“เมลามีน” สารปนเปื้อนในอาหาร: กรณีศึกษาเพื่อความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์
ปัจจุบันเราจะเห็นข่าวสารจากสื่อต่างๆ มากมายในเรื่องของการปนเปื้อนของสารเคมีหลากหลายชนิดในอาหาร ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับสารเคมีชนิดนั้นๆ โดยตรง อาทิเช่น การปนเปื้อนของสารฟอกขาว (กลุ่มสารประกอบซัลไฟต์ เช่น sodium hydrosulfite) สารเพิ่มความกรอบ (sodium borate) สีที่ใส่ในอาหาร (food coloring) สารกันบูด (preservatives) ยาฆ่าแมลงหรือสารตกค้างจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (pesticide residues) และอื่นๆ ส่วนสารปนเปื้อนที่เป็นข่าวครึกโครมอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ก็เห็นจะเป็น “เมลามีน (melamine)”
เมลามีน คือ อะไร
เมลามีนเป็นสารเคมีที่ประกอบด้วยธาตุไนโตรเจน คาร์บอน และไฮโดรเจน มีสูตรโครงสร้างทางเคมี คือ C3H6N6 สังเคราะห์ขึ้นมาได้ในปี 1834 โดยJustus von Liebig นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน จนกระทั่งในช่วงปลายทศวรรษ 1930 จึงมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิต พลาสติกและผลิตภัณฑ์ลามิเนต
เมลามีนมีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เมื่อนำใช้ในอุตสาหกรรมวัสดุต่างๆ จะช่วยทำให้เกิดการแข็งตัว ผิวเกิดความเป็นมัน และทนต่อความร้อน ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี รวมทั้งทำให้วัสดุนั้นๆ ทนต่อความชื้นได้ดีอีกด้วย ซึ่งจากสมบัติดังกล่าว ทำให้เมลามีน และสารที่เป็นอนุพันธ์ของเมลามีนถูกนำมาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องครัว จานชาม พื้น บอร์ด ผนัง โพลียูรีเทนโฟม สี ปุ๋ย กระดาษ และใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกอีกมากมายหลายชนิด
ส่วนสาเหตุที่มีการนำเอาเมลามีนมาใส่ในอาหาร ก็เนื่องมาจากเมลามีนมีโครงสร้างทางเคมีบางส่วนคล้ายกับกรดอะมิโน (ภาพที่ 1 และ 2) ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีน ทำให้มีการนำเอาเมลามีนมาผสมในอาหารหลายชนิดที่ต้องการให้มีปริมาณโปรตีนมากๆ ตามที่มาตรฐานของอาหารแต่ละชนิดกำหนดไว้ โดยเมื่อทำการตรวจวัดปริมาณโปรตีนในห้องปฏิบัติการเมลามีนก็จะให้ผลเสมือนกันมีโปรตีนจากธรรมชาติอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ เนื่องจากเมลามีนมีหมู่อะมิโนเหมือนโปรตีนทำให้เกิดปฏิกิริยาเสมือนมีโปรตีนอยู่ในอาหารชนิดนั้นๆ นั่นเอง
การตรวจพบการใช้เมลามีนในอาหาร
ทำไมถึงมีการตรวจหาเมลามีนในอาหาร เนื่องมาจากสมบัติของเมลามีนที่คล้ายกับโปรตีนและมีราคาถูก จึงถูกกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคนำไปผสมลงไปในอาหารคนหรืออาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตดังที่กล่าวไปแล้ว จนทำให้มีการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ ของมนุษย์โดยตรง
นอกจากนี้ยังพบว่าเมลามีนยังอาจจะปนเปื้อนมาจากการผสมในอาหารสัตว์หรือปุ๋ยบำรุงพืช จากนั้นก็จะส่งต่อเข้ามายังสัตว์ที่บริโภคอาหารหรือพืชนั้นๆ เข้าไป ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบว่า นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมแล้ว ในไข่ไก่ เนื้อสัตว์และพืชผักก็สามารถตรวจพบการปนเปื้อนของเมลามีนได้ด้วยเช่นกัน
เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ เมื่ออัตราการแข่งขันในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารเพิ่มสูงขึ้น ขั้นตอนการลดต้นทุนการผลิตมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เกิดการหาลู่ทางที่จะลดต้นทุนการผลิตลง จนส่งผลทำให้มีการใช้สารเมลามีนในอาหารเกิดขึ้น โดยปกติแล้วการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนเมลามีนเข้าไปในปริมาณน้อยจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้ใหญ่ แต่ถ้ากินเข้าไปมากเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดผลึกสะสมในไต ขัดขวางการทำงานของไต และเป็นสาเหตุทำให้เกิดไตวายได้ในเวลาต่อมา สำหรับร่างกายทารกนั้นพบว่าจะไวต่อการปนเปื้อนของเมลามีนมากกว่าผู้ใหญ่ และร่างกายมีความทนทานต่อพิษของเมลามีนน้อยกว่า จึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของทารกกว่า 54,000 คน และทารกอีก 4 คนที่เสียชีวิตดังที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์
การศึกษาเพื่อความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์
มีหลากหลายประเด็นในเรื่องของการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหาร ที่ครูผู้สอนสามารถนำมาเชื่อมโยงกับเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนได้ อาทิ เช่น เรื่ององค์ประกอบทางเคมีและสมบัติทางเคมีของสารปนเปื้อนต่างๆ การย่อยสลายและพิษวิทยาของสารปนเปื้อนที่มีต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกาย รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์สามารถแทรกประเด็นที่เกี่ยวกับ “จริยธรรม” ลงไปได้ ซึ่งสามารถชี้ประเด็นให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์เองก็มีทั้งคุณประโยชน์และโทษมหันต์เช่นกัน จะส่งผลดีหรือร้ายก็ขึ้นกับวิธีการนำมาใช้ และถ้าจะพูดว่าวิทยาศาสตร์ให้ประโยชน์กับมวลมนุษย์ชาติก็คงจะถูกต้อง ในกรณีที่มนุษย์นำวิทยาศาสตร์มาใช้ในแง่ของการพัฒนาสิ่งที่ทำให้เกิดผลดีต่อสิ่งมีชีวิตโดยรวม แต่หลายครั้งมนุษย์กลับเลือกนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ในการหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เราจึงยังคงเห็นข่าวภัยร้ายต่างๆ มากมายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งที่เรียกว่า “ความเจริญเติบโตและก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์”และดูเหมือนว่า ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากขึ้นเท่าใด ภัยร้ายที่คุกคามสิ่งมีชีวิตก็ยิ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น วิทยาศาสตร์จะใช่คำตอบแห่งการพัฒนาเพื่อมวลมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือไม่ ขึ้นกับวิธีการใช้ประโยชน์โดยมนุษย์เท่านั้นเอง
-
1280 “เมลามีน” สารปนเปื้อนในอาหาร: กรณีศึกษาเพื่อความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์ /article-biology/item/1280-melamineเพิ่มในรายการโปรด