มือ เท้า ปาก กับ ปาก เท้า เปื่อย เรียกง่ายๆ กลายเป็นสับสน
ธีรพัฒน์ เวชชประสิทธิ์
คงอาจคุ้นหูกับ คำเหล่านี้ “มือ เท้า ปาก และปาก เท้าเปื่อย ”เห็นคำว่าเปื่อยหลายคนคงคิดว่าน่าจะต้อง กี่ยวข้อง กับโรคอะไร ซักอย่างแน่ๆ... ใช่แล้วครับ ทั้ง มือ เท้า ปาก (hand foot and mouth disease) หรือชื่อย่อๆ ว่า HFMD และปาก เท้า เปื่อย (foot and mouth disease) หรือเรียกย่อๆ ว่า FMD เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิต
คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า โรค มือ เท้า ปาก กับโรคปาก เท้าเปื่อย เป็นโรคเดียวกัน ยิ่งช่วงที่มีข่าวการระบาด ของโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียนอนุบาลด้วยแล้ว ผู้คนรวมทั้งสื่อต่างๆ เสนอว่าเด็กป่วยเป็นโรคปาก เท้าเปื่อยทั้งๆ ที่ ี่จริงๆ แล้วเด็กนักเรียน ป่วยเป็น โรค มือ เท้า ปาก ได้ยินแล้วไม่ค่อยสบายใจครับ เพราะทั้งสองโรคนี้ถึงแม้จะมีส่วนที่ คล้ายแต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่ ทำให้หลายๆ ท่านสับสนเรียกผิดเรียกถูก ถ้าอย่างนั้นเรามาลองทำความรู้จักกับโรคทั้ง 2 ชนิดนี้กันนะครับ
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นกับมนุษย์โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี ในขณะที่โรคปาก เท้า เปื่อยเป็น โรคติดต่อที่เกิดกับสัตว์กีบเป็นส่วนใหญ่ เช่น หมู วัว ควาย แพะ กวาง พบโรคปาก เท้าเปื่อยในคน รวมทั้ง สัตว์เลี้ยงอย่างแมว สุนัข ได้น้อยมาก
โรคทั้งสองชนิดนี้ มีสาเหตุการเกิดมาจาก เชื้อไวรัส โดยเป็นไวรัสที่อยู่ในวงศ์ (family)เดียวกัน คือ Picornaviridea โดยไวรัสวงศ์นี้มีสารพันธุกรรมเป็น RNA สายคู่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรค มือ เท้า ปาก ในเด็ก จัดอยู่ใน สกุล Enterovirus ซึ่ง มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น Coxackievirus และ Enterovirus 71 เป็นต้น ส่วนสาเหตุของโรคปาก เท้าเปื่อย เกิดจากไวรัส ในสกุล Aphthovirus
ไวรัสทั้ง 2 สกุลนี้มีการแพร่กระจายได้ง่ายเหมือนกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด (common cold) ซึ่งอยู่ในวงศ์ Picornaviridea เช่นกัน การติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปโดยตรงจาก ทางปาก หรือติดมาจากสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มแผลพุพอง รวมทั้งจากอุจจาระด้วย บางครั้ง การแพร่ระบาดของโรค อาจเกิดจากการแพร่ของเชื้อผ่านตัวกลางต่างๆ เช่น ในในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาลต่างๆ อาจ เกิดจากการที่ครูหรือพี่เลี้ยงที่ดูแลนักเรียนได้ทำความสะอาดร่างกายให้กับนักเรียน หลายๆ คนพร้อมๆ กัน ซึ่งอาจมีนักเรียนบางคน ป่วยเป็นโรคนี้อยู่ เมื่อครูหรือพี่เลี้ยงเด็กไปสัมผัสกับเด็กที่ป่วยเป็นโรค เชื้อที่ปนเปื้อนออกมาจากลำคอ แผล ตุ่มน้ำ หรือจาก อุจจาระของเด็กจะปนเปื้อนมากับมือของครูหรือพี่เลี้ยง ทำให้ เชื้อไวรัสสามารถแพร่ไปสู่เด็กคนอื่นๆ ผ่านครูหรือพี่เลี้ยงเด็กได้ หากไม่ได้ล้างมือให้สะอาจเพียงพอเสียก่อน การแพร่ระบาดของโรค มือ เท้า ปาก มักเกิดในช่วงเวลาที่มีอากาศอบอุ่นในกลุ่ม ประเทศเขตหนาว และช่วงเวลา ที่มีอากาศหนาวในกลุ่มประเทศเขตร้อน มีรายงานว่าโรค มือ เท้า ปาก เคยเกิดการระบาดมาแล้ว ในประเทศมาเลเซีย ในปีพ.ศ. 2540 ไต้หวัน ในปีพ.ศ. 2541 และสิงคโปร์ ในปีพ.ศ. 2543
เมื่อเชื้อไวรัส Coxackievirus หรือ Enterovirus 71 เข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย ไวรัสจะไปอยู่ที่บริเวณกระพุ้งแก้ม และ ลำไส้ใหญ่เพื่อเพิ่มจำนวน จากนั้นจะแพร่เข้าไปสู่ต่อมน้ำเหลือง และเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปยังอวัยวะเป้าหมาย คือ เยื่อบุช่องปาก และที่ผิวหนังบริเวณมือและเท้า
เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก จะมีไข้ต่ำ และอ่อนเพลีย ใน 1-2 วันแรกที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัส หลังจากนั้น จะมีอาการ เจ็บปาก เกิดเป็นตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ตุ่มแดงจะค่อยๆ กลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออก กลายเป็น แผลหลุมตื้นๆ นอกจากจะพบตุ่มแผลในปากแล้วยังพบที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และบางครั้งอาจพบ ที่ก้นด้วย ซึ่งตามปกติร่างกาย จะสร้างภูมิต้านทานขึ้น มากำจัดไวรัสบางส่วนออกไปจากร่างกาย ทำให้อาการต่างๆ เหล่านี้ หายไปได้เองภายใน 7-10 วัน ผู้ป่วยบางคนอาจได้รับเชื้อ Enterovirus 71 ซึ่งมีความรุนแรงกว่า Coxackievirus โดยมักจะมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กๆ เสียชีวิตได้จากโรคแทกซ้อน ที่ตามมาเช่นโรคสมองอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
การติดต่อของโรค ปาก เท้า เปื่อยในสัตว์ คล้ายกับการติดต่อของโรค มือ เท้า ปากในคน คือเกิดจากการที่สัตว์ สัมผัสกับ สารคัดหลั่ง หรือสัมผัสบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ อาจเกิดจากการแพร่กระจายไปกับเสื้อผ้าของคนหรือติดไปกับ พาหนะที่ใช้ขนส่ง สัตว์ เมื่อสตว์ได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปจะมีอาการไข้สูงจากนั้นไข้จะลดลงภายใน 2-3 วัน ต่อมาเกิดเป็น แผลในปาก น้ำลายเป็นฟอง รวมทั้งเกิดแผลพุพองที่เท้า น้ำหนักของสัตว์ลดลง ถ้าเกิดกาติดเชื้อในสัตว์เพศผู้จะมีอาการ บวมของอัณฑะ ถ้าเกิดในสัตว์เพศเมีย จะทำให้ผลผลิตน้ำนมจะลดลง
โรคปาก เท้า เปื่อยในสัตว์สามารถติดต่อมาสู่คนได้ โดยคนที่ได้รับเชื้อไวรัสโรคปาก เท้า เปื่อยจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดแสบปวดร้อนภายในช่องปาก อาจพบตุ่มน้ำบริเวณเพดานปาก และบริเวณนิ้วมือนิ้วเท้าได้ ซึ่งถ้าเกิดการ ติดเชื้อโรคปาก เท้า เปื่อยในเด็กอาการอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การติดต่อโรคจากสัตว์มาสู่คน อาจเกิดจากการสัมผัส บาดแผลหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ รวมทั้งการกินเนื้อสัตว์หรือรับประทานน้ำนมของสัตว์ที่เป็นโรคโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ก็เป็นสาเหตุของการติดเชื้อโรคปาก เท้า เปื่อยได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคปาก เท้าเปื่อยในสัตว์ จึงต้องมีการกำจัดและทำลายสัตว์ทั้งฝูง เพื่อ ป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่กระจายมาสู่คน เช่นเดียวกับการทำลายเป็ด ไก่ หรือนกเป็นจำนวนมากเมื่อเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก
คงจะพอทราบแล้วนะครับ ว่า มือ เท้า ปาก กับ ปาก เท้าเปื่อย เป็นโรคคนละชนิดกัน แต่อาการของโรคมีความ คล้ายคลึงกัน และโรคปาก เท้าเปื่อยซึ่งปกติจะพบในสัตว์ยังสามารถติดต่อมาสู่คนได้ด้วย ทางที่ดีถ้าไม่แน่ใจว่าจะเป็น โรคมือเท้าปาก หรือ ปาก เท้าเปื่อย ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อไปนะครับ
เอกสารอ้างอิง
1. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 6 ฉบับที่ 68 มิถุนายน 2544
2. หนังสือพิมพ์มติชน วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549 หน้า 10
3. http://www.agric.nsw.gov.au/reader/6543 retrieved 31/10/2006
4. http://budhosp.tripod.com/hfmd.html retrieved 23/10/2006
5. http://www.thepigsite.com/articles/1/health-and-welfare/305/disease-focus-footandmouth-disease retrieved 31/10/49
-
286 มือ เท้า ปาก กับ ปาก เท้า เปื่อย เรียกง่ายๆ กลายเป็นสับสน /article-biology/item/286-diseaseเพิ่มในรายการโปรด