เรียนรู้วิทย์ที่หุบเขาทาคาชิโฮ
ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยกว่า 3,000 เกาะ เกาะใหญ่ที่สุดคือ เกาะฮอนชู ฮอกไกโด คิวชูชิโกะกุ ตามลำดับ เกาะของญี่ปุ่นส่วนมากเป็นเกาะภูเขา และหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นภูเขาไฟ เช่น ภูเขาไฟฟูจิ อันเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และเป็นเป้าหมายแรกในการเดินทางมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นของพวกเราทรัพยากรการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่นใช่ว่าจะมีแค่ภูเขาไฟและบ่อน้ำร้อนเท่านั้น ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์มากมายมีศิลปวัฒนธรรมที่งดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นที่ไม่มีชาติใดเหมือน ญี่ปุ่นจึงเป็นจุดหมายลำดับต้นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย
จากประสบการณ์การเดินทางมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นเกือบสิบครั้ง และทุกครั้งก็ได้พบแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่สวยงามแตกต่างจากเดิมมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย และแต่ละที่ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ ดังที่รู้กันอยู่ว่าวิทยาศาสตร์มีอยู่รอบตัวเรา ในการเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้เราเลือกเดินทางย้อนรอยมาที่ ฟุกุโอกะ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเกาะคิวชู เพราะติดใจข้าวหน้าปลาไหลกับชาบูที่เจ้าของร้านเป็นคนใจดีและพวกเราเรียกว่าร้านลุง แต่ชื่อจริงของร้านคือ Tachibana ซึ่งตั้งอยู่บนถนนคนเดินในเมืองยูฟูอิน และการไปแชโคลนร้อนที่ช่วยคลายความเมื่อยล้าได้ ทำให้ผิวนุ่มนวลขึ้นทันใจที่เมืองเบปปุ หลังจากเครื่องบินลงที่สนามบินฟูกุโอกะเมื่อเวลาเกือบแปดโมงเช้า ผ่านการตรวจคนเข้าเมือง และไปติดต่อรับรถที่เช่าไว้ล่วงหน้า จนถึงเวลาประมาณสิบโมงเช้าก็เริ่มเดินทางออกจากฟุกุโอกะไปยูฟุอินเพื่อเดินเที่ยวถนนคนเดินระยะทางจากสนามบินไปยังยูฟุอินประมาณ 117 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาขับรถสองชั่วโมงก็ถึงจุดหมาย ถนนคนเดินในวันนี้ชุ่มฉ่ำด้วยสายฝนจากพายุใต้ฝุ่นที่มาถึงฟุกุโอกะ และทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือนกับชีวิตของชาวเมืองด้วยผลจากดินถล่มที่ตามมา ตามเส้นทางมีฝนตกโดยตลอด การเดินทางของคณะเราเท่ากับขับรถหนีพายุโดยบังเอิญ เพราะแผนการเดินทางเดิมของเราคือจะไปเที่ยวที่อื่นก่อน แล้วกลับเข้ามาฟุกุโอกะก่อนเดินทางกลับ 2 วัน ทำให้เรารอดพ้นจากความวุ่นวายภายในเมืองฟุกุโอกะได้อย่างหวุดหวิด
เมื่อถึงที่หมาย เราก็มุ่งหน้าไปยังร้าน Tachibana ซึ่งอยู่ต้นถนนคนเดิน เพื่อจัดการกินข้าวหน้าปลาไหลญี่ปุ่นที่แสนอร่อย ปลาไหลญี่ปุ่น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Anguilla japonica, ญี่ปุ่น: 日本組 นิฮงอุนะงิ ) เป็นปลาไหลชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตูหนา (Anguilidae) มีพบในญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน และ เวียดนาม ตลอดจนแถบเหนือของฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับปลาไหลอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกัน ปลาไหลญี่ปุ่นใช้ชีวิตอยู่ในน้ำจืดเป็นส่วนใหญ่ แต่วางไข่ในน้ำทะเล พื้นที่วางไข่ของปลาไหลญี่ปุ่น คือบริเวณกระแสน้ำเส้นศูนย์สูตร เหนือบริเวณทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงแถบตะวันตกของหมู่เกาะมาเรียนา ขณะที่ยังเป็นตัวอ่อน จะถูกเรียกว่าปลาเมือก ซึ่งจะถูกพัดพาโดยกระแสน้ำเส้นศูนย์สูตรเหนือไปทางตะวันตกของแปซิฟิก จากนั้นก็จะถูกพัดขึ้นทางเหนือไปยังดินแดนเอเชียตะวันออกโดยกระแสน้ำคุโระชิโอะ ปลาไหลญี่ปุ่น เป็นอาหารสำคัญของชาวเอเชียตะวันออก ทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมประมงบ่อเลี้ยงปลาในประเทศส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้ คนญี่ปุ่นเรียกปลาชนิดนี้ว่า อุนะงิ และถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่น ร้านอาหารจำนวนมากนิยมเสิร์ฟโดยการย่าง และกลายเป็นเมนูที่เรียกว่า คะบะยะกิ (蒲烤) นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้ในศาสตร์การแพทย์ของจีนด้วย
ภาพที่ 1 (บน) หน้าร้านขายข้าวหน้าปลาไหลญี่ปุ่นบนถนนคนเดินยุฟุอิน (ล่าง) ข้าวหน้าปลาไหลญี่ปุ่น
หลังจากอิ่มอร่อยกับอาหารมื้อกลางวัน และเดินฝ่าสายฝนบนถนนคนเดินแล้วก็ขับรถมุ่งหน้าเข้าที่พักที่เบปปู เมืองที่มีบ่อน้ำร้อนกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง เราแวะพักที่นี่เพื่อไปแช่บ่อโคลนร้อนอีกครั้ง หลังจากเคยมาเมื่อสองปีก่อนจุดมุ่งหมายในการเดินทางในวันพรุ่งนี้คือตั้งใจไปช่องเขาทาคาชิโฮ
ภาพ 2 น้ำตกอิโนทาคิ ที่ช่องเขาทาคาชิโฮ
ช่องเขาทาคาชิโฮ Takachiho Gorge (高千穂峡, Takachiho-kyo) เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแหล่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมิยาซากิ (Miyazaki) และอยู่ไม่ไกลภูเขาไฟอะซะ (Aso) เกิดจากรอยแตกของภูเขาซึ่งมีแม่น้ำโกคาเซะ (Gokase) ไหลผ่าน สองข้างเป็นหินสูงชันเหมือนหน้าผาที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟจนมีรูปร่างคดเคี้ยวเหมือนตัวมังกร ในช่องเขานี้มีน้ำตกมินาอิโนทาคิ (Minainotaki) ที่สูงถึง 17 เมตร ไหลเอื่อย ๆ ลงมาที่ธารน้ำสีน้ำเงินอมเขียวและมีความเขียวขจีของแมกไม้ปกคลุม จัดว่าเป็นวิวที่สวยงามมาก
ช่องเขาทาคาชิโฮมีส่วนที่เป็นโกรกธาร(Gorge) ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของร่องน้ำประกอบกับธารเป็นลักษณะของหุบผาชันที่ลึกและแคบลักษณะคล้ายรูปตัววี (N-shape) เกิดจากกระบวนการกัดเซาะที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยกระแสน้ำไหล จนสามารถกัดเซาะหินที่แข็งแกร่งได้ มักเกิดในกรณีที่มีธารน้ำเดิมอยู่ก่อน ต่อมาได้เกิดการยกตัวของแผ่นดิน แต่ธารน้ำยังคงรักษาแนวร่องน้ำเดิมไว้ได้ เนื่องจากในการกัดเซาะแผ่นดินที่ยกตัวสูงได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงในประเทศไทยมีพบโกรกธารที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง จังหวัดเชียงใหม่
ภาพที่ 3 โกรกธารที่ ช่องเขาทาคาชิโฮ
ในระหว่างทางเดินชมธรรมชาติ เราพบไลเคนและพืชไร้ดอก มอสส์ เฟิร์น ขึ้นอยู่ทั่วไป ไลเคน (Lichen) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีราและสาหร่ายสีเขียวอยู่ร่วมกัน หรือรากับไซยาโนแบคทีเรีย โดยราจะได้อาหารและแก๊สออกซิเจนจากสาหร่าย ส่วนสาหร่ายก็จะได้ความชื้นและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงจากรา นอกจากนี้ไลเคนยังสามารถใช้เป็นดัชนีในการวัดมลพิษทางอากาศได้
ภาพที่ 4 ไลเคน
มอสส์ (Moss) ถือเป็นพืชกลุ่มแรก ๆ ของโลกที่ได้พัฒนาจากน้ำขึ้นบก มีคลอโรฟิลด์สีเขียวไว้สังเคราะห์อาหารด้วยแสงจึงสามารถอยู่ได้โดยลำพัง แต่โครงสร้างของมันยังไม่จัดว่าเป็นพืชชั้นสูง เพราะมอสส์ไม่มีราก ลำต้น และใบที่แท้จริง อีกทั้งยังปราศจากดอก จึงต้องแพร่พันธุ์ด้วยสปอร์ โดยอาศัยลม น้ำ หรือแมลงพาไป มอสส์จะขึ้นเป็นกลุ่มเรียงแน่นติดกัน จนดูคล้ายพรมที่ปกคลุมต้นไม้ หรือโขดหินเอาไว้
ภาพที่ 5 มอสส์
ภาพที่ 6 มอสส์กับสปอร์ใช้ในการแพร่พันธุ์
เฟิร์น (Fern) เป็นพืชไร้ดอกอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไป เป็นพืชที่เจริญเติบโตช้า จึงมีความต้องการสารอาหารในปริมาณต่ำ เฟิร์นสามารถเจริญได้ดีบนดินที่ไม่ดี บนหินตามร่องหินหรือเป็นพืซอิงอาศัยบนไม้พุ่มหรือไม้ต้น เฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัยมีหลายชนิด สามารถเจริญบนหินหรือตามร่องหินได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีเฟิร์นเลื้อยที่เริ่มต้นเจริญจากพื้นดิน และใช้ลำต้นหรือใบเลื้อยพันไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น เฟิร์นบางชนิดจัดเป็นเฟิร์นน้ำ คือมีทั้งพวกที่ลอยน้ำและจมน้ำ หรือมีทั้งส่วนที่อยู่ใต้น้ำและอยู่เหนือน้ำ บางชนิดเจริญได้เฉพาะในน้ำจืด บางชนิดเจริญได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อยในสภาพธรรมชาติ เฟิร์นจะขึ้นอยู่รวมกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่นมอสส์ ไลเคน
ภาพที่ 7 (บน) เฟิร์นชนิดต่าง ๆ บนช่องเขาทาคาชิโฮ (ล่าง) เฟิร์นขึ้นบนหิน
ภาพที่ 8 บริเวณหุบเขาทาคาชิโฮ
ที่มา https://c.min.ms//d/member/c/16/16979/pagegallery/1494422643/d25bdcee.jpg
นี่เป็นตัวอย่างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากธรรมชาติที่สามารถพบเห็นได้จากแหล่งท่องเที่ยว เพียงแค่ช่องเขาทาคาชิโฮแห่งเดียว นักเรียนจะได้เรียนรู้ทั้งธรณีวิทยา ชีววิทยาของทั้งพืชและสัตว์ แม้จะเป็นความรู้เบื้องต้นแต่ก็สามารถสร้างความสนใจ ฝึกการสังเกต ฝึกการอ่านป้ายตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบการปลูกฝังเยาวชนไทยให้สนใจวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่พ่อแม่และผู้ปกครองช่วยซี้นำให้สังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว หมั่นตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กตอบ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยจุดประกายให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น และเป็นการปูพื้นฐานในการศึกษาวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
ช่องเขาทคาชิโฮ - Takachiho-kyo. สืบคั้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2560, จาก www.talonjapan.com/takachiho-kyo.
ระบบการจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ. สืบคั้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2560, จาก http://Biodiversity.forest.go.th.
มอสส์. สืบค้นเมื้อ 28 พฤศจิกายน 2560, จาก https:/th.wikijpedia.org/wilki/.
เฟิร์น. สืบคั้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2560, จาก https:/th.wikipedia.org/wiki.
ไลเคน. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2560, จาก https:/th.wikipedia.org/wiki.
-
12418 เรียนรู้วิทย์ที่หุบเขาทาคาชิโฮ /article-biology/item/12418-2021-08-23-06-06-15เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง