ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ภก.ศุภชัย ติยวรนันท์
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “อาหารเสริม” นั้นปัจจุบันได้มีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยในเรื่องความสวยความงาม อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้ควบคุมน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ลดความเหี่ยวย่นของผิวหนัง นอกจากความสวยความงามยังมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสมรรถนะของร่างกายด้านต่างๆ ซึ่งในกลุ่มหลังนี้จะเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่อยู่ช่วงพักฟื้น
หากได้เดินชมห้างร้านต่างๆ ในท้องตลาดจะพบว่ามีผลิตภัณฑ์เหล่านี้วางจำหน่ายกันหลากหลายชื่อการค้า หลายรูปแบบ และมีการโฆษณาชวนเชื่อหลายรูปแบบ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความสับสน และตัดสินใจได้ยากว่าจะเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทใดจึงจะเหมาะสม และผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะส่งผลดีต่อร่างกายอย่างที่พึงประสงค์หรือไม่ ในบทความนี้จะนำท่านไปสู่โลกแห่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อไขข้อสงสัยให้กระจ่างชัดมากขึ้น
สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ที่มีในท้องตลาดได้มาจากสมุนไพร คำว่า “สมุนไพร” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ปีพุทธศักราช 2546 ระบุว่า “สมุนไพร [สะ-หมุน-ไพร] น. ผลิตผลธรรมชาติ ได้จากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ที่ใช้เป็นยา หรือผสมกับสารอื่นตามตำรับยา เพื่อบำบัดโรค บำรุงร่างกาย หรือใช้เป็นยาพิษ เช่น กระเทียม น้ำผึ้ง รากดิน (ไส้เดือน) เขากวางอ่อน กำมะถัน ยางน่อง โล่ติ๊น.”
เห็นได้ว่าสมุนไพรครอบคลุม พืช สัตว์ และแร่ธาตุ จากธรรมชาติ จึงยืนยันได้ว่าส่วนใหญ่ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นได้มาจากสมุนไพร ยกตัวอย่างเช่น โสมสกัดในรูปแบบต่างๆ จัดเป็นสมุนไพรจำพวกพืช น้ำมันตับปลา จัดเป็นสมุนไพรจำพวกสัตว์ และ สังกะสี หรือซิงค์ จัดเป็นสมุนไพรจำพวกแร่ธาตุ
ในบทความนี้จะได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้เสริม สมรรถนะของร่างกาย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากโสม ผลิตภัณฑ์จากเห็ดหลิงจือ ผลิตภัณฑ์จากกระเทียม ผลิตภัณฑ์จากแป๊ะก้วย และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปลา (fish oil) ตามด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เกี่ยวข้องกับความงาม ผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักชนิดต่างๆ
ผลิตภัณฑ์จากโสม
โสม เป็นสมุนไพรที่ชาวจีนใช้เป็นยามานานนับพันปี ได้จากพืชในสกุล Panax ในวงศ์ Araliaceae มีหลายชนิดที่ขึ้นชื่อ และใช้กันในเชิงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างแพร่หลายมี 2 ชนิด ชนิดแรกในภาษาจีนแมนดารินเรียกว่า “เริ๋นเซิน” ภาษาแต้จิ๋วเรียก “หยิ่งเซียม” (人參) แปลเป็นไทยว่าโสมคน เนื่องจากรากโสมนั้นมีรูปลักษณ์คล้ายคน มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Panax ginseng C.A.Meyer
รากโสมคน (人參)
ชนิดที่สองเป็นโสมอเมริกันมีถิ่นกำเนิดตามแนวตะเข็บชายแดนอเมริกากับแคนาดา ในภาษาจีนแมนดารินเรียก “หยางเซิน” แต้จิ๋วเรียก “เอี่ยเซียม” (洋參) ลักษณะรากจะไม่แตกแขนงอย่างโสมคน และมีขนาดเล็กกว่า มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Panax quinquefolium L. ซึ่งทั้งสองชนิดมีสรรพคุณคล้ายคลึงกัน
ราก และผลิตภัณฑ์จากโสมอเมริกัน (洋參)
ในโสมทั้งสองชนิดดังกล่าวมีสารสำคัญกลุ่มซาโปนินไกลโคไซด์ (saponin glycosides) มีอนุพันธ์หลายชนิดจัดอยู่ในกลุ่มย่อยที่ชื่อว่า จินเซโนไซด์ (ginsenosides) ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มย่อยนี้กว่า 50 อนุพันธ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้จากโสมสกัดในปัจจุบันนี้มีหลายรูปแบบ ได้แก่ สารสกัดโสมในแคปซูล สารสกัดโสมในรูปน้ำสกัดเข้มข้น สารสกัดโสมในรูปเม็ดแป้ง
สรรพคุณยาจีนกล่าวว่าโสมบำรุงให้ร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืน ในปัจจุบันได้มีการทำสารสกัดโสม G115 ซึ่งมีจินเซโนไซด์ 8 ชนิด ความเข้มข้นที่พอเหมาะต่อการแสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา คือความเข้มข้นร้อยละ 4 ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเด่นๆ ของโสม และเป็นจุดขาย คือ โสมจะทำให้ร่างกายทนต่อการทำงานหนักได้นาน และปรับสภาพร่างกายให้เข้าสู่ภาวะปรกติได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ กล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังมีผลลดความเครียด คลายความกังวล ได้มีการศึกษาทางคลินิกของโสมสกัดในผู้สูงอายุ โดยการให้โสมสกัด G115 แก่ผู้สูงอายุ เป็นระยะเวลานาน 12 สัปดาห์ พบว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับโสมสกัดมีความตั้งใจในการทำงาน หรือมีสมาธิ มีความจำ อารมณ์ การนอนหลับ ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับโสมสกัด
นอกจากการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ยังมีการศึกษาในผู้ที่ต้องใช้แรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา พบว่าปริมาณการใช้ออกซิเจน ระดับแลกเทตในพลาสมา อัตราการเต้นของหัวใจ ในกลุ่มนักกีฬาที่ได้รับโสมสกัดมีประมาณที่น้อยกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกายของนักกีฬาเป็นอย่างยิ่ง การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง พบว่าสามารถลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูงได้ และยังสามารถเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตต่ำได้เช่นกัน นอกจากผลทางคลินิกที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วยังพบว่าโสมสามารถลดอนุมูลอิสระได้ ซึ่งเป็นผลทำให้การเสื่อมของเซลล์ลดลง ทำให้ความชราภาพของเซลล์เกิดได้น้อยลงไปด้วย จึงเชื่อได้ว่าโสมสามารถชะลอความชราได้
การบริโภคโสมนั้นมีข้อจำกัดอยู่ที่หากบริโภคเป็นเวลานานๆ ในผู้บริโภคบางรายอาจเกิดอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวายใจ และมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ร้อนในได้ จึงต้องพิจารณาสภาพของตนเองก่อนที่จะเลือกบริโภคโสม เช่น คนที่มีอาการของการร้อนในบ่อย ๆ ถ่ายลำบาก หรือที่ทางภาษาแพทย์พื้นบ้านเรียกว่าธาตุแข็ง ก็ไม่แนะนำให้บริโภคโสม เนื่องจากจะเกิดอาการต่างๆ ที่กล่าวไว้ได้อย่างง่ายดายทีเดียว
ผลิตภัณฑ์จากเห็ดหลิงจือ
เห็ดหลิงจือ เป็นสมุนไพรจีนที่มีใช้มานาน ปรากฏอยู่ในตำรายาจีนมาแต่โบราณ ถือเป็นสมุนไพรที่ทรงคุณค่าอย่างหนึ่งของจีน ชื่อของเห็ดหลิงจือมาจากคำภาษาจีนว่า หลิง (靈) แปลว่าวิญญาณ และ จือ (芝) แปลว่า พืชสมุนไพร รวมความหมายคือ สมุนไพรกู้วิญญาณ ที่เรียกเช่นนี้เพราะ ชาวจีนเชื่อว่าหลิงจือเป็นยาอายุวัฒนะ และแก้โรคต่างๆ ได้มากมาย ในทางวิทยาศาสตร์ เห็ดหลิงจือ เป็นเห็ดในวงศ์ Polyporaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garnoderma lucidum (Leys. Ex Fr.) Karst. มีชื่อเรียกท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น ญี่ปุ่นเรียก reishi หรือ manmentake ภาษาอังกฤษเรียก lacquered mushroom หรือ lucid garnoderma ที่เรียกเช่นนี้เพราะผิวเห็ดมีสีแดงเงาเหมือนไม้ที่ถูกทาด้วยแลคเกอร์ เห็ดหลิงจือที่ใช้ในทางยาจีนได้มาจากสองสายพันธุ์ ได้แก่สายพันธุ์สีแดง และสายพันธุ์สีม่วง โดยสายพันธุ์สีแดงจะมีปริมาณสารสำคัญสูงกว่าจึงเป็นที่นิยมสูงกว่าชนิดสีม่วง
จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีที่แสดงฤทธิ์ทางยาของเห็ดหลิงจือพบว่ามสารสำคัญ 3 กลุ่ม คือ สารขมกลุ่มไตรเทอร์ปีน (triterpenes) สารกลุ่มน้ำตาลเชิงซ้อน (polysaccharides) สารกลุ่มสเตอรอยด์ (steroids) สารกลุ่มแรกแสดงฤทธิ์ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการหลั่งฮิสตามีนอันเป็นตัวทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย ส่วนสารกลุ่มที่สอง จะช่วยกระตุ้นอินซูลินให้มีการหลั่งที่ดีขึ้นส่งผลให้เซลล์นำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ดีขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้ยังแสดงฤทธิ์ในการเพิ่มศักยภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส และภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อเซลล์ร่างกายที่ผิดปรกติเช่นเซลล์มะเร็ง สารกลุ่มสุดท้ายนั้นพบว่าแสดงฤทธิ์ลดความเป็นพิษต่อตับ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคตับอักเสบ และโรคตับแข็ง ผลต่อระบบต่างๆ นั้นเป็นดังนี้
ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน พบว่าน้ำสกัดเห็ดหลิงจือจะทำให้มีการเพิ่มการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถปรับภูมิคุ้มกัน (immunomodulator) ได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ และผู้ป่วยโรคหอบหืด มีสภาพดีขึ้น และยังลดผลตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้
ผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด สารสกัดเห็ดหลิงจือจะช่วยทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขยาย เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่ขาดเลือด และเพิ่มแรงบีบของกล้ามเนื้อหัวใจโดยไม่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงสามารถลดระดับไขมันในหลอดเลือดทั้งที่อยู่ในรูปของคอเลสเตอรอล และฟอสโฟไลปิด ทำให้โอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันลดลง และยังพบว่าเมื่อได้รับสารสกัดเห็ดหลิงจืออย่างต่อเนื่องจะทำให้ระบบหลอดเลือดฝอยส่วนปลาย โดยเฉพาะบริเวณชั้นผิวหนัง มีการเจริญมากขึ้นส่งผลให้ผิวพรรณดีและลดปัญหาผมร่วงได้ ในด้านระบบประสาทส่วนกลาง สารสกัดเห็ดหลิงจือมีผลทำให้สงบประสาท ทำให้หลับสบาย จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ
ปัจจุบันในท้องตลาดมีเห็ดหลิงจือหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นเห็ดหลิงจือที่ฝานเป็นแผ่นให้นำมาต้มน้ำดื่ม เห็ดหลิงจือที่นำมาบดเป็นผง แล้วตอกเป็นเม็ด หรือบรรจุในแคปซูล เห็ดหลิงจือสกัดที่อยู่ในรูปเครื่องดื่ม หรือตอกเป็นเม็ด หรือบรรจุในแคปซูล ชนิดที่ไม่ควรซื้อหามาบริโภคเลยคือชนิดที่เป็นเห็ดหลิงจือบดเป็นผงแล้วนำมาตอกเป็นเม็ด หรือเป็นแคปซูล เพราะเป็นรูปแบบที่กินเข้าไปแล้วก็ไม่ได้เกิดคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะร่างกายไม่มีความสามารถพอที่จะดูดซึมสารสำคัญในรูปแบบนี้ได้
ปริมาณในการบริโภคหากเทียบตามขนาดในตำรายาจีน ต้องใช้เห็ดหลิงจือแห้งน้ำหนัก 3 ถึง 5 กรัม ต่อวัน หรือเทียบเท่าสารสกัดเห็ดหลิงจือ 600 ถึง 800 มิลลิกรัมต่อวัน โดยให้กินก่อนนอนเพื่ออาศัยผลการสงบประสาท ทำให้นอนหลับสบายขึ้น
ผลิตภัณฑ์จากกระเทียม
กระเทียมเป็นสมุนไพร และเครื่องเทศที่ใช้มาแต่โบราณ จัดเป็นพืชในวงศ์ Alliaceae มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Allium sativum Linn. ในทางยาไทยใช้ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ กัดเสมหะ และใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคกลากเกลื้อน ในกระเทียมมีสารสำคัญอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะสารที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ สารกลุ่มนี้ได้แก่ อัลลิอิน (alliin) ซึ่งจะถูกสลายด้วยน้ำย่อย อัลลิอินไลเอส (alliin lyase) ได้สาร อัลลิซิน (allicin) และจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็น อะโยอีน (ajoene) ซึ่งกระบวนการสลายตัวเหล่านี้จะเกิดเมื่อกลีบกระเทียมถูกทำลายไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกระเทียมมีหลายด้าน ที่สำคัญคือฤทธ์ลดระดับไขมันในเลือดโดยเฉพาะระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด อันส่งผลให้อุบัติการณ์การเกิดภาวะไขมันอุดตันในหลอดเลือด (atherosclerosis) ลดลง และมีผลป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด (thrombus) ในร่างกาย อันเป็นเหตุของภาวะหลอดเลือดอุดตัน นอกจากนี้กระเทียมยังแสดงฤทธิ์ลดความดันโลหิต และป้องกันการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ ฤทธิ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ และหลอดเลือดทั้งสิ้น นอกจากนี้อัลลิซินในกระเทียมมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ และมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด
ในส่วนปริมาณการใช้กระเทียมสำหรับผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง จะใช้กระเทียมผง 600 ถึง 900 มิลลิกรัม ต่อวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เมื่อใช้ไปราว 1 เดือนแล้วจะลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในร่างกายได้ เป็นการช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิดซึ่งมีราคาต่างกัน และมีราคาสูง หากต้องการประหยัดก็ต้องหันมากินกระเทียมสดแทน แต่ก็ต้องทนกับกลิ่น และรสอันร้อนแรงของกระเทียมสักเล็กน้อย ในการกินกระเทียมสดนั้นให้กินในมื้ออาหารทุกมื้อ มื้อละ 5 ถึง 6 กลีบ โดยกินระหว่างกินอาหารอื่น เพราะถ้ากินกระเทียมอย่างเดียวจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้
ผลิตภัณฑ์จากแป๊ะก้วย
แป๊ะก้วย เป็นพืชโบราณชนิดหนึ่งนักโบราณคดีเรียกขานต้นไม้ชนิดนี้ว่าเป็นฟอสซิลที่มีชีวิต จัดอยู่ในวงศ์ Ginkgoaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ginkgo biloba L. ในประเทศจีนได้นำแป๊ะก้วยมาใช้เป็นยากว่า 4000 ปีแล้ว โดยนำส่วนใบมาเป็นยาแก้หืด และยาแก้ไอ และนำส่วนเนื้อในเมล็ดมาปรุงเป็นอาหารทั้งคาว หวาน ในการศึกษาทางเคมีพบว่า ในสารสกัดจากใบแป๊ะก้วย จะต้องมีสารสำคัญในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 24 กลุ่มไดเทอร์ปีน (diterpene) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.8 กลุ่มเซสควิเทอร์ปีน (sesquiterpene) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.6 ซึ่งสารเหล่านี้จะมีฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกาย ได้แก่ ฤทธิ์ยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด และฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด สารที่ออกฤทธิ์ด้านนี้คือ กิงโกไลด์ (gingkgolide) ซึ่งเป็นสารกลุ่มไดเทอร์ปีน
สารกลุ่มฟลาโวนอยด์จะช่วยทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดดีขึ้น จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ เพราะในผู้สูงอายุหลอดเลือดจะเสื่อมสภาพ และเริ่มแข็งตัว เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก และฤทธิ์ของแป๊ะก้วยที่กล่าวไว้ข้างต้นยังส่งผลต่อปริมาณเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง ทำให้การไหลเวียนโลหิตสู่สมองเป็นไปได้อย่างสะดวก ส่งผลดีต่อความทรงจำ ทำให้มีการนำสารสกัดจากใบแป๊ะก้วยมาใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ (Alzheimer) พบว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่มีสาเหตุจากภาวะสมองขาดเลือดมีอาการที่ดีขึ้น
ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีมากมาย สิ่งที่ต้องสังเกตก่อนเลือกซื้อคือปริมาณสารสำคัญที่ระบุในฉลาก ต้องระบุว่ามีสารสกัดจากใบแป๊ะก้วยที่มีปริมาณฟลาโวนอยด์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 24 ปริมาณการใช้จะใช้สารสกัด 40 ถึง 80 มิลลิกรัมต่อวัน
ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปลา
น้ำมันปลา (fish oil) เป็นกรดไขมันจากสัตว์จำพวกปลาจากทะเล และสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ที่เรียกว่า โอเมกา-3 (omega-3-polyunsaturated fatty acids) จุดเริ่มต้นแห่งการนำน้ำมันปลามาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เกิดจากการศึกษาชาวเอสกิโมกลุ่มหนึ่งที่ดำรงชีวิตโดยกินปลาวาฬ และแมวน้ำเป็นอาหาร ซึ่งอาหารจากทะเลจะมีปริมาณไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าอาหารจากแหล่งอื่น และมีปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวอยู่สูง อีกทั้งปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นชนิด โอเมกา-3 พบว่าภาวะไขมันในหลอดเลือดของชาวเอสกิโมกลุ่มนี้ดีมาก คือ มีไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล low density lipoprotein (LDL) very low density lipoprotein (VLDL) ต่ำกว่าชนชาติในภาคพื้นทวีปอื่นๆ ที่มีการบริโภคอาหารจากทะเลน้อยกว่า
จากการศึกษาทางคลินิก พบว่าการใช้น้ำมันปลาในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด โดยให้กินน้ำมันปลา 0.9 กรัม ต่อวัน นาน 2 ปี พบว่าอัตราการตายลดลงร้อยละ 25 แต่อาการปวดหัวใจไม่ได้ลดลง นักวิจัยจึงลงความเห็นสรุปว่าผลของน้ำมันปลามีต่อเรื่องการเต้นของหัวใจไม่เป็นจังหวะ โดยน้ำมันปลาไปลดการเกิดการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจลง ทำให้อัตราการตายลดลง แม้ว่าการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับการป้องกัน และบำบัดโรคหัวใจของน้ำมันปลาจะยังน้อยอยู่แต่ทุกครั้งของการศึกษาจะพบผลทางคลินิกที่น่าพึงพอใจ นอกจากนี้ยังพบผลต่อผนังหลอดเลือดทำให้มีสภาพดีขึ้นอีกด้วย นอกจากน้ำมันปลาแล้ว ยังมีไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-6 ซึ่งมักพบในพืช และสัตว์บก ซึ่งมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาคล้ายๆ กับ โอเมกา-3
ภาพประกอบ
http://gotoknow.org/blog/phatsiree001/359052
http://www.gratias.co.th/web/bbs/board.php?bo_table=cbo_04&wr_id=1&sfl=&stx=&sst=wr_hit&sod=desc&sop=and&page=1
http://csigbabec.sumhua.com/
ภาพประกอบ: http://www.bkkmenu.com/healthy/galic_hollaween.html
เอกสารประกอบการเขียน
ชยันต์ พิเชียรสุนทร.เห็ดหลิงจือกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ. ใน: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ. 2540. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ครั้งที่ 15. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
วิเชียร จีรวงส์. โสม-ยาสมุนไพรล้ำค่าของจีน. ใน: อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายกิจ จีรวงส์. 2521. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล, บรรณาธิการ. 2528. กระเทียม-ยอดสมุนไพรในครัวเรือน. กรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรพึ่งตนเอง.
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. 2522. ไม้เทศเมืองไทย. พระนคร: เกษมบรรณกิจ.
Bossi, S., Arsenio, L., Bordria, P., Magnati, B., Trovato, R., and Strata,A. Clinical study of a new preparation from plantago seeds and senna pods. Acta Bio-Medica de L’Ateneo Parmense: Organo Della Societa di Medicina e Scienze Naturali di Parma 1986; 57(5-6): 179-186.
Bruneton, J. Pharmacognosy, Phytochetmistry, Medicinal plant. 1995. England: Intercept Ltd.
Despres, J.P., Lemieux, I., and Prud’homme, D. Treatment of obesity: need to focus on high risk abdominally obese patients. BMJ 2001; 332: 716-720.
Ernst, E., and Pittler, M.H. Chitosan as a treatment for body weight reduction: a meta-analysis. Perfusion 1998; 11(11):461-465.
F.W., Rudolf. 1991. Herbal medicine. 6th ed. Avon: Bath Press.
Gades, M.D., and Stern, J.S. Chitosan supplementation does not affect fat absorption in healthy males fed a high-fat diet, a pilot study. International Journal of Obesity 2002; 26: 119-122.
Heymsfield, S.B., Allison, D.B., Vasselli, J.R., Pietrobelli, A., Greenfield, D., and Nunez, C. Garcinia cambogia (hydroxycitric acid) as a potential antiobesity agent. JAMA 1998; 280(18): 1596-1600.
Ho, S.C., Tai, E.S., Eng, P.H.K., Tan, C.E., and Fok, A.C.K. In the absence of dietary surveillance, chitosan does not reduce plasma lipids or obesity in hypercholesterolaemic obese asian subjects. Singapore Med J 2001; 42(1): 6-10.
Huang Kee Cheng. 1993. Pharmacology of Chinese herbs. Boca Raton: CRC Press.
Mason, P. OTC weight control products. The Pharmaceutical Journal 2002; 269: 105-106.
Moro, C.O., and Basile, G. Obesity and medicinal plant. Fitoterapia 2000; 71:S73-S82.
Vita, P.M., Restelli,A., Caspani, P., and Klinger, R. Chromic use of glucomannan in the dietary treatment of severe obesity. Minerva Medica 1992; 83(3): 135-139.
Walsh, D.E., Yaghoubian, V., and Behforooz, A. Effect of glucomannan on obese patients: a clinical study. International Journal of Obesity and Related Metabolic Disorders: Journal of the International Association for the Study of Obesity 1984; 8(4): 289-293.
Wang, L.F., Luo, H., Miyoshi, M., Imoto, T., Hiji, Y., and Sasaki, T. Inhibitory effect of gymnemic acid on intestinal absorption of oleic acid in rats. Journal of Physiology and Pharmacology 1998; 76(10-11): 1017-1023.
Wilding, J. Science, medicine, and the future: Obesity treatment. BMJ 1997; 315: 997-1000.
-
1311 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร /article-biology/item/1311-supplementsเพิ่มในรายการโปรด