มารู้จักกับพืชสมุนไพร 13 ชนิดที่ประกาศว่าอันตราย
มารู้จักกับพืชสมุนไพร 13 ชนิดที่ประกาศว่าอันตราย ตอนที่ 1
จากกรณีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่สามารถนำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุม วัชพืช โรคพืช แมลงศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืชซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก จัดเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข. ซึ่งประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก และในเวลาต่อมาได้มีการทบทวนวิธีการประกาศโดยมีข้อเสนอให้ถอนรายชื่อพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดออกมาก่อน จากข่าวดังกล่าวคงทำให้หลายคนอยากทราบถึงลักษณะทั่วไป รวมไปถึงประโยชน์และสรรพคุณของสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ซึ่งได้รวบรวมไว้ดังนี้
1. สะเดา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta siamensis
วงศ์ MELIACEAE
ชื่ออื่น Holy tree, Pride of China, Indian Margosa Tree, Neem Tree. กะเดา สะเลียม จะตัง ไม้เดา
สะเดาเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 8-15 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ขอบใบหยัก ลักษณะดอกเป็นช่อดอกมีขนาดเล็กสีขาว
เนื้อไม้ของสะเดามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไม้สัก มีการนำสะเดาไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ในการปลูกบ้านหรือทำเฟอนิเจอร์ สารสกัดจากใบสะเดามีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลง น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดสะเดาสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสบู่ ยาสีฟัน เป็นยารักษาโรคผิวหนัง โรคปวดตามข้อ นอกจากนี้ยอดอ่อนและดอกสะเดาสามารถนำมารับประทานได้
2. ตะไคร้หอม
ตะไคร้หอมเป็นพืชตระกูลเดียวกับตะไคร้บ้าน (ตะไคร้แกง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon nardus Rendle.
วงศ์ GRAMINEAE
ชื่ออื่น Citronella grass ตะไคร้แดง จะไคมะขูด หรือตะไคร้มะขูด
ตะไคร้หอมจัดเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 1-2 เมตรมีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นตั้งตรง ขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ลักษณะคล้ายกับตะไคร้บ้านแต่ใบยาวกว่าและลำต้นมีสีแดง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ลักษณะดอกเป็นช่อดอกแยกออกเป็นแขนง
น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากใบและกาบ ของตะไคร้หอมสามารถไล่ยุงและแมลงบางชนิดได้ นอกจากนี้ยังใช้แต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
3. ขมิ้นชัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa L.
วงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น Turmeric ขมิ้น ขี้มิ้น ขมิ้นทอง ขมิ้นดี ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก
ขมิ้นชันจัดเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 30 -90 เซนติเมตร มีเหง้ารูปไข่อยู่ใต้ดิน มีแขนงแตกออกด้านข้างทั้งสองด้าน เนื้อในเหง้ามีสีเหลืองส้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงซ้อนสลับกัน ใบรูปรี ผิวใบเรียบ ลักษณะดอกเป็นช่อดอกแทงตรงออกมาจากเหง้าแทรกอยู่ระหว่างภายในกลีบดอกรูปกรวยสีขาวนวล
ขมิ้นชันมีสารสีเหลืองหรือสารเคอร์คิวมิน (curcumin) ใช้แต่งสีอาหารได้ ในทางยาใช้ผงเหง้าขมิ้นชันทาแก้โรคผิวหนังผื่นคัน และใช้กำจัดแมลงบางชนิดได้อีกด้วย
ภาพที่ 3 ขมิ้นชัน
4. ขิง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe
วงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น Ginger ขิงแกลง ขิงแดง ขิงเผือก สะเอ ขิงแครง
ขิงจัดเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในมีสีขาวแกมเหลือง หน่อหรือลำต้นขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว ใบมีลักษณะคล้ายใบไผ่ ปลายใบเรียวแหลม ลักษณะดอกเป็นช่อดอกสีขาว ขิงจัดเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับข่า ขมิ้น กระชาย
ขิงเป็นทั้งพืชสุมนไพรและเครื่องเทศ มีสารที่ให้รสเผ็ดคือสารจิงเจอรัล (gingerol) และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวจากน้ำมันหอมระเหย ขิงที่นำมาประกอบอาหารมีหลายรูปแบบ เช่น ขิงสด ขิงดอง ขิงแห้ง ขิงผง รวมทั้งน้ำขิงที่เป็นเครื่องดื่ม มีสรรพคุณ เช่น รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน รักษาอาการไอที่มีเสมหะ เหง้าขิงสดตำละเอียดผสมน้ำใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลงได้
5. ข่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpiniagalanga L.
วงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น Galingale, Galanga กฏุกกโรหินี ข่าหยวก ข่าหลวง
ข่าจัดเป็นพืชล้มลุก ขึ้นเป็นกอ ต้นสูงประมาณ 1.5-2.5 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้ามีสีน้ำตาลอมแสด มีข้อและปล้องชัดเจน เนื้อในเหง้ามีสีขาวมีรสเผ็ดและกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ลักษณะดอกเป็นช่อดอกสีขาวนวล ดอกออกที่ปลายยอด
ข่าเป็นเครื่องเทศที่ใช้แต่งกลิ่นอาหารเพิ่มรสชาติ ดอกและลำต้นอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด สารสกัดจากข่ามีสรรพคุณด้านการรักษาโรค เช่น รักษากลากเกลื้อน รักษาโรคปวดบวมตามข้อ รักษาโรคหลอดลมอักเสบ ใช้เป็นยาถ่ายและยาขับลม นอกจากนี้พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงเช่นเดียวกับขิง
6. ดาวเรือง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L.
วงศ์ COMPOSITAE
ชื่ออื่น Marigold ดอกคำพู่จู้ พอทู
ดาวเรืองจัดเป็นพืชล้มลุกทรงพุ่ม มีความสูงตั้งแต่ 30–60 เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้ามกัน ใบรูปรี ลักษณะดอกเป็นช่อดอกกระจุกอยู่ที่ปลายยอด มีสีเหลืองหรือสีส้ม มีกลิ่นหอม
ดอกดาวเรืองใช้ประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม มีการนำสารสกัดจากดอกดาวเรืองมาใช้รักษาอาการอักเสบของผิวหนังและแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ในกลีบดอกดาวเรืองมีสารสีเหลืองที่เรียกว่าแซนโทฟิลล์ (xanthophyll) สูง จึงมีการปลูกเพื่อเก็บดอกนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารไก่ไข่เพื่อให้ไข่แดงมีสีแดงสวยทดแทนสารสังเคราะห์ นอกจากนี้ภายในรากของดาวเรืองมีสารชนิดหนึ่งคือ แอลฟ่า เทอร์เธียนิล (& - terthienyl) ซึ่งเป็นสารที่สามารถควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้เป็นอย่างดี
7. สาบเสือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eupatorium odoratum L.
วงศ์ COMPOSITAE
ชื่ออื่น Bitter bush, Siam weed ผักคราด ฝรั่งรุกที่ หญ้าค่าพั้ง หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว หญ้าฝรั่งเศส
สาบเสือจัดเป็นพืชล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขามากมายจนดูเป็นทรงพุ่ม ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุมด้วยขนอ่อนนุ่ม ก้านและใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายสาบเสือ มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นที่ข้อแบบตรงกันข้าม รูปรี ขอบใบหยัก ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียวอ่อน มีขนปกคลุมผิวใบทั้งสองด้าน ลักษณะดอกเป็นช่อดอกสีขาวหรือฟ้าอมม่วง กลีบดอกมีลักษณะเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ผลมีขนาดเล็ก รูปร่างเป็นห้าเหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ส่วนปลายผลมีขนสีขาวช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวไปตามลม
สาบเสือเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่หาง่าย มีอยู่ทั่วไป ใช้ป้องกันและกำจัดแมลง ต้นสาบเสือเมื่อนำมาสกัดด้วยไอน้ำจะได้สารที่มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ดพืชได้หลายชนิด เช่น ข้าว โสน พริก ข้าวโพด นอกจากนี้ต้นสาบเสือยังใช้เป็นดรรชนีชี้วัดความแห้งของอากาศ เพราะต้นสาบเสือจะออกดอกเมื่อมีสภาพอากาศที่แห้ง
8. กากเมล็ดชา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Camellia sinensis L.
วงศ์ : THEACEAE
ชื่ออื่น : Tea plant เมี่ยง เมี่ยงดอย
ชาเป็นพืชที่มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบสีเขียว ดอกมีสีขาว เมื่อดอกชาโตเต็มที่จะให้ผลชา ซึ่งภายในมีเมล็ดเล็กๆ ตั้งแต่หนึ่งถึงสามเมล็ด
กากเมล็ดชา ( tea seed cake) เป็นส่วนที่เหลือจากการหีบน้ำมันจากเมล็ดชา มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ในเมล็ดชามีสารซาโปนิน (saponin) ซึ่งใช้ในการกำจัดปลาต่างๆ ในนากุ้ง และกำจัดหอยเชอรี่ โดยกากเมล็ดชาจะสลายตัวได้เร็วจึงไม่มีพิษตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำอื่นๆ ในแม่น้ำ ลำคลอง
9. พริก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum frutescens L.
วงศ์ : SOLANACEAE
ชื่ออื่น : Chilli peppers, chili, chile พริกมีหลายชนิด เช่น พริกขี้หนูพริกไทยพริกหยวกพริกเหลืองพริกชี้ฟ้า
พริกเป็นเครื่องเทศที่สำคัญชนิดหนึ่ง ในไส้พริกจะมีสารแคปไซซิน (capsaicin) ที่ทำให้เกิดรสเผ็ด สรรพคุณของพริก เช่น ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยให้ความดันเลือดลดลง ลดการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดอันเป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยลดอาการปวด กระตุ้นให้อยากอาหาร นอกจากนี้ใบและดอกของพริกสามารถนำมาสกัดเป็นยาป้องกันและกำจัดแมลงได้
10. ขึ้นฉ่าย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Apium graveolens L.
วงศ์ : UMBELLIFERAE
ชื่ออื่น : Celery ผักข้าวปืน ฮั่งขึ่ง
ขึ้นฉ่ายจัดเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร ลำต้นอ่อนนิ่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้ามกัน ใบสีเหลืองอมเขียว ขอบใบหยัก ลักษณะดอกเป็นช่อดอกแบบซี่ร่มมีสีขาว
ขึ้นฉ่ายเป็นผักและสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร รับประทานเป็นผักสด และนำไปทำเป็นน้ำสมุนไพร น้ำมันหอมระเหยในลำต้นและใบมีฤทธิ์ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ทำให้หายจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน ช่วยในการรักษาโรคความดันเลือดสูง ส่วนรากช่วยในการรักษาอาการปวดตามข้
11.ชุมเห็ดเทศ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna alata L.
วงศ์ : LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออื่น : Ringworm bush, Candelabra bush ขี้คาก ลับมืนหลวง หมากกะลิงเทศ ตะสีพอ
ชุมเห็ดเทศจัดเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 1-3 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ลักษณะดอกเป็นช่อดอก กลีบดอกมีสีเหลืองเข้ม ดอกเเละใบชุมเห็ดเทศมีสรรพคุณเป็นยาระบาย รักษากลากเกลื้อนและผิวหนังผื่นคัน
12. ดองดึง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gloriosa superba L.
วงศ์ : COLCHICACEAE
ชื่ออื่น : Climbing Lily พันมหา หัวขวาน คมขวาน มะขาโก้ง
ดองดึงจัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินรูปร่างคล้ายหัวขวาน ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม และม้วนงอเป็นมือเกาะ ลักษณะดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ กลีบดอกสีเหลือง ปลายกลีบสีแดง เมื่อแก่จะเป็นสีแดงทั้งดอก
ดองดึงเป็นสมุนไพรที่มีความเป็นพิษสูง หากรับประทานเข้าไปสามารถทำให้เสียชีวิตได้ โดยสารที่ทำให้เกิดพิษคือ โคลซิซีน (colchicine) ซึ่งขนาดที่ทำให้เกิดพิษจะต่ำมาก
13. หนอนตายหยาก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stemona tuberosa Lour.
วงศ์ : STEMONACEAE
ชื่ออื่น : พญาร้อยหัว กระเพียด ต้นสามสิบกลีบ สลอดเชียงคำ
หนอนตายหยากเป็นพันธุ์ไม้จำพวกไม้เลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ใบรูปหัวใจโคนใบเว้า ปลายใบเรียวแหลม ลักษณะดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ดอกสีแดงเข้ม
หนอนตายหยาก เป็นพืชสมุนไพรที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคันตามร่างกาย ใช้ฆ่าเห็บเหาในสัตว์ประเภทโคและกระบือ ใช้กำจัดไข่หนอนที่ติดมากับแมลงวัน ใช้เป็นสารป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น หนอน กัดกินใบ และเพลี้ยอ่อน รวมทั้งใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุง
ข้อมูลพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดที่ได้รวบรวมมานี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ช่วยทำให้รู้จักพืชเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นพืชที่คุ้นเคยและอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน
เอกสารอ้างอิง
กองทุนเพื่อการพัฒนาสมุนไพร ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน. บริษัท อมรินทร์พริ้น
ติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). 2543.
ขวัญชัย สมบัติศิริ. หลักการและวิธีการใชสะเดาป้องกันและกําจัดแมลงศัตรูพืช. เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ ฉบับที่ 1 โครงการเกษตรกู้ชาติ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2542
คณะกรรมการฝ่ายหาทุน มูลนิธิสวนหลวง ร.9.พรรณไม้ในสวนหลวง ร.9.พิมพ์ครั้งที่ 3. 2539.
เชตวัน เตือประโคน. พืชอาหาร-สมุนไพร 13 ชนิด ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายมีพิษหรือมีประโยชน์. หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 9
มีนาคม พ.ศ. 2552. หน้า 20 .
เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. 2544.
นันทวัน บุณยะประภัศร และ อรนุช โชคชัย เจริญพร. สมุนไพรพื้นบ้าน (5). บริษัทประชาชน จำกัด กทม. 2543.
นิโลบล วานิชชา และ ชวลิต ทัศนสว่าง. 2527. การศึกษาประสิทธิภาพของสมุนไพรบางชนิดใช้ ทาป้องกันยุงพาหะไข้
มาลาเรีย. วารสารโรคติดต่อ, 10 : 2 , 135 - 143.
พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. 2526. คู่มือการใช้สมุนไพร. สำนักพิมพ์เมติคัลมีเดีย, กรุงเทพฯ, 298 หน้า.
วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับในเมืองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2536.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงศึกษาธิการ. หนังเสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม
ชีววิทยา เล่ม 4. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของ สกสค., 2550.
สุธรรม อารีกุล. พืชยาฆ่าแมลงบางชนิดที่น่าสนใจในประเทศไทย.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 2529
Arnett, R.H.Jr. and Bazinet,G.F.Jr.1977. Plant Biology. 4th Edition. The C.V.Mosby Company, Saint Louis.
Campbell, N.A. and Reece, J.B. 2002. Biology. 6th Edition. Pearson Education, Inc. USA.
Haupt, A.W. 1965. An Introduction to Botany. 3rd Edition. McGraw-Hill Company, New York.
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1234404330&grpid=01&catid=04 (retrived March 16, 2009)
http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=123&s=tblrice (retrived March 16, 2009)
http://www.tistr.or.th/t/publication/page_area_show_bc.asp?i1=45&i2=22 (retrived March 16, 2009)
http://www.panyathai.or.th/ (retrived March 16, 2009)
http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/..%5Cpubhealth%5Calpinia.html (retrived March 16, 2009)
http://www.ku.ac.th/kaset60/ku60/marigold.html (retrived March 16, 2009)
http://www.nzenzeflowerspauwels.be/ZingOffi.JPG (retrived March 16, 2009)
www.camelliasrus.com.au/species.html (retrived March 16, 2009)
www.summagallicana.it/lessico/a/apio.html (retrived March 16, 2009)
www.thaiherb.most.go.th/plantdetail.php?id=499 (retrived March 16, 2009)
www.ntbg.org/.../plant_details.php?plantid=3652 retrived March 16, 2009)
www.gotoknow.org/blog/thaikm/2689(retrived March 16, 2009)
http://www.wikipedia.org/(retrived March 16, 2009)
-
274 มารู้จักกับพืชสมุนไพร 13 ชนิดที่ประกาศว่าอันตราย /article-biology/item/274-13เพิ่มในรายการโปรด