เรื่อง ชา ชา 2
...เรื่อง ชา ชา 2...
โดย เภสัชกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุภชัย ติยวรนันท์
ผลของชา ต่อการชะลอความแก่ (Anti-senescent Activity)
อนุมูลอิสระถือเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของเซลล์และเนื้อเยื่อมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผลที่เกิดหลังจากเซลล์และเนื้อเยื่อเสื่อมสภาพคือ ความชรา หรือ ความแก่ มนุษย์พยามยามสรรหาสิ่งบำรุงเซลล์เพื่อชะลอความแก่ โดยมีการนำสารต้านอนุมูลอิสระมาใช้ได้แก่ วิตามิน ซี วิตามิน อี เป็นต้น จากข้อมูลด้านองค์ประกอบเคมีของใบชาพบว่า ชาไม่เพียงแต่จะมีปริมาณวิตามินซี และ วิตามิน อี ที่สูงแล้ว ยังมีปริมาณสารกลุ่ม คาเทชิน ที่สูงด้วย ซึ่งสารกลุ่มนี้ก็แสดงฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน
ในปี 1995 เยิ่น และ เฉิน (Yen and Chen) นักเภสัชวิทยาชาวจีน ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านการเกิดออกซิเดชันของชาแต่ละชนิดในหลอดทดลอง โดยศึกษาผลการต้านออกซิเดชันของไขมันไลโนเลอิก ผลการทดลองพบว่า ชาทุกชนิดมีผลในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยพบว่าชา อูหลง ซึ่งเป็นชาที่ได้จากการหมักกึ่งหนึ่ง แสดงผลในการต้านออกซิเดชันสูงสุด โดยต้านปฏิกิริยาได้ถึงร้อยละ 73.6 ตามมาด้วย ชาเขียว และชาดำ ตามลำดับ
และจากการศึกษาในหลายๆ การศึกษาพบว่า การแสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันนั้นเกิดจากสารในกลุ่มโพลีฟีนอล โดยเฉพาะในกลุ่มคาเทชิน ที่แสดงฤทธิ์ผ่านกลไกจับกินอนุมูลอิสระ (free radical scavenger) และผลการศึกษาพบว่าชาเขียว และ สารคาเทชินจากชาเขียว แสดงให้เห็นผลการจับกินอนุมูลอิสระที่สูงที่สุด โดยเฉพาะต่อ อนุมูลอิสระประจุลบของซูเปอร์ออกไซด์ (anionic free radicals of superoxide) มีการศึกษาอีกหลายการศึกษาที่ทำการเปรียบเทียบผลการจับกินอนุมูลอิสระของสารสกัดจากชาเขียว กับ วิตามิน ซี และ วิตามิน อี และ สารสกัดเคอร์คูมิน จากขมิ้น พบว่า สารสกัดจากชาเขียวแสดงผลการจับกินอนุมูลอิสระได้ดีกว่า วิตามิน อี และ สารสกัดเคอร์คูมิน แต่ยังต่ำกว่า วิตามิน ซี และจากการศึกษาเปรียบเทียบหลายต่อหลายการศึกษา จึงเป็นที่มาแห่งการนำสารสกัดคาเทชิน และ โพลีฟีนอล จากชาเขียวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้านความชรา ในประเทศจีน และญี่ปุ่น และได้รับการประชาสัมพันธ์เผยแพร่จนกระจายไปทั่วโลก
บทบาทด้านการระงับกลิ่นและกำจัดสารพิษ (Deodorizing and Detoxicating)
ปัญหาลมหายใจเหม็น (halitosis) นั้น เป็นปัญหาที่เกิดได้ทุกวัย และเป็นปัญหาใหญ่ที่เมื่อเกิดแล้วยากแก่การบำบัด เนื่องจากมีสาเหตุการเกิดหลายอย่าง ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร พฤติกรรมส่วนบุคคล เช่นการสูบบุหรี่ หรือเกิดจากเศษซากอาหารที่อยู่ในช่องปากก็ได้ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าปัญหาหลักของการเกิดลมหายใจที่ไม่พึงประสงค์นั้น เป็นเรื่องของเศษอาหารในช่องปาก ซึ่งเกิดการสลายตัวตามกระบวนการย่อยอาหาร ได้เป็นสารที่ชื่อ เมธิลเมอร์แคปแทน (methylmercaptan) สารชนิดนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลมหายใจเหม็น ซึ่งสารชนิดนี้ยังเกิดได้จากการที่นิโคตีน ที่ได้จากบุหรี่ ทำปฏิกิริยากับโปรตีนในช่องปากก็ได้
ในปัจจุบันสารระงับกลิ่นลมหายใจที่ใช้กันอยู่คือ โซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟิลลิน (Sodium Copper Chlorophyllin: SCC) จากการศึกษาในปี 1992 โดยนักวิจัยไทย พบว่าสารคาเทชินจะแสดงฤทธิ์ต้านการก่อตัวของเมธิลเมอร์แคปแทนได้ดีกว่า SCC ต่อมาได้มีการศึกษาเพื่อเทียบผลของสารสกัดอัลกอฮอล์จากชาชนิดต่างๆ ที่มีต่อการดับกลิ่นลมหายใจ พบว่าสารสกัดอัลกอฮอล์จากชาดำแสดงฤทธิ์ในการต้านกลิ่นลมหายใจได้ดีที่สุดตามมาด้วยชาอูหลง และ ชาเขียว ตามลำดับ ดังแสดงในตารางที่ 2 ซึ่งการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าฤทธิ์ในการดับกลิ่นลมหายใจของสารสกัดจากใบชาไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณสารกลุ่มโพลีฟีนอลที่สูงขึ้น แสดงว่า ในชาน่าจะมีสารสำคัญกลุ่มอื่นที่ทำหน้าที่ในการดับกลิ่นลมหายใจที่ดีกว่าโพลีฟีนอลอยู่ ต่อมาพบว่า ในสารสกัดจากชา จะทำให้เกิดการตกตะกอนโปรตีน ดังนั้นหากอมในปาก ก็จะทำให้เกิดการตกตะกอนโปรตีนในช่องปาก สาเหตุของการก่อตัวของเมธิลเมอร์แคปแทนก็จะหมดไป ทำให้กลิ่นปากหมดไปด้วย ถือว่าเป็นการกำจัดที่ต้นเหตุเลยทีเดียว
ตารางที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างฤทธิ์ระงับกลิ่นกับปริมาณฟีนอลิกและคาเทชินในชาชนิดต่างๆ |
|||
Tea |
Deodorant activity (%) |
Total phenolics (mg/g) |
Total catechins (mg/g) |
Green tea |
66.62 |
214.22+2.29 |
242.38+18.58 |
Oolong tea |
68.62 |
123.23+2.10 |
199.49+1.64 |
Black tea |
75.48 |
113.27+1.67 |
168.58+11.09 |
สำหรับกรณีการแสดงฤทธิ์ในการกำจัดสารพิษนั้น พบว่าสารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (epigallocatechin gallate: EGCG) จะดูดจับและทำลายสารพิษที่เกิดจากการสูบบุหรี่ให้ลดลงได้ ในบุหรี่บางชนิดจะมีการเติมสาร EGCG ลงไปในใส้กรองเพื่อเป็นการช่วยลดพิษภัยของบุหรี่ที่มีต่อผู้สูบลง นอกจากนี้ยังพบว่าสารกลุ่มโพลีฟีนอล และ ออลิโกแซกคาไรด์ (oligosaccharides) ในชามีความสามารถในการดูดซับสารกัมมันตรังสี และป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อได้ โดยมีรายงานการสำรวจประชากรชาวฮิโรชิมาที่รอดชีวิตจากการโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกาที่ได้สัมผัสสารกัมมันตรังสีจากปรมาณูแล้วนั้น พบว่าในรายที่อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกชา และมีการดื่มชาเป็นกิจวัตรในปริมาณที่ค่อนข้างสูงกว่าประชากรปรกติ มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าชาวฮิโรชิมาด้วยกันที่ดื่มชาในปริมาณที่ต่ำกว่า ซึ่งได้มีการทดลองผลต้านสารกัมมันตรังสีในหนูทดลองอีกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อยืนยันผลดังกล่าว นอกจากผลในการดูดซับสารกัมมันตรังสีแล้วยังพบว่าชายังสามารถจับโลหะหนักบางชนิดทำให้พิษต่อร่างกายของโลหะหนักลดลงได้ด้วย
บทบาทของชาในการป้องกันฟันผุ
มีการศึกษาหลายการศึกษาทั้งในประเทศญี่ปุ่นและในประเทศจีนเกี่ยวกับผลการดื่มชาต่ออัตราการเกิดฟันผุ อาทิ โอนิชิ และพวก ได้ทำการศึกษาในปี 1981 พบว่าการดื่มชาชง 100 มิลลิลิตร ที่ชงมาจากชา 1 กรัมวันละ 1 ครั้ง สามารถลดความชุกของการเกิดฟันผุในเด็กนักเรียนลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลการศึกษาใกล้เคียงกันกับการศึกษาในประเทศจีน โดยเชาและพวก ในปี 1989 ที่ทำการทดลองในเด็กนักเรียนจำนวน 2000 คน ในจังหวัดเหอหนาน พบว่าการเกิดฟันผุของเด็กนักเรียนในกลุ่มที่ทำการศึกษาลดลงร้อยละ 40 ถึง ร้อยละ 51 สำหรับกลไกในการป้องกันฟันผุนั้น ได้มีการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสารโพลีฟีนอลในชาจะสามารถลดการเกาะติดของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุบนผิวฟันลง จึงส่งผลป้องกันฟันผุดังกล่าว นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับปริมาณฟลูออรีนที่มีในชาดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และมีการเปรียบเทียบผลป้องกันฟันผุของชาแต่ละชนิดพบว่า ชาอูหลง จะส่งผลป้องกันฟันผุได้ดีกว่า ชาเขียว และชาดำ
-
1335 เรื่อง ชา ชา 2 /article-biology/item/1335-tea-2เพิ่มในรายการโปรด