ชา ชา
เรื่อง ชา ชา
โดย เภสัชกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุภชัย ติยวรนันท์
ราว 4000 ปีก่อน ตำนานการดื่มชาได้ถือกำเนิดในโลกมนุษย์แห่งนี้ ณ แดนอารยธรรมมังกร ดินแดนที่ถือเป็นแดนอารยธรรมตะวันออกที่เก่าแก่ที่สุดและยั่งยืนที่สุดในปัจจุบัน การดื่มชาจึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นและยังกระจายตัวไปตามจุดต่างๆ ของโลกนี้โดยการติดต่อค้าขายและการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเลที่มีมาแต่โบราณกาล ทำให้วัฒนธรรมการดื่มชาเป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักของประชากรชาวโลกเป็นอย่างดีไม่ว่าชาติใดศาสนาใด
จากบันทึกโบราณเท่าที่ปรากฏให้เห็นพบว่าการกระจายพันธุ์ของชานั้นอยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศจีนตั้งแต่ทางทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก ต่อเนื่องไปถึงตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตอนเหนือของประเทศลาว ตอนเหนือของประเทศไทย และบริเวณรัฐชานหรือฉาน ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ที่เคยมีนักมานุษยวิทยาพบหลักฐานว่าเป็นชุมชนของกลุ่มชนที่เรียกตัวเองว่า “เสียม” หรือ “สยาม” ในอดีต รวมระยะทางจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกเป็นระยะทางกว่า 1500 ไมล์ หรือราว 2400 กิโลเมตร และในปัจจุบัน การเพาะปลูกชาได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก และมีปริมาณผลผลิตมากมาย อีกทั้งมีการนำชามาประยุกต์เข้ากับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากเครื่องดื่ม อาทิ ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น จนเกิดเป็นกระแส “ชา” ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ในบทความนี้ จะได้แสดงถึงความนัยแห่งชา ที่นำมาสู่ กระแสชา อันรุนแรง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่เกิดมาตามกระแสความนิยมดังกล่าว
ภาพที่ 1 แถบการกระจายพันธุ์ของชาจีน เริ่มต้นตั้งแต่ภาคตะวันออกของตอนใต้ของประเทศจีน ที่ปรากฏในแผนที่คือ เมืองหนานชาง (Nanchang) ไล่ลงมาที่ ฟู่โจว (Fuzhou) ลงมากระทั่งถึงตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ประเทศลาว ประเทศไทย และบางส่วนของพม่า
ชา...เครื่องดื่มอมตะ
คำว่า “ชา” ในที่นี้หมายถึงพืชที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Camellia sinensis (L.) O. Kuntze ซึ่งพืชชนิดนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ ใบอ่อนและใบแก่ของพืชชนิดนี้ได้ถูกนำมาชงกับน้ำร้อนได้เครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า จากความนิยมดื่มชาและกรรมวิธีการชงชาที่กระจายตัวไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้ในเวลาต่อมาคำว่า “ชา” กินความหมายไปถึงการนำสิ่งใดก็ได้มาชงกับน้ำร้อนแล้วกลายเป็นเครื่องดื่มคล้ายชา โดยอาศัยการเติมชื่อสิ่งที่นำมาชงตามท้าย เช่น ชาใบหม่อน ชามะขามแขก เป็นต้น
ภาพที่ 2 ภาพวาดส่วนประกอบต่างๆ ของต้นชา
http://en.wikipedia.org/wiki/Image:Koeh-025.jpg
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากใบชา ที่นำมาทำเป็นเครื่องดื่มนั้น สามารถจำแนกได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม ตามกรรมวิธีการผลิต คือ
1. ใบชาที่ไม่ผ่านการหมัก (non-fermented tea): ในกลุ่มนี้เป็นการเก็บใบชาที่เป็นใบอ่อน 3 ใบแรกจากยอดชา แล้วนำมาผึ่งลม (withering) ในเวลาสั้นๆ เพื่อเป็นการลดความชื้นของใบชาลงเล็กน้อย แล้วทำการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในใบชา โดยอาศัยความร้อน ทำได้หลายวิธี ทั้งความร้อนแบบแห้ง (firing) และ ความร้อนแบบชื้นจากไอน้ำ (steaming) เมื่อยับยั้งเอนไซม์ในใบชาแล้วสารเคมีในชาจะคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเคมีไปเป็นสารอื่น แล้วจึงทำการม้วนใบชา ต่อด้วยการอบให้แห้ง บรรจุเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่ายต่อไป กรรมวิธีการผลิตนี้จะทำให้ทั้งสี กลิ่นและรส จะยังคงคล้ายใบชาสดที่เก็บมาจากต้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ชาที่ได้จากกรรมวิธีนี้จึงได้ชื่อเรียกว่า ชาขาว (white tea) และ ชาเขียว (green tea) ภาษาจีนเรียกว่า ลวี่ฉา (绿茶) แปลว่า ชาเขียว
2. ใบชาที่ผ่านการหมักกึ่งหนึ่ง (semi-fermented tea): ในกลุ่มนี้จะต่างจากกลุ่มชาเขียวตรงที่เลือกใช้ใบที่มีอายุมากกว่าและมีการทิ้งเวลาในการผึ่งลมนานขึ้น ราว 15 ชั่วโมง แล้วจึงทำการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ด้วยความร้อนคล้ายวิธีผลิตชาเขียว ต่อด้วยการม้วนใบชา และอบให้แห้งก่อนจะบรรจุเป็นบรรจุภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด ชาที่ได้จากกรรมวิธีการผลิตแบบนี้มีชื่อเรียกหลายอย่าง แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก โดยเฉพาะนักดื่มชา และนำมาเป็นชื่อตัวแทนของผลิตภัณฑ์ใบชาที่ใช้ดื่มในกลุ่มนี้คือ ชาอูหลง (乌龙茶) แปลว่า ชามังกรดำ ในภาษาอังกฤษก็เรียกชากลุ่มนี้ตามเสียงภาษาจีนว่า Oolong tea ชากลุ่มนี้เป็นชาที่มีจำหน่ายในเมืองไทย และเป็นที่นิยมดื่มกันมากที่สุด เนื่องด้วยมีกลิ่นที่หอม รสที่ชุ่มคอ และหลายๆ ผลิตภัณฑ์ได้นำเกสรดอกไม้หลายชนิดมาปรุงแต่งกลิ่นรสชาให้น่าอภิรมย์มากขึ้นด้วย
3. ใบชาที่ผ่านการหมักสมบูรณ์ (fermented tea): กลุ่มนี้เป็นกลุ่มของใบชาที่นิยมกันมากแถบยุโรป อินเดีย ศรีลังกา เป็นการนำใบชามากผึ่งลม (withering) ราว 18 ชั่วโมง โดยคราวนี้ต้องทำการควบคุมความชื้นในลมที่ผึ่งอยู่ที่ราวร้อยละ 60 ต่อจากนั้นจะนำใบชาที่ผึ่งเสร็จมาทำการม้วนบี้ (rolling) ด้วยเครื่องม้วนบี้ เพื่อทำให้เนื้อของใบชามีพื้นที่ในการถูกออกซิไดซ์ด้วยอากาศมากขึ้น เมื่อม้วนเสร็จก็ทำการหมัก โดยทิ้งไว้ที่อุณหภูมิราว 30 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง จึงทำการอบแห้งที่ 90 องศาสเซลเซียส นาน 20 นาที สิ่งที่ได้จะเป็นผลิตภัณฑ์ใบชาที่มีสีดำ และมีกลิ่นที่เปลี่ยนไป รสชาติก็จะออกไปทางฝาดมากกว่าชาสองชนิดแรก ชาที่ได้จากกรรมวิธีนี้เรียกว่าชาดำ (black tea) ในเมืองจีนเรียกชาชนิดนี้ว่า หงฉา (红茶) แปลว่า ชาแดง เนื่องจากสีของชาที่ได้จะมีสีดำปนแดง การผลิตชาแบบนี้ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศศรีลังกา ชาชนิดนี้ถูกนำมาแปลรูปเป็นชาซองชงหลายชื่อการค้า รวมถึงผงชาที่ใช้ชงเป็นชาดำ ชานม ชานมไข่มุก เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ทั้งสามชนิดหลักนั้น มีการนำไปใช้เป็นเครื่องดื่มของชนชาติต่างๆ ตามแต่รสนิยมและความคุ้นเคยของลิ้น ในแถบเอเชียมักนิยมดื่ม ชาเขียว และชาอูหลง มากกว่าแถบยุโรป และอีกหลายประเทศในซีกโลกตะวันตก ซึ่งได้รับอิทธิพลการดื่มชาจากประเทศอินเดีย อันเป็นเจ้าของตำรับ “ชาดำใส่นม” ในยุคสมัยที่มีการล่าอาณานิคม และอังกฤษได้เข้ามายึดประเทศอินเดียเป็นอาณานิคมแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ
สารเคมีที่อยู่ในชาเป็นสิ่งที่ทำให้กลิ่นและรสของใบชามีความแต่งต่างกัน นอกจากนี้ยังส่งผลให้ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่มีต่อร่างกายมนุษย์แตกต่างกันไปด้วย ตามธรรมชาติ เมื่อครั้งใบชายังอยู่บนต้นชา สารสำคัญที่มีอยู่ในใบชาจะเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) โดยสารตัวที่มีบทบาทสำคัญด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของใบชาจากกลุ่มนี้คือ คาเทชิน (catechins) นอกจากสารกลุ่มฟลาโวนอยด์แล้วยังมีสารกลุ่มแซนทีนอัลคาลอยด์ (xanthine alkaloids) ได้แก่ คาเฟอีน (caffeine) ธีโอฟิลลีน (theophylline) เป็นต้น ซึ่งสารกลุ่มแซนทีนอัลคาลอยด์นี้ จะเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า
จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า กระบวนการผลิตชาเขียวนั้น มีการยับยั้งเอนไซม์ที่จะมาเปลี่ยนแปลงสารต่างๆ ในใบชา ทำให้ในชาเขียวมีปริมาณสารพวก คาเทชิน ในปริมาณสูง ในขณะที่มีสารพวก ธีอาฟลาวิน (theaflavins) และ ธีอารูบีจิน (thearubigins) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเปลี่ยนรูปของคาเทชินโดยเอนไซม์ต่างๆ ในปริมาณที่ต่ำ และสำหรับชาดำ ก็เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับชาเขียว ดังนั้นฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของชาทั้งสองชนิดจึงต่างกันอย่างมาก
เภสัชวิทยาของชา...
จากการศึกษาวิจัยชาที่มีมานานทำให้ทราบว่า สารเคมีที่อยู่ในใบชานั้นมีมากกว่า 500 ชนิด โดยสารกลุ่มที่มีผลต่อการทำงานของร่างกายมนุษย์ และมีผลต่อเรื่องสุขภาพของมนุษย์นั้นได้แก่สารในกลุ่ม ฟลาโวนอยด์ กรดอะมิโน วิตามิน คาเฟอีน และ น้ำตาลหลายโมเลกุล (polysaccharides)
ในใบชายังประกอบไปด้วยธาตุอาหารในกลุ่มที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่ต่ำๆ หลายชนิด ได้แก่ ฟลูออรีน ทองแดง แมงกานีส นิเกิล อัลลัม โปแตสเซียม สังกะสี ซีลีเนียม แมกนีเซียม แคลเซียม โซเดียม เป็นอาทิ รายละเอียดของธาตุอาหารในชาได้แสดงไว้ในตารางที่ 1 อีกทั้งยังพบว่าในใบชามีปริมาณวิตามิน ซี สูง โดยพบว่าในชาเขียว 100 กรัม จะมีวิตามินซีสูงถึง 100 มิลลิกรัม ในขณะที่ชาดำจะมีปริมาณวิตามิน ซี ที่ต่ำกว่าชาเขียว โดยพบว่า ร้อยละ 90 ของวิตามินซีจะสลายตัวระหว่างกระบวนการหมักชาดำ นอกจากวิตามิน ซี ในชายังพบวิตามิน บี หลายชนิด ซึ่งพบว่าปริมาณวิตามิน บี ในชาเขียว และ ชาดำ มีปริมาณไม่แตกต่างกัน ยังมีรายงานการพบวิตามิน อี ในปริมาณ 24-80 มิลลิกรัม ใน ชา 100 กรัม และ พบวิตามิน เค ปริมาณ 300-500 ไมโครกรัม ในชา 1 กรัม
ตารางที่ 1 ปริมาณธาตุอาหารในเครื่องดื่มชา และความต้องการของร่างกายมนุษย์ |
||||
ธาตุ |
ค่าเฉลี่ยความต้องการต่อวัน (mg) |
อัตราการสกัดออกจากชาด้วยการชง (%) |
ค่าเฉลี่ยต่อวันของปริมาณธาตุที่ได้จากการดื่มชาชง 10 กรัม (mg) |
ร้อยละของความต้องการธาตุต่อวัน (%) |
F |
0.5 |
50-60 |
0.3-0.4 |
60-80 |
Cu |
2-5 |
70-80 |
0.5-0.6 |
10-30 |
Mn |
3-9 |
33-36 |
4-8 |
60-100 |
Ni |
0.3-0.5 |
50 |
0.03-0.6 |
10-20 |
Al |
10-50 |
16-18 |
1.3-1.9 |
5-20 |
K |
1500-3000 |
90-97 |
140-200 |
6-10 |
As |
0.1-0.3 |
32 |
0.003-0.007 |
1-7 |
Zn |
10-15 |
36-56 |
0.2-0.4 |
1.3-4.0 |
Se |
0.05-0.20 |
8-24 |
0.002-0.004 |
1.0-8.0 |
Mg |
220-400 |
46-53 |
6-10 |
1.8-5.0 |
Ca |
400-1500 |
5-7 |
2.5-5.2 |
0.3-1.3 |
Fe |
12-15 |
<10 |
0.1-0.2 |
<1-1.6 |
B |
10-20 |
24-31 |
0.04-0.10 |
0.3-1.0 |
S |
420-3000 |
50-60 |
5-8 |
0.2-1.9 |
P |
1200-2700 |
25-35 |
4-5 |
0.1-0.5 |
Na |
1600-2700 |
10-20 |
2.5-4.0 |
0.15-0.25 |
Pb |
0.3-0.4 |
<10 |
0.0004-0.0005 |
<0.1 |
ชา ยังจัดเป็นพืชที่มีปริมาณฟลูออรีนสูง (fluorine bioconcentrating plant) โดยปริมาณฟลูออรีนในใบแก่ของชามีมากถึงหลายร้อยส่วนในล้าน (part per million: ppm) ด้วยเหตุนี้ได้มีการนำชามาศึกษาผลต่อการเกิดฟันผุ พบว่าการดื่มชาทำให้อัตราฟันผุลดลง
กรดอะมิโนในชานั้นพบราว 25 ชนิด ในจำนวนนี้ ธีอานีน (theanine) จัดเป็นกรดอะมิโนที่พบมากที่สุด โดยพบมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณกรดอะมิโนรวมทั้งหมด และตัวที่สำคัญต่อฤทธิ์ทางชีวภาพของชามากที่สุดคือสารในกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) ซึ่งมีปริมาณที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของชา โดยพบว่าในชาเขียวมีปริมาณสูงที่สุด และในบรรดาโพลีฟีนอลทั้งหลายนั้น คาเทชิน (catechins) มีความสำคัญต่อการแสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากที่สุด โดยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
ผลของชา ต่อการชะลอความแก่ (Anti-senescent Activity)
อนุมูลอิสระถือเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของเซลล์และเนื้อเยื่อมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผลที่เกิดหลังจากเซลล์และเนื้อเยื่อเสื่อมสภาพคือ ความชรา หรือ ความแก่ มนุษย์พยามยามสรรหาสิ่งบำรุงเซลล์เพื่อชะลอความแก่ โดยมีการนำสารต้านอนุมูลอิสระมาใช้ได้แก่ วิตามิน ซี วิตามิน อี เป็นต้น จากข้อมูลด้านองค์ประกอบเคมีของใบชาพบว่า ชาไม่เพียงแต่จะมีปริมาณวิตามินซี และ วิตามิน อี ที่สูงแล้ว ยังมีปริมาณสารกลุ่ม คาเทชิน ที่สูงด้วย ซึ่งสารกลุ่มนี้ก็แสดงฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน
ในปี 1995 เยิ่น และ เฉิน (Yen and Chen) นักเภสัชวิทยาชาวจีน ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านการเกิดออกซิเดชันของชาแต่ละชนิดในหลอดทดลอง โดยศึกษาผลการต้านออกซิเดชันของไขมันไลโนเลอิก ผลการทดลองพบว่า ชาทุกชนิดมีผลในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยพบว่าชา อูหลง ซึ่งเป็นชาที่ได้จากการหมักกึ่งหนึ่ง แสดงผลในการต้านออกซิเดชันสูงสุด โดยต้านปฏิกิริยาได้ถึงร้อยละ 73.6 ตามมาด้วย ชาเขียว และชาดำ ตามลำดับ
และจากการศึกษาในหลายๆ การศึกษาพบว่า การแสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันนั้นเกิดจากสารในกลุ่มโพลีฟีนอล โดยเฉพาะในกลุ่มคาเทชิน ที่แสดงฤทธิ์ผ่านกลไกจับกินอนุมูลอิสระ (free radical scavenger) และผลการศึกษาพบว่าชาเขียว และ สารคาเทชินจากชาเขียว แสดงให้เห็นผลการจับกินอนุมูลอิสระที่สูงที่สุด โดยเฉพาะต่อ อนุมูลอิสระประจุลบของซูเปอร์ออกไซด์ (anionic free radicals of superoxide) มีการศึกษาอีกหลายการศึกษาที่ทำการเปรียบเทียบผลการจับกินอนุมูลอิสระของสารสกัดจากชาเขียว กับ วิตามิน ซี และ วิตามิน อี และ สารสกัดเคอร์คูมิน จากขมิ้น พบว่า สารสกัดจากชาเขียวแสดงผลการจับกินอนุมูลอิสระได้ดีกว่า วิตามิน อี และ สารสกัดเคอร์คูมิน แต่ยังต่ำกว่า วิตามิน ซี และจากการศึกษาเปรียบเทียบหลายต่อหลายการศึกษา จึงเป็นที่มาแห่งการนำสารสกัดคาเทชิน และ โพลีฟีนอล จากชาเขียวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้านความชรา ในประเทศจีน และญี่ปุ่น และได้รับการประชาสัมพันธ์เผยแพร่จนกระจายไปทั่วโลก
บทบาทด้านการระงับกลิ่นและกำจัดสารพิษ (Deodorizing and Detoxicating)
ปัญหาลมหายใจเหม็น (halitosis) นั้น เป็นปัญหาที่เกิดได้ทุกวัย และเป็นปัญหาใหญ่ที่เมื่อเกิดแล้วยากแก่การบำบัด เนื่องจากมีสาเหตุการเกิดหลายอย่าง ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร พฤติกรรมส่วนบุคคล เช่นการสูบบุหรี่ หรือเกิดจากเศษซากอาหารที่อยู่ในช่องปากก็ได้ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าปัญหาหลักของการเกิดลมหายใจที่ไม่พึงประสงค์นั้น เป็นเรื่องของเศษอาหารในช่องปาก ซึ่งเกิดการสลายตัวตามกระบวนการย่อยอาหาร ได้เป็นสารที่ชื่อ เมธิลเมอร์แคปแทน (methylmercaptan) สารชนิดนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลมหายใจเหม็น ซึ่งสารชนิดนี้ยังเกิดได้จากการที่นิโคตีน ที่ได้จากบุหรี่ ทำปฏิกิริยากับโปรตีนในช่องปากก็ได้
ในปัจจุบันสารระงับกลิ่นลมหายใจที่ใช้กันอยู่คือ โซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟิลลิน (Sodium Copper Chlorophyllin: SCC) จากการศึกษาในปี 1992 โดยนักวิจัยไทย พบว่าสารคาเทชินจะแสดงฤทธิ์ต้านการก่อตัวของเมธิลเมอร์แคปแทนได้ดีกว่า SCC ต่อมาได้มีการศึกษาเพื่อเทียบผลของสารสกัดอัลกอฮอล์จากชาชนิดต่างๆ ที่มีต่อการดับกลิ่นลมหายใจ พบว่าสารสกัดอัลกอฮอล์จากชาดำแสดงฤทธิ์ในการต้านกลิ่นลมหายใจได้ดีที่สุดตามมาด้วยชาอูหลง และ ชาเขียว ตามลำดับ ดังแสดงในตารางที่ 2 ซึ่งการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าฤทธิ์ในการดับกลิ่นลมหายใจของสารสกัดจากใบชาไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณสารกลุ่มโพลีฟีนอลที่สูงขึ้น แสดงว่า ในชาน่าจะมีสารสำคัญกลุ่มอื่นที่ทำหน้าที่ในการดับกลิ่นลมหายใจที่ดีกว่าโพลีฟีนอลอยู่ ต่อมาพบว่า ในสารสกัดจากชา จะทำให้เกิดการตกตะกอนโปรตีน ดังนั้นหากอมในปาก ก็จะทำให้เกิดการตกตะกอนโปรตีนในช่องปาก สาเหตุของการก่อตัวของเมธิลเมอร์แคปแทนก็จะหมดไป ทำให้กลิ่นปากหมดไปด้วย ถือว่าเป็นการกำจัดที่ต้นเหตุเลยทีเดียว
ตารางที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างฤทธิ์ระงับกลิ่นกับปริมาณฟีนอลิกและคาเทชินในชาชนิดต่างๆ |
|||
Tea |
Deodorant activity (%) |
Total phenolics (mg/g) |
Total catechins (mg/g) |
Green tea |
66.62 |
214.22+2.29 |
242.38+18.58 |
Oolong tea |
68.62 |
123.23+2.10 |
199.49+1.64 |
Black tea |
75.48 |
113.27+1.67 |
168.58+11.09 |
สำหรับกรณีการแสดงฤทธิ์ในการกำจัดสารพิษนั้น พบว่าสารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (epigallocatechin gallate: EGCG) จะดูดจับและทำลายสารพิษที่เกิดจากการสูบบุหรี่ให้ลดลงได้ ในบุหรี่บางชนิดจะมีการเติมสาร EGCG ลงไปในใส้กรองเพื่อเป็นการช่วยลดพิษภัยของบุหรี่ที่มีต่อผู้สูบลง นอกจากนี้ยังพบว่าสารกลุ่มโพลีฟีนอล และ ออลิโกแซกคาไรด์ (oligosaccharides) ในชามีความสามารถในการดูดซับสารกัมมันตรังสี และป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อได้ โดยมีรายงานการสำรวจประชากรชาวฮิโรชิมาที่รอดชีวิตจากการโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกาที่ได้สัมผัสสารกัมมันตรังสีจากปรมาณูแล้วนั้น พบว่าในรายที่อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกชา และมีการดื่มชาเป็นกิจวัตรในปริมาณที่ค่อนข้างสูงกว่าประชากรปรกติ มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าชาวฮิโรชิมาด้วยกันที่ดื่มชาในปริมาณที่ต่ำกว่า ซึ่งได้มีการทดลองผลต้านสารกัมมันตรังสีในหนูทดลองอีกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อยืนยันผลดังกล่าว นอกจากผลในการดูดซับสารกัมมันตรังสีแล้วยังพบว่าชายังสามารถจับโลหะหนักบางชนิดทำให้พิษต่อร่างกายของโลหะหนักลดลงได้ด้วย
บทบาทของชาในการป้องกันฟันผุ
มีการศึกษาหลายการศึกษาทั้งในประเทศญี่ปุ่นและในประเทศจีนเกี่ยวกับผลการดื่มชาต่ออัตราการเกิดฟันผุ อาทิ โอนิชิ และพวก ได้ทำการศึกษาในปี 1981 พบว่าการดื่มชาชง 100 มิลลิลิตร ที่ชงมาจากชา 1 กรัมวันละ 1 ครั้ง สามารถลดความชุกของการเกิดฟันผุในเด็กนักเรียนลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลการศึกษาใกล้เคียงกันกับการศึกษาในประเทศจีน โดยเชาและพวก ในปี 1989 ที่ทำการทดลองในเด็กนักเรียนจำนวน 2000 คน ในจังหวัดเหอหนาน พบว่าการเกิดฟันผุของเด็กนักเรียนในกลุ่มที่ทำการศึกษาลดลงร้อยละ 40 ถึง ร้อยละ 51 สำหรับกลไกในการป้องกันฟันผุนั้น ได้มีการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสารโพลีฟีนอลในชาจะสามารถลดการเกาะติดของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุบนผิวฟันลง จึงส่งผลป้องกันฟันผุดังกล่าว นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับปริมาณฟลูออรีนที่มีในชาดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และมีการเปรียบเทียบผลป้องกันฟันผุของชาแต่ละชนิดพบว่า ชาอูหลง จะส่งผลป้องกันฟันผุได้ดีกว่า ชาเขียว และชาดำ
ผลของชาต่อความดันโลหิต ผลต่อการลดระดับไขมันในเลือดและการป้องกันโรคหัวใจโคโรนารี (Blood pressure and Lipid-depressing Activity and Prevention of Coronary Heart Diseases)
ในเรื่องความดันโลหิตสูงนั้น ในประเทศจีนได้มีการสั่งจ่ายชาให้ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงเพื่อทำการดื่มเพื่อลดความดันโลหิต และ บำบัดอาการของโรคหลอดเลือดโคโรนารี ทั้งนี้ได้มีการสำรวจข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มน้ำชากับการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วย ณ มหาวิทยาลัยการแพทย์เจ๋อเจียงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่าในผู้ป่วย 964 คน มีผู้ป่วยที่ดื่มชาเป็นประจำ ร้อยละ 6.2 ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ดื่มชาจะมีคนที่เป็นความดันโลหิตสูงร้อยละ 10.5 นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาทางคลินิก โดยสถาบันวิจัยการแพทย์อานฮุยแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน การศึกษาพบว่า การดื่มชาเขียวทุกวัน วันละ 10 กรัม เป็นเวลา 6 เดือนจะสามารถลดความดันโลหิตได้ถึงร้อยละ 30 ของความดันโลหิตเริ่มต้น
ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตของชานั้นเกี่ยวข้องกับสารหลายชนิดที่มีในใบชา และกลไกในการออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตของใบชานั้น ได้มีผู้พยายามทำการศึกษา โดยในปี 1987 ฮารา และพวก ได้ทำการศึกษาผลการยับยั้ง Angiotensin converting enzyme ของสารสกัดจากใบชาพบว่ามีความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ได้ดีมากจึงเป็นข้อมูลที่ยืนยันกันกับการศึกษาทางคลินิกได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับผลดีของการดื่มน้ำชาในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
สำหรับผลที่มีต่อโรคหลอดเลือดโคโรนารีนั้น พบว่าข้อมูลจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยการแพทย์เจ๋อเจียงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนระบุว่า ประชากรที่เป็นโรคหลอดเลือดโคโรนารีนั้น ร้อยละ 5.7 เป็นกลุ่มคนที่ไม่ดื่มชา ส่วนในกลุ่มที่ ดื่มชามีเพียงร้อยละ 1.07 เท่านั้นที่เป็นโรคหลอดเลือดโคโรนารี ทั้งนี้ในอดีตการแพทย์แผนจีนได้มีตำรับยาที่ใช้ในการบำบัดโรคหัวใจโคโรนารี คือ รากต้นชาสกัดด้วยเหล้าโรง กินแก้อาการของโรคดังกล่าวได้
โรคหลอดเลือดโคโรนารีนั้นมีสาเหตุใหญ่มาจากภาวะไขมันในเลือดสูง และความไม่สมดุลของไขมันในกระแสเลือด รวมถึงภาวะของการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดที่ผิดปรกติ ภาวะความไม่สมดุลของไขมันจะแสดงออกมาให้เห็นได้ด้วยลักษณะภายนอกที่เรียกว่า “อ้วน” ซึ่งจากการทดลองในหนูพบว่าสารคาเทชินในชาจะส่งผลดีคือ ไปลดปริมาณน้ำมันที่จะสะสมให้เกิดความอ้วนได้ และยังส่งผลต่อไขมันในกระแสเลือดชนิดที่ส่งผลเสียแก่ร่างกาย คือ LDL และ VLDL ซึ่งมีหลายคณะนักวิจัยที่ทำการศึกษาและมีผลการศึกษาไปแนวทางเดียวกันคือ การดื่มชาทำให้ระดับไขมันดังกล่าวลดลง ในปี 1995 นากาชิ และคณะ ได้รายงานผลการศึกษาของพวกเขาในการสำรวจประชากรที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ที่อาศัยในเมืองไซตาม่า จำนวน 8553 คน โดยศึกษาถึงรูปแบบการดำรงชีวิต โดยกำหนดปัจจัยไว้ 90 แบบ ในนั้นมีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มชาอยู่ด้วย ผลปรากฏว่าพฤติกรรมการดื่มชามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อระดับไขมันในกระแสโลหิต โดยผลการศึกษาที่เกี่ยวกับชานั้น คณะนักวิจัยได้ทำการตัดผลของปัจจัยด้านอื่นๆ ออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดื่มเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์ การสูบบุหรี่เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการทางสถิติ ผลการศึกษาดังแสดงในตารางที่ 3
ตารางที่ 3 ระดับ HDL, LDL and VLDL และ artherogenic index กับพฤติกรรมการดื่มชา |
||||
|
พฤติกรรมการดื่มชา (แก้ว/วัน) |
|||
|
<3 |
4-9 |
>10 |
p-value |
No. of Subjects |
376 |
651 |
303 |
|
HDL cholesterol (% of total lipoproteins) |
|
|
|
|
|
36.4+0.4 |
36.5+0.3 |
37.4+0.4 |
0.02 |
|
36.4+0.3 |
36.4+0.3 |
37.4+0.4 |
0.02 |
LDL, VLDL cholesterol (% of total lipoproteins) |
|
|
|
|
|
62.6+0.3 |
62.6+0.3 |
61.7+0.4 |
0.02 |
|
62.5+0.3 |
62.6+0.3 |
61.0+0.3 |
0.02 |
Artherogenic index |
|
|
|
|
|
1.19+0.02 |
1.20+0.01 |
1.16+0.02 |
0.07 |
|
1.20+0.02 |
1.20+0.01 |
1.16+0.02 |
0.02 |
* Adjusted for age, cigarette smoking, alcohol consumption and relative body weight |
ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย (Germicidal activity)
ในทางเดินอาหารของมนุษย์มีแบคทีเรียจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียที่ก่อประโยชน์ และบางชนิดก็ก่อโทษแก่ร่างกาย ถ้าเมื่อใดก็ตามที่จำนวนของแบคทีเรียที่ก่อโรคมีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารก็จะเกิดตามมาทันที ได้แก่ อาการท้องอืด เรอ ลมในท้อง ท้องเสีย รวมถึงปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์
ในตำรายา และตำราแพทย์จีนโบราณได้มีบันทึกการใช้ใบชาในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ รวมถึงใช้ในการฆ่าเชื้อบิด จึงเป็นที่มาแห่งการศึกษาวิจัยในยุคสมัยปัจจุบันเพื่อหาคำตอบของคุณสมบัติดังกล่าว พบว่า สารสกัดจากชาสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งกรัมบวก และกรัมลบ โดยเฉพาะที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง และยังมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียก่อโรคที่มาพร้อมอาหาร ได้แก่ Staphylococcus aureus, S. epidermidis, Vibrio cholea, V. fluvialis, V. minicus, V. parachaemolyticus, Bacillus cereus, Klebsiella aerogenes, Aeromonas hydrophila subsp. hydrophila, Pseudomonas arginosa, Escherichia coli, Camphylobacter jejuni, Plesiomonas shigelloides, Salmonella enteritidis, S. typhimurium, Proteus milabilis, Clostridium botulinum เป็นต้น โดยฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของชาแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป เช่น ชาดำ และ ชาอูหลง จะมีฤทธิ์ฆ่า Staphylococcus aureus ที่สูงกว่าชาเขียว ในขณะที่ ชาเขียว จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ Vibrio cholera สูงกว่าชาดำ และชาอูหลง
ฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันเบาหวาน
(Blood-Glucose Depressing Activity and Prevention of Diabetes)
ความสนใจที่จะใช้ชาในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1933 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอาทิตย์อุทัย ที่ได้ศึกษาถึงความรู้ดั้งเดิมของการแพทย์แผนจีนที่มีการสั่งจ่ายยาที่มีชาเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของตำรับแก่ผู้ป่วยที่มีอาการดั่งเบาหวาน จากการศึกษาหลายๆ การศึกษาพบว่าน้ำชาสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยสารเคมีที่มีบทบาทสำคัญคือสารคาเทชินชนิดต่างๆ ในปี 1994 พบว่าการลดน้ำตาลในเลือดนั้นออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยับยั้งเอนไซม์ย่อยน้ำตาลในทางเดินอาหารที่ชื่อว่า a-amylase และ sucrase โดยเฉพาะที่พบในลำไส้ จากการศึกษายังพบว่าสารสกัดคาเทชินที่แยกออกมาจากใบชา จะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ได้ดีกว่าน้ำชาที่ได้จากชาอูหลง แต่น้ำชาที่ได้จากชาอูหลงสามารถยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้ได้ดีกว่าสารสกัดคาเทชินจากใบชา แสดงให้เห็นว่าในน้ำชาจะต้องมีองค์ประกอบอื่นใดนอกเหนือจากคาเทชินที่ส่งผลดีต่อการยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้ด้วย ซึ่งต่อมาได้มีการศึกษาอีกมากมายจนได้ข้อสันนิษฐานว่าสาระสำคัญที่ส่งผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดของน้ำชานั้นน่าจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง คาเทชิน (โดยเฉพาะ EGCG) ธีอาฟลาวิน (TFs โดยเฉพาะ TF digallate) ธีอารูบีจิน (TR) ไดเฟนิลเอมีน และ โพลีแซคคาไรด์
ฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็ง และ การป้องกันมะเร็ง
(Anticarcinogenic Activity and Prevention of Cancer)
ผลต้านมะเร็งของชาได้มีการเริ่มการศึกษามาตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา และพบว่าชาชนิดต่างๆ ส่งผลต้านมะเร็งได้อย่างน่าพอใจ โดยมีผลต่อมะเร็งต่างชนิดกัน ดังแสดงค่าในตารางที่ 4
ตารางที่ 4 ผลของชาขต่อการยับยั้งมะเร็งชนิดต่างๆ |
||||
Cancer |
Animal |
Tea sample |
Carcinogen |
%inhibition |
Skin |
Mice |
GT polyphenol |
3-MC |
50 |
|
Mice |
GT polyphenol |
DMBA/TPA |
42-44 |
|
Rat |
Eatachine |
Cancer cell |
24.5-46.3 |
|
Mice |
GT extracts |
Urethane |
41 |
|
Mice |
GT extracts |
NaNO2 |
45-61 |
|
Mice |
GT polyphenol |
TPA |
15-38 |
|
Mice |
Tea polyphenol |
UV-B |
20-41 |
|
Mice |
Tea polyphenol |
TPA |
23-82 |
|
Mice |
Tea polyphenol |
DMBA-TPA |
62-94 |
|
Mice |
EGCG |
TPA |
31-84 |
|
Mice |
GT polyphenol |
DMBA/TPA |
40 |
|
Mice |
GT polyphenol |
PAH |
42-44 |
|
Mice |
GT polyphenol |
TPA |
38 |
|
Mice |
BT,GT, Decaffeinated GT & BT |
UVB-DBA |
70-77 |
|
Mice |
EGCG |
Teleocidin |
95 |
Stomach cancer |
Mice |
OT |
MNNG |
84.7 |
|
Mice |
Tea polyphenol |
DENA,baP |
71-80 |
Cancer |
Animal |
Tea sample |
Carcinogen |
%inhibition |
Forestomach&Lung cancer |
Mice |
GT water ext. |
DENA |
55-70 |
|
Mice |
GT polyphenol |
Nitrosodiethylamine,baP |
25-85 |
|
Mice |
GT |
DENA |
60-63 |
Lung cancer |
Mice |
OT,JT,GT |
DENA |
18.8-48.2 |
|
Mice |
OT,JT extract |
DENA |
55 |
|
Mice |
GT,BT extract |
NNK |
67-85 |
|
Mice |
GT polyphenol |
Nitrosoamine |
30-45 |
|
Mice |
GT,BT |
NNK |
54 |
|
Mice |
GT polyphenol |
DENA ,baP |
39-41 |
Esophagus&Stomach cancer |
Mice |
GT |
NMBzA |
58.9 |
|
Rat |
2%tea infusion |
NMBzA |
26-53 |
Esophagus cancer |
Rat |
GT,BT |
NMBzA |
80-95 |
|
Rat |
GT water extract |
NMBzA |
40-60 |
Duodenum cancer |
Mice |
GT extract |
DENA |
63-75 |
Small Intestine CA |
Rat |
GT extract |
DENA, NNK |
87 |
Colon cancer |
Rat |
GT extract |
AOM |
53-60 |
Liver cancer |
Rat |
GT |
AFB1 |
28.2-62.5 |
|
Rat |
GT |
AFB1 |
43 |
|
Rat |
GT |
NDEA |
30-40 |
|
Rat |
GT extract |
AFB1 |
48.6-77.6 |
GT=green tea, OT= oolong tea, BT=black tea AFB1=aflatoxin, B&P= Benzopyrene, DBA= dibenzanthracene, DENA= diethylnitrosamine, DMBA= dimethyl benzanthracene, 3-MC= methylcholanthrene, MNNG= N-methyl-N’-nitrosoguanidine, PAH= Polycyclic aromatic hydrocarbon, TPA= 12-O-tetradecanoyl-phorbol-13-acetate, UV-B= Ultraviolet light-B |
บทสรุป
จากรายงานการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมาพอจะสรุปได้ว่าเครื่องดื่มที่ได้จากใบชาทั้งสามชนิดล้วนแล้วแต่มีจุดเด่น และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เด่นต่างกัน ได้แก่ ชาอูหลง จะมีฤทธิ์ด้านการต้านออกซิเดชั่นมากที่สุด เมื่อเทียบกับชาชนิดอื่นๆ ส่วนชาดำ จะมีฤทธิ์ดับกลิ่นที่ดีกว่าชาชนิดอื่น ในขณะที่ชาเขียวจะมีฤทธิ์เด่นด้านการลดความดันและไขมันในเลือด ในภาพรวมแล้วการดื่มชาในปริมาณที่พอเหมาะและถูกวิธีจึงเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม
ในปัจจุบันกระแสความนิยมชาเขียวกำลังพุ่งสูง มีผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่มีชาเขียวมาเป็นตัวชูผลิตภัณฑ์ให้เด่น แต่ผลที่จะมีต่อร่างกายนั้นต้องอาศัยข้อมูลที่ได้จากการวิจัยประกอบ แต่กระนั้นก็ตาม ข้อมูลการวิจัยส่วนใหญ่ยังเป็นข้อมูลที่ได้จากการทดลองในสัตว์ทดลอง ยังคงขาดข้อมูลการวิจัยทางคลินิกอีกมากที่จะเป็นตัวยืนยันผลที่จะมีต่อมนุษย์จริงๆ แต่สำหรับสรรพคุณบางอย่าง เช่น การยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และส่งผลดีต่อคนที่ท้องเสียจากบิด ซึ่งเคยมีการใช้มาแต่บรรพกาล ก็สามารถยืนยันสรรพคุณได้โดยอัตโนมัติ แม้ไม่ได้มีการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยในปัจจุบัน
เอกสารประกอบการเขียน
Jain, N.K. Global Advances in Tea Science. Arabali Printers&Publishers; New Delhi. 1999.
Organizing Committee of ISTS. World Tea. Kurofune Printing; Shizuoka. 1991.
Willson, R.C. and Clifford, M.N. TEA; Cultivation to Consumtion. Chapman&Hall; London. 1992.
Yamamoto, T., Juneja, L.R., Chu, D.C., and Kim, M. Chemistry and Applications of Green Tea. CRC press; Florida. 1997-
1349 ชา ชา /article-biology/item/1349-tea528เพิ่มในรายการโปรด