ชื่อดาวเคราะห์นั้นสำคัญไฉน
ชื่่อดาวเคราะห์นั้นสำคัญไฉน
สุจิตรา ศิริสวัสดิ์พิพัฒน์
เมื่อเอ่ยถึงดาวเคราะห์ (Planets) เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าเป็นบริวารของดวงอาทิตย์ คือ โคจรรอบ ดวงอาทิตย์นั่นเอง ดาวเคราะห์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง ที่มองเห็นได้เพราะแสงสะท้อนที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ ปัจจุบันดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรามีจำนวน 8 ดวง คือ ดาวพุธ ศุกร์ โลกอังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส และเนปจูน สำหรับดาวพลูโตถูกจัดเป็นดาวเคราะห์แคระ ถึงแม้ดาวพลูโต จะไม่จัดเป็นดาวเคราะห์แต่ก็ยังคงอยู่ โคจรรอบดวงอาทิตย์เหมือนเดิม ไม่ได้หายไปจากระบบสุริยะแต่อย่างใด
ในการจัดกลุ่มดาวเคราะห์นั้นยังมีความสับสนกันอยู่บ้าง เนื่องจากมีการจัดโดยใช้เกณฑ์ที่ต่างกันและมีการเรียกชื่อที่ต่างกันออกไป เช่น ดาวเคราะห์ชั้นใน ดาวเคราะห์ชั้นนอก ดาวเคราะห์วงใน ดาวเคราะห์วงนอก
การแบ่งดาวเคราะห์ออกเป็นดาวเคราะห์ชั้นใน (Inner Planets) และดาวเคราะห์ชั้นนอก (Outer Planets) นั้น ใช้เกณฑ์ระยะทางจากดาวเคราะห์แต่ละดวงถึงดวงอาทิตย์ จะพบว่าดาวเคราะห์จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใกล้ดวงอาทิตย์และกลุ่มที่ไกลดวงอาทิตย์ เราเรียกกลุ่มที่ใกล้ดวงอาทิตย์ว่า ดาวเคราะห์ชั้นใน ซึ่งได้แก่ ดาวพุธ ศุกร์ โลก และดาวอังคาร ส่วนกลุ่มที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ เราจะเรียกว่า ดาวเคราะห์ชั้นนอก ซึ่งได้แก่ ดาวพฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส และเนปจูน ระหว่างดาวเคราะห์ชั้นในและดาวเคราะห์ชั้นนอกจะเป็นแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์แคระที่โคจรรอบดวงอาทิตย์
รูปแสดงดาวเคราะห์ชั้นในและดาวเคราะห์ชั้นนอก
สำหรับการแบ่งดาวเคราะห์ออกเป็นดาววงใน (Inferior Planets) และดาวเคราะห์วงนอก (Superior) นั้น มีการแบ่ง กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยยึดโลกเป็นเกณฑ์คือใช้โลกเป็นจุดแบ่ง คือ ดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรอยู่ข้างในคือถัดจากวงโคจรของโลกเข้าไป จะเรียกดาวเคราะห์วงใน ได้แก่ ดาวพุธและดาวศุกร์ ส่วนดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรถัดจากวงโคจรของโลกออกไป จะเรียกว่าดาวเคราะห์วงนอก ได้แก่ ดาวอังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส และเนปจูน
รูปแสดงดาวเคราะห์วงในและดาวเคราะห์วงนอก
ในการสังเกตดาวเคราะห์วงในและดาวเคราะห์วงนอกเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ในการสังเกตดาวเคราะห์วงในและดาวเคราะห์วงนอกจากโลกย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากว่าในการสังเกตดาวเคราะห์วงในนั้น เราจะต้องสังเกตไปทางที่ดวงอาทิตย์อยู่เสมอ แต่สำหรับดาวเคราะห์วงนอก เราจะสังเกตได้ทั้งด้านที่ไปทางดวงอาทิตย์และด้านที่อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดังนั้น การสังเกตเห็นดาวเคราะห์วงในและดาวเคราะห์วงนอกย่อมแตกต่างกันแน่นอน ลองมาดูว่าแตกต่างกันอย่างไร
รูปแสดงการสังเกตดาวพุธและดาวศุกร์
หากท่านเคยสังเกตดาวเคราะห์ ท่านจะพบว่าท่านสามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์เหล่านี้ คือ ดาวอังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส และเนปจูน ทั้งด้วยตาเปล่าและด้วยกล้องโทรทรรศน์ ณ ตำแหน่งต่างๆ บนท้องฟ้าในเวลากลางคืน แต่สำหรับดาวเคราะห์บางดวงจะเห็นยากมากหรือเห็นเฉพาะตอนเย็นและตอนเช้า ดาวเคราะห์ดังกล่าว คือ ดาวพุธและศุกร์ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ลองสังเกตจากภาพข้างบน จะพบว่า เราจะ
สังเกตเห็นดาวพุธและศุกร์ได้ เมื่อดาวพุธและศุกร์อยู่ ณ ตำแหน่งใกล้ A , ใกล้ B , ใกล้ C และใกล้ D เท่านั้น โดยมุมห่างของดาวเคราะห์จากดวงอาทิตย์ต้องไม่น้อยกว่า 15°องศา เพราะถ้าน้อยกว่านี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ เนื่องจากถูกรบกวนด้วยแสงอาทิตย์
เมื่อดาวพุธอยู่ที่ตำแหน่ง ใกล้A หรือดาวศุกร์อยู่ที่ตำแหน่งใกล้ C ดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงจะอยู่ทางทิศตะวันออกของดวงอาทิตย์ หมายความว่าจะขึ้นและตกหลังดวงอาทิตย์ ดังนั้นจะสามารถสังเกตเห็นดาวพุธหรือดาวศุกร์ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกหรือหลังจากดวงอาทิตย์ตกแล้วและอีกไม่นานก็จะตก และเมื่อดาวพุธมาอยู่ที่ตำแหน่งใกล้ B หรือดาวศุกร์อยู่ที่ตำแหน่งใกล้ D ดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงจะอยู่ทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ จึงขึ้นและตกก่อนดวงอาทิตย์ ดังนั้นเราจึงสังเกตเห็นดาวพุธหรือดาวศุกร์ในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น
จะเห็นว่าการจัดกลุ่มดาวเคราะห์นั้น อาจใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และมีความหมายที่แตกต่างกัน เช่น กรณีของดาวอังคาร ถ้าใช้วงโคจรเทียบกับโลกจะถูกจัดเป็นดาวเคราะห์วงนอก แต่ถ้าใช้เกณฑ์ระยะห่างจากดวงอาทิตย์จะถูกจัดเป็นดาวเคราะห์ชั้นใน เป็นต้น ดังนั้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใหม่หรือจากข้อมูลที่มีการค้นพบใหม่ได้ตลอดเวลา
ดาวพุธ ดาวศุกร์ เมื่อห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุด มุมห่างมีค่าเท่าใด
เอกสารอ้างอิง
นิพนธ์ ทรายเพชร. (2543). ดาวเคราะห์ชุมนุม. กรุงเทพมหานคร : นานมีบุ๊คส์ จำกัด.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2548). โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ ชั้น
มัธยมศึกษาปีที่ 2. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2541). หนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เล่ม 5 ว305 .
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
-
1286 ชื่อดาวเคราะห์นั้นสำคัญไฉน /article-biology/item/1286-planetsเพิ่มในรายการโปรด