รู้จัก Probiotio และ Prebiotic กันหรือยัง
รู้จัก Probiotio และ Prebiotic กันหรือยัง
โดย...อาจารย์ภัทรา พลับเจริญสุข**
ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ในแง่ของคุณค่าทางอาหาร ความปลอดภัย และมีผลดีต่อสุขภาพ จึงเป็นจุดกำเนิดผลิตภัณฑ์อาหารที่เรียกว่าฟังก์ชันนัลฟู้ด (functional food) ซึ่งเป็นอาหารที่มีผลต่อการทำหน้าที่ต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลดีต่อสุขภาพโดยมีบทบาทในการลดความเสี่ยงและอัตราในการเกิดโรค อาหารหลายชนิดจัดเป็น functional food และพบได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มพรีไบโอติก (prebiotic) และโพรไบโอติก (probiotic) ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพลำไส้ ดังนั้นเราจึงควรทำความรู้จักกับพรีไบโอติกและโพรไบโอติกให้มากขึ้น
โพรไบโอติก เป็นกลุ่มของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและมีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์และสัตว์ โดยโพรไบโอติกจะทำหน้าที่ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร โดยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้มากขึ้น ลดปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นโทษลงและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อต่อสู้กับเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายและยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคทำให้ไม่สามารถเกาะติดกับลำไส้ โดยวิธีการหลั่งสารออกมาต้านจุลินทรีย์ชนิดอื่นหรือเจริญเติบโตไปแย่งที่กันไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคเจริญและถูกขับออกทางอุจจาระ เชื้อจุลินทรีย์ที่จัดเป็นโพรไบโอติก เช่น Lactic acid bacteria (LAB) และ Bifidobacteria ส่วนพรีไบโอติกเป็นส่วนของอาหารที่ไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้นการเจริญและกิจกรรมของแบคทีเรียกลุ่มโพรไบโอติกในลำไส้ใหญ่ พรีไบโอติกส่วนมากเป็นสารอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้เช่น oligosaccharide และ fructoligosaccharide เป็นต้น ปกติแล้วพรีไบโอติกและโพรไบโอติกจะทำงานร่วมกัน นอกจากนี้พรีไบโอติกและโพรไบโอติกยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ป้องกันการเกิดอาการท้องเสียท้องเดิน ช่วยเผาผลาญไขมัน เพิ่มการดูดซึมของแคลเซียม ลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดและป้องกันมะเร็งลำไส้ เป็นต้น พรีไบโอติกส่วนใหญ่พบในผักผลไม้ เช่น หัวหอม กล้วย กระเทียม หน่อไม้ฝรั่งเป็นต้น ส่วนโพรไบโอติกอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์นมแปรรูป เช่น นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต เป็นต้น
ที่มา http://thaiprobiotics.org/content_detail.aspx?content=7&id=20071203140619906&lg=th
กลไกการทำงานของโพรไบโอติกกลุ่มแบคทีเรียแสดงได้ดังภาพ เมื่อโพรไบโอติกและเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคเข้าสู่ร่างกายจะไปเกาะติดกับเมือกและเนื้อเยื่อของลำไส้ ซึ่งเชื้อทั้งสองชนิดจะต้องอยู่รอดภายใต้สภาวะของระบบย่อยอาหาร และเพิ่มจำนวนขึ้นในระบบลำไส้จึงส่งผลต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ ดังนั้นจึงมีการแข่งขันและกีดกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคกับโพรไบโอติก โดยการรวมตัวกันที่ผิวหน้าและผลิตสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น และกีดกันเชื้อก่อโรคโดยตรง
จะเห็นได้ว่าโพรไบโอติกและพรีไบโอติก เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ใส่ใจสุขภาพ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เนื่องจากโพรไบโอติกและพรีไบโอติก มีส่วนช่วยในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ จึงส่งผลให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดียิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
- พรีไบโอติคและโพรไบโอติค: อาหารสุขภาพ. http://www.pharm.chula.ac.th/Clinic 101_5/article/Radio89.pdf (Retrieved 21/10/09)
- อาหารกับสุขภาพ. http://www.tistr-foodprocess.net/food_helth/food_health6.
- Prebiotic(nutrition). http://www.wikipedia.org/wiki/Pribiotic_(nutrition)
- http://thaiprobiotics.org/content_detail.aspx?content=7&id=20071203140619906
-
264 รู้จัก Probiotio และ Prebiotic กันหรือยัง /article-biology/item/264-probiotio-prebioticเพิ่มในรายการโปรด