงชนิดหนึ่ง บินได้ ขยับได้
ไม่เพียงแต่ลักษณะภายนอกเท่านั้นที่เหมือนใบไม้แห้ง ลักษณะการเกาะอยู่กับต้นไม้แบบนิ่งๆอยู่กับที่ ก็เป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจของผีเสื้อใบไม้แห้งเช่นกัน หากได้ลองสังเกตดู จะพบว่าผีเสื้อที่เราพบเห็นได้ทั่วไปตามสวนดอกไม้ จะมีจังหวะการกระพือปีกและการเกาะกับต้นไม้ที่ต่างออกไปจากผีเสื้อใบไม้แห้ง
ภาพที่ 1 ผีเสื้อใบไม้แห้ง
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Dead_leaf_butterfly_in_nature.jpg ,Own work
โดยผีเสื้อทั่วๆไปนั้น เมื่อตอนที่เกาะดูดน้ำหวานจะมีการขยับตัวบ้าง เล็กน้อย และไหวตัวเร็ว รีบบินหนีทันทีเมื่อเราเข้าไปใกล้ แต่ผีเสื้อใบไม้แห้งนั้นกลับอยู่นิ่งมาก ไม่ขยับตัวเลยเมื่อเราเข้าไปใกล้ ราวกับจะกลายเป็นใบไม้ใบหนึ่งที่บังเอิญตกลงมาจากเรือนยอดของต้นไม้จริงๆ
ทั้งพฤติกรรมและลักษณะภายนอกของผีเสื้อใบไม้แห้งนี้ เรียกว่า “การพรางตัว” (Camouflage) เกิดจากการปรับตัวตามธรรมชาติของแมลง และการที่ผีเสื้อใบไม้ต้องพรางตัวจากนักล่านั้น ก็เพื่อรักษาชีวิตรอดโดยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของสัตว์กินแมลงอื่นๆ เช่น งูบางชนิด นก เป็นต้น
การพรางตัวเรียกได้ว่าเป็น “วิวัฒนาการ” ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติรูปแบบหนึ่ง โดย “การพรางตัว” แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ “crypsis” คือการพรางตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อให้ถูกมองเห็นยากขึ้น เช่น การพรางตัวของกบ คางคก จิ้งจก กิ้งก่า งู เป็นต้น
นอกจากนี้การปรับตัวตามธรรมชาติยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างออกไป เรียกว่า “mimesis” คือการเลียนแบบเป็นสิ่งอื่น ซึ่งการพรางตัวของผีเสื้อใบไม้แห้งก็จัดอยู่ในลักษณะที่เป็น “mimesis” นี้เช่นกัน
ข้อสังเกตของการปรับตัวแบบ “mimesis” ก็คือ การที่มี “ตัวต้นแบบ (model)” และ “สัตว์ตัวที่ทำการเลียนแบบ (mimic)” สองอย่างนี้มาคู่กันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในกรณีของผีเสื้อใบไม้แห้ง จะมี “ใบไม้แห้ง”เป็นตัวต้นแบบ (model) และผีเสื้อชนิดนี้ก็ทำการวิวัฒนาการปีกของมันขึ้นมาให้ลวดลายเหมือนกับใบไม้แห้ง รวมถึงสังเกตและลอกเลียนพฤติกรรมของใบไม้ออกมาได้อีกด้วย เรียกได้ว่า “ผีเสื้อ” คือผู้ลอกเลียนแบบ (mimic) นั่นเอง โดยการเลียนแบบลักษณะนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทฤษฎี “Batesian mimicry” เป็นการเลียนแบบของเหยื่อเพื่อป้องกันตัวจากสัตว์ผู้ล่าดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งในกรณีของผีเสื้อใบไม้ ก็คือการทำให้สัตว์ผู้ล่าคิดว่าผีเสื้อตัวนี้ไม่สามารถกินได้นั่นเอง ส่วนที่มาของชื่อเรียกทฤษฎีนี้ ก็มาจากการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติแก่ Henry Walter Bates นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่ค้นพบทฤษฎีนี้
แหล่งที่มา
ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว. ชีวิตและวิวัฒนาการ กับความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย. BRT Magazine, December, 2008, from http://www1a.biotec.or.th/BRT/images/stories/camouflage.pdf
ตื่นเถิด. อยู่รอดได้โดยการพรางตัว, 2005, from https://wol.jw.org/th/wol/d/r113/lp-si/102005525
Aruond the word. (2019, 24 Mars), from https://www.blockdit.com/posts/5c9a60e8eded2709c02c0f78
-
11365 ความลับของผีเสื้อใบไม้ กับการพรางตัวอันแสนแยบยล /article-biology/item/11365-2020-03-12-03-28-01เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง