เหตุผลที่ไม่ควรเกลียดแมงมุม
ความหวาดกลัวแมงมุมที่เรียกว่า arachnophobia เป็นอาการกลัวแมงมุม หรือรวมไปถึงสัตว์ชนิดอื่นในตระกูลแมง เช่น แมงป่อง และอาจถูกจัดรวมกับอาการกลัวแมลงด้วย แต่ในความจริงแล้วหลายคนอาจกลัวแมงมุมเพียงเล็กน้อย และเหตุผลเหล่านี้อาจจะช่วยให้รักแมงมุมได้มากขึ้น
ภาพที่ 1 แมงมุม
ที่มา https://pixabay.com ,631372
แมงมุมช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากสัตว์ที่อันตรายที่สุดในโลก
ส่วนใหญ่แมงมุมจะกินแมลงเป็นอาหาร ซึ่งช่วยควบคุมประชากรแมลงในระบบนิเวศน์ ใยแมงมุม ใหญ่ และมีความซับซ้อน และที่สำคัญดักจับแมลงขนาดเล็กเช่น ยุง ได้ดี ทั้งนี้ ยุงเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกที่คร่าชีวิตมนุษย์ได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ เสียอีก
แมงมุมเป็นสัตว์อายุยืน
จากสถิติการบันทึกโลก แมงมุมที่อายุยืนที่สุดในโลกเป็นแมงมุมประตูกลตัวเมีย สายพันธุ์ Gaius villosus อายุ 43 ปี อาศัยอยู่ในรัฐเซาท์เวสเทิร์น ออสเตรเลีย หรือรู้จักกันในชื่อ หมายเลข 16 แม้จะมีอายุมากถึง 43 ปี แต่มันไม่ตายเพราะสิ้นอายุขัย แต่ตายเพราะถูกตัวต่อต่อย
ภาพที่ 2 แมงมุมประตูกลตัวเมีย ที่รู้จักกันในชื่อ หมายเลข 16
ที่มา https://www.telegraph.co.uk/science/2018/04/27/farewell-no-16-scientists-left-miserable-worlds-oldest-spider/
แมงมุมประตูกลเป็นแมงมุมที่เฝ้าประตูทางเข้ารังของมันตลอดเวลา เนื่องจากสร้างรังใหม่หรือย้ายรังได้ยาก และเหตุผลที่มันเฝ้ารัง ไม่ค่อยออกไปที่อื่นนี่เอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบเคล็ดลับอายุยืนของมัน นั่นคือ การใช้พลังงานน้อยและมีระบบเผาผลาญต่ำ
ใยแมงมุมมหัศจรรย์
ใยแมงมุมเป็นวัสดุชีวภาพธรรมชาติที่แข็งแรงและยืดหยุ่นที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก ซึ่งในใช้ในอดีตนักวิจัยใช้ใยของแมงมุมสำหรับการทำผ้าพันแผล โดยได้หาวิธีการโหลดใยของมันด้วยยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ใยแมงมุมสีทองที่พบเห็นได้ทั่วไปในออสเตรเลีย มีความแข็งแรงพอที่จะจับค้างคาวและนกได้ และสามารถนำมาทอเป็นเสื้อคลุมใยแมงมุมได้อย่างสมบูรณ์
พิษของแมงมุมช่วยระงับปวดได้
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กำลังพัฒนายาระงับปวด ชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดจากพิษของแมงมุม ที่มีกลไกในการจับเหยื่อได้อย่างรวดเร็วโดยกำหนดเป้าหมายที่ระบบประสาท ซึ่งความสามารถนี้เป็นคุณสมบัติของยาระงับปวดในมนุษย์ได้
พิษแมงมุมจาก Fraser Island funnel web มีโมเลกุลที่ชะลอผลกระทบของการอุดตันในสมอง โดยศาสตราจารย์เกล็นคิง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่าพิษจะถูกนำมาใช้ในการพัฒนายาเพื่อป้องกันสมองถูกทำลายในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้พิษดังกล่าว ยังถูกใช้เพื่อสร้างสารกำจัดศัตรูพืช โดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกด้วย
แมงมุมต้องการอยู่ตามลำพัง
ภาพที่ 3 แมงมุม Wrap-around spiders
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Wrap-around_Spider_(Dolophones_sp.)_(8728157059).jpg , Bernard DUPONT
แมงมุมไม่มีนิสัยก้าวร้าว และจะพยายามหนีห่างออกจากผู้คน หรือเพื่อป้องกันตัวเอง แมงมุมหลายชนิดมีความพิเศษในการซ่อนหรือพรางตัว เช่น แมงมุม Wrap-around spiders สายพันธุ์ Dolophones ที่แผ่ตัวติดกับกิ่งไม้เพื่อซ่อนตัวในระหว่างวัน และจะออกมาสร้างใยในเวลากลางคืน แมงมุม Bird-dropping spider ที่มีรูปร่างคล้ายมูลนก ห้อยติดกับใยแมงมุมเป็นการพรางตัว หรือแมงมุมประตูกล (Trapdoor spiders) ที่อาศัยอยู่ในโพรงที่ปกคลุมด้วยดินและเศษใบไม้
แมงมุมเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยม
แมงมุมเพศเมียบางตัวผลิตน้ำนม หรือแม้แต่เสียสละตัวเองเพื่อเป็นอาหารให้ลูก ซึ่งแม่แมงมุมทุกตัวจะปกป้องลูกของพวกมันที่เรียกว่า แมงมุมตัวอ่อน (spiderlings) อย่างไรก็ดี แม่แมงมุมประตูกล จะให้ลูกแมงมุมอยู่ในโพรงเป็นเวลา 9 เดือน ก่อนที่พวกมันจะขุดโพรงในบริเวณใกล้เคียงเพื่ออยู่อาศัย
แม้แมงมุมจะเป็นสัตว์ที่มีลักษณะน่ากลัว มีการเคลื่อนที่ที่ว่องไวกว่ามนุษย์ และมีพิษที่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่แมงมุมก็เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์อย่างยิ่ง หากไม่มีแมงมุมหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ มนุษย์จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นหากพบเจอแมงมุมโดยไม่ทันตั้งตัว พยายามตั้งสติ หยิบแก้วน้ำหรือภาชนะที่สามารถครอบตัวแมงมุมได้ และนำมันไปปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติ ก็ถือว่าเป็นการช่วยป้องกันระบบนิเวศน์ที่สัตว์ทุกชนิดอาศัยอยู่ร่วมกันได้แล้ว
แหล่งที่มา
Leanda Denise Mason.(2020,January 7),Don’t like spiders? Here are 10 reasons to change your mind. Retrieved April 11, 2020, From https://theconversation.com/dont-like-spiders-here-are-10-reasons-to-change-your-mind-126433
แมงมุมอายุมากที่สุดในโลก ตายแล้วในวัย 43 ปี. Retrieved April 11, 2020, From https://ngthai.com/animals/10223/worlds-oldest-known-spider-dies-at-43/
Jessica Hinchliffe,(2019,April 2),Funnel-web spider venom could protect stroke victims from further brain damage. Retrieved April 11, 2020, From https://www.abc.net.au/news/2019-04-02/funnel-web-spider-venom-could-help-protect-brain-stroke-damage/10959032
-
11488 เหตุผลที่ไม่ควรเกลียดแมงมุม /article-biology/item/11488-2020-04-21-08-11-52เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง