“ราชินีแห่งมวลไม้”
“ราชินีแห่งมวลไม้”
สมชาติ ไพศาลรัตน์
ในประเทศเคนยา ต้นมะเดื่อ (Ficus spp.) ได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชินีแห่งมวลไม้” จากการเป็นแหล่งอาหารทั้งโดยทางตรงจากผลของมัน และโดยทางอ้อมจากแมลงที่ใช้ผลมะเดื่อเป็นแหล่งวางไข่ และเติบโต เช่น แตนมะเดื่อ (fig wasp) อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายเรื่อง “ระบบนิเวศ” โดยแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตหลายหลายสายพันธุ์กับต้นมะเดื่อได้อย่างน่าทึ่ง
“ราชินีแห่งมวลไม้” หรือ “Queen of Trees” ภาพยนตร์จากสหราชอาณาจักร หนึ่งในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 3” ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 13-23 พฤศจิกายน 2550 จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเกอเธ่ และ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
มะเดื่อ (Ficus spp.) ในประเทศเคนยา ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ไปถ่ายทำเป็นเวลาถึง 2 ปี ทำให้เราเห็นถึงอัจฉริยะของธรรมชาติ โดยเฉพาะระบบนิเวศ (ecosystem) หรือ ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์กับแหล่งที่อยู่อาศัย อันได้แก่ต้นมะเดื่อ นั่นเอง
ไม่น่าเชื่อว่าต้นมะเดื่ออันสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา และเต็มไปด้วยผลมะเดื่อมากมาย จะต้องพึ่งพาแตนมะเดื่อ (fig wasp) ตัวเบียนสายพันธุ์หนึ่ง ในการผสมเกสรขยายพันธุ์ โดยแตนมะเดื่อตัวเล็กๆ ที่มีละอองเกสรของต้นมะเดื่อติดอยู่ จะชอนไชเข้าไปในดอกของต้นมะเดื่อ ทำให้เกิดการผสมเกสรและเติบโตเป็นผลมะเดื่อ ในขณะเดียวกันแตนมะเดื่อจะวางไข่และขยายพันธุ์ตัวมันเองไปด้วย
เป็นเรื่องน่าทึ่งอย่างมากที่ธรรมชาติทำการควบคุมจำนวนแตนมะเดื่อที่จะฟักออกจากไข่ เติบโต และออกจากผลมะเดื่อสู่โลกภายนอก โดยจะมีพาราสิตชนิดหนึ่งเจาะผลมะเดื่อเข้าไปวางไข่ แล้วตัวอ่อนของพาราสิตนั้นจะคอยทำลายไข่ของแตนมะเดื่อไม่ให้เจริญเติบโตจนฟักเป็นตัว และการที่จะออกจากผลมะเดื่อได้ ภายในผลมะเดื่อนั้นจะต้องมีตัวอ่อนแตนมะเดื่อที่เป็นตัวผู้อยู่ด้วย เพราะตัวผู้นี้จะผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวอื่นๆ ภายในผลมะเดื่อ หลังจากนั้นมันถึงจะออกจากผลมะเดื่อสู่โลกภายนอกได้ ถึงแม้นจะสามารถหลุดพ้นจากภายในผลมะเดื่อออกมาได้ ก็จะมีแมลงที่ตัวโตกว่า สัตว์เลื้อยคลาน และนก คอยจับกินเป็นอาหารอยู่ภายนอก ดังนั้นจำนวนแตนมะเดื่อที่รอดชีวิตไปได้ ก็จะมีจำนวนไม่มากจนเสียสมดุล มันจะบินไปและพาละอองเกสรจากต้นมะเดื่อต้นหนึ่งไปผสมกับต้นมะเดื่ออีกหลายๆ ต้น ที่อยู่ไกลออกไป
ธรรมชาติ นอกจากจะคอยควบคุมจำนวนแตนมะเดื่อโดยอาศัยสัตว์อื่นๆ มาควบคุมปริมาณ อันได้แก่ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน และนก สัตว์เหล่านี้ ยังถูกควบคุมอีกต่อหนึ่งด้วยสัตว์อื่นที่กินสัตว์เหล่านี้เป็นอาหาร เช่น งู และ นกที่กินนกตัวเล็กกว่าเป็นอาหาร
ผลมะเดื่อ ยังเป็นอาหารให้กับสัตว์อื่นอีกนานาชนิด อาทิ ค้างคาว ลิง ช้าง สัตว์กินพืชอื่นๆ อีกมากมาย ไม่เว้นกระทั่งปลา ถ้าเผอิญว่าต้นมะเดื่ออยู่ริมน้ำ ผลของมันก็จะกลายเป็นอาหารของปลา รวมถึงจะใช้สายน้ำในการพามันไปยังเจริญเติบโตห่างไกลจากต้นแม่ แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าฉงนว่า ภายใต้ต้นแม่ ไม่ปรากฏว่ามีเมล็ดมะเดื่องอกออกเป็นต้นอ่อนเลย
อีกความคิดสร้างสรรค์หนึ่งของธรรมชาติในการขยายพันธุ์ของต้นมะเดื่อ คือ ในผลมะเดื่อจะมีสารเคมีที่ทำให้เมื่อกินเข้าไปแล้ว จะมีผลต่อระบบขับถ่าย ตัวอย่างเช่น ค้างคาว บินมากินผลมะเดื่อ เมื่อบินจากไปสักพักหนึ่ง สารเคมีในผลมะเดื่อจะทำให้ค้างคาวขับถ่ายออกมา ซึ่งจะมีเมล็ดมะเดื่อที่กินเข้าไปออกมาและตกลงบนพื้นดินใต้บริเวณที่ค้างคาวเกาะอยู่ สร้างโอกาสให้ต้นมะเดื่อต้นใหม่งอกขึ้นมา ณ บริเวณนั้น
นอกจากนี้ลำต้นมะเดื่อ ยังทำหน้าที่เป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย ให้กับนกเหงือก และหากนกเหงือกที่อาศัยอยู่ในรังบนลำต้นนั้นไม่แข็งแรงพอ ธรรมชาติก็จะหาทางกำจัดมันเสีย โดยมีผึ้งเป็นเครื่องมือที่จะโจมตีนกเหงือกตัวนั้น แล้วยึดรังของนกเหงือก สร้างเป็นรังผึ้งต่อไป แต่ท้ายที่สุดธรรมชาติก็ต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อน้ำมือมนุษย์ เพราะมนุษย์นั่นเองจะเข้ามาทำลายผึ้งเหล่านี้ เพื่อนำรังผึ้งและน้ำผึ้งไปเป็นอาหาร
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายทอดความน่าทึ่งและอัจฉริยะของธรรมชาติ ในการจัดการให้เหล่าสรรพสัตว์และพืชพรรณต่างๆ ในโลกนี้ได้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ไม่มีสิ่งใดมากหรือน้อยเกินไป ความอุตสาหะในการถ่ายทำ รวมถึงความน่าทึ่งจากภาพที่ปรากฏบนจอ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ชนะใจคณะกรรมการตัดสินภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 จึงพร้อมใจกันมอบรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการ (Prize of the Jury) ประจำปี 2007 ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Queens of Tree” หรือ “ราชินีแห่งมวลไม้”
-
1313 “ราชินีแห่งมวลไม้” /article-biology/item/1313-queen-of-treesเพิ่มในรายการโปรด