แหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน
แหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน
สุทธิพงษ์ พงษ์วร
ครานี้ขอนำเสนอเรื่องเบาๆ แบบสบายๆ เกี่ยวกับการสร้างแหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โรงเรียนที่อยู่ต่างจังหวัด หรือโรงเรียนที่มีพื้นที่ค่อนข้างจะมากและมีต้นไม้เยอะๆ คงจะได้เปรียบสักหน่อย สำหรับในเรื่องของการสร้างแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน ถ้าในโรงเรียนไม่มีพื้นที่ก็สามารถดัดแปลงไปใช้แหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนก็ได้ครับ
แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนมีอะไรบ้าง?
ขอให้หันกลับไปถามตัวคุณเองว่าคุณอยากจะสร้างแหล่งเรียนรู้อะไร ให้กับเด็กนักเรียนระดับไหน เพื่ออะไร ผมไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าใดนักว่าการที่ครูคนหนึ่งคิดจะทำแหล่งเรียนรู้ที่เป็นวิชาการขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ทำไมถึงต้องค้นข้อมูลดูว่ามีคนทำหรือยัง ถ้ายังไม่มีคนทำก็จะพลอยไม่กล้าทำไปด้วย หากเป็นเช่นนี้เราคงไม่ได้ทำอะไรกันเลย หรือทำแล้วทุกโรงเรียนก็จะมีรูปแบบของแหล่งการเรียนรู้ที่เหมือนกัน เป็นพิมพ์เดียวกัน ไม่เกิดกระบวนการคิดแบบสร้างสรรค์ขึ้นมาได้เลย
ไม่เห็นต้องหาเอกสารอ้างอิง หรือคนอ้างอิงกันมากมายขนาดนั้นเลย ทำไมไม่คิดว่า "ฉันนี่แหล่ะ จะเป็นคนแรกที่จัดทำขึ้น และจะพัฒนาต่อๆ ไป" ขอเพียงแต่ต้องมีความพร้อมของข้อมูลทางวิชาการที่จะทำมาใช้ในการเรียนการสอนเท่านั้นก็พอ
หัวข้อแหล่งการเรียนรู้อาจจะมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันได้ เช่น สวนหิน สวนพฤกษศาสตร์ สวนนก สวนงู ถ้าให้ยิ่งใหญ่ก็ทำสวนสัตว์ในโรงเรียนไปเลย จัดทำสวนน้ำ ห้องสมุดพันธุ์ไม้ในท้องถิ่น หรือไม่อาจทำเป็นห้องเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ในท้องถิ่น (แทนที่จะเก็บหนังสือแทน) ห้องเก็บตัวอย่างพันธุ์ข้าวในจังหวัดจัดแสดงพร้อมภาพต้นข้าวแต่ละพันธุ์ หรืออาจจัดทำเป็นสวนวิทยาศาสตร์กับการอนุรักษ์พลังงาน นอกจากนี้ยังอาจทำเป็นสวนเกษตรกรรมแบบผสมผสานโดยอาจทำบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงสัตว์ปีกเหนือบ่อ ปลูกแปลงผักใกล้ๆ บ่อเลี้ยงปลา และให้เด็กเข้ามาดูแล ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับเด็กนักเรียนอีกด้วย แปลงปลูกผักแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมีก็เป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนได้เช่นกัน ยิ่งถ้าได้ทำเทียบกับแปลงปลูกผักแบบใช้สารเคมีและทำให้อยู่ในบริเวณที่ห่างกันพอสมควร เด็กนักเรียนจะได้เห็นถึงความแตกต่างกันของคุณภาพดิน ปริมาณสิ่งมีชีวิตในแปลงผัก ความเป็นกรดเบสของน้ำและดิน ต้นทุนการผลิต ความร่วมมือ การจัดการ โภชนาการ และเรื่องอื่นๆ ที่เราอยากให้เด็กศึกษาค้นคว้า
แม้แต่กองขยะของโรงเรียนก็สามารถทำเป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนได้ การจัดแหล่งเรียนรู้ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของคุณครูผู้จัดว่าจะทำให้เด็กตระหนักรู้ในเรื่องใด ได้ทำกิจกรรมจากประสบการณ์จริง ได้เห็นภาพจริง อย่างเรื่องขยะไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร เศษกระดาษ และอื่นๆ ถ้าไม่พาไปดูภาพรวมของกองขยะ หลายคนอาจไม่ได้ตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างขยะ และขยะที่เรารู้สึกว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นของแต่ละคน จะมารวมกันเป็นขยะกองโตอย่างที่เห็น เศษอาหารที่กินเหลือคนละนิดรวมเป็นเศษอาหารหลายกิโลกรัมอยู่ และอื่นๆ พอแยกประเภทขยะและนำมาคำนวณออกมาเป็นเงินสิครับ จะเห็นได้ว่าเราสูญเสียอาหารเหล่านั้นไปเป็นมูลค่าเท่าใด
ความจำเป็นแรกสำหรับการสร้างแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน คือ
1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการสร้างแหล่งเรียนรู้
2. กำหนดขอบเขตและความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่จะนำมาสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้
3. ค้นข้อมูลและเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวกับเนื้อหาของแหล่งเรียนรู้
4. กำหนดพื้นที่ รูปแบบ รวมถึงการออกแบบสร้างแหล่งเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหา
5. เสนอของบประมาณ
6. ดำเนินการสร้าง
จากหลักการคร่าวๆ จะเห็นได้ว่าข้อหนักใจน่าจะอยู่ในข้อ 2, 3, และ 4 เพราะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบุงโตทีเดียวครับ เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมมีตัวอย่างมาให้ดูกันครับ
Picture Ref.: "สวนหิน พร้อมคำบรรยายที่ สสวท."
ตัวอย่าง สวัสดีค่ะ ดิฉันอาจารย์ 1 ระดับ 5 อยากจะจัดแหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องหินและแร่ ดิฉันควร เริ่มต้นอย่างไรก่อนคะ
ข้อที่ 1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการสร้างแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน
ซึ่งอาจารย์ได้กำหนดไว้แล้วจากคำถาม คือ สร้างสวนหินและแร่ ถ้าจะใหญ่โตหน่อยก็อาจจะเรียกว่าเป็นอุทยานหินและแร่ก็ได้ครับ
ข้อที่ 2. กำหนดขอบเขตและความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่จะนำมาสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้
เช่นต้องการให้เด็กรู้จักชนิดของหินและแร่ ลักษณะทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นสี เนื้อหิน ความแข็ง ความเปราะ เป็นต้น ลักษณะทางเคมีถ้าจะให้ศึกษาควรทำเรื่องอะไรบ้าง หินชนิดใดเปลี่ยนไปเป็นชนิดใด หินชนิดใดมีลักษณะเกิดที่คล้ายกัน ก็ให้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ไว้
ข้อที่ 3. ค้นข้อมูลและเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวกับเนื้อหาของแหล่งการเรียนรู้
คุณครูจะต้องค้นหาเอกสารที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องหินและแร่ ต้นกำเนิดของหินและแร่ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดหินและแร่ กลุ่มของหินและแร่ ชนิดของหินและแร่ หินและแร่ที่พบในประเทศไทย แหล่งที่พบ เป็นต้น
ข้อที่ 4. กำหนดพื้นที่และรูปแบบ รวมถึงการออกแบบการสร้างแหล่งเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหา
พื้นที่มีลักษณะอย่างไร รูปแบบการนำเสนอ การจัดวางหิน จะวางไว้บนพื้นกลางแจ้ง หรือวางบนฐานที่จัดเตรียมขึ้น พร้อมป้ายคำอธิบาย และควรมีแท่นสำหรับการทำกิจกรรมทางเคมีเกี่ยวกับการทดสอบทางเคมีของหินหรือไม่ ถ้ามีควรจัดวางที่ใด อย่างไร ทางเดินควรกำหนดตัวเลขลำดับของการเรียนรู้หรือไม่ ควรมีการวางแผนก่อนทำการสร้างและจัดวางหิน และจัดทำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับข้อมูลและตัวอย่างหินที่มีอยู่หรือที่คาดว่าจะจัดหาได้
ข้อที่ 5. เสนอของบประมาณ
ข้อที่ 6. ดำเนินการสร้าง
เป็นอย่างไรบ้างครับ คงจะเห็นได้ว่าการจัดแหล่งเรียนรู้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ใจกับความพยายามของคุณครับเท่านั้นเองครับ แหล่งเรียนรู้ 1 ชนิด หรือ 1 แบบ ถ้ามีการวางแผนที่ดี การออกแบบ และการจัดการเกี่ยวกับการนำเสนอที่ดี จะสามารถบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างสอดคล้องและเป็นระบบทีเดียวครับ
-
268 แหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน /article-biology/item/268-2010-06-03-07-09-02เพิ่มในรายการโปรด