การเรืองแสงของหิ่งห้อย
การเรืองแสงของหิ่งห้อย
สุทธิพงษ์ พงษ์วร
คราวนี้สีพื้นเว็บทำเป็นสีดำ อาจจะดูขัดๆ ไปนิดกับกรอบสีฟ้า แต่ก็เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการเดินดูหิ่งห้อย ซึ่งพบเห็นได้ง่าย (ในอดีต) ในยามค่ำคืน หิ่งห้อยเรืองแสงได้อย่างไร ทำไมต้องเรืองแสง ดูจะเป็นคำถามยอดฮิต และมักจะเป็นคำถามลำดับต้นๆ สำหรับเด็กๆ และผู้ใหญ่หลายคน เราจะได้มาค้นพบคำตอบที่ว่านี้ในบทความครั้งนี้กันครับ
ภาพประกอบ: "บันทึกหิ่งห้อย" น้องมิกกี้ อ.3 ห้องจามจุรี โรงเรียนทอสี กทม.
หิ่งห้อย หรือ "หญิงฮอย" (ในสำเนียงถิ่นใต้) และมีชื่อทั่วไปเป็นภาษาอังกฤษว่า Firefly, Lightning bug, หรือ Glowworm เป็นแมลงนักชีววิทยาจัดให้อยู่ใน Family Lampyridae เป็นแมลงปีกแข็งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกแมลงเต่าทอง มีหลายชนิด แต่ที่ต่างจากเต่าทองก็คือหิ่งห้อยมีปีกแค่ 2 ปีกตามที่มองเห็น แต่ในเต่าทองจะมีปีกอ่อนซ่อนอยู่อีก 1 คู่ใต้ปีกแข็งที่ปกคลุมภายนอก บริเวณที่พบว่ามีความหลากหลายของชนิดของหิ่งห้อยสูงคือในเขตร้อนชื้นแถบเอเชีย และอเมริกากลางตลอดจนถึงอเมริกาใต้
และจากรายงานการศึกษาหิ่งห้อยในประเทศไทยที่ได้เคยลงพิมพ์ในนิตยสารคดี พบว่าหิ่งห้อยในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 ชนิด แต่ละชนิดมีแหล่งที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน แต่ที่สำคัญคือ ต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ บางชนิดอาศัยในแหล่งน้ำและเป็นปรสิตในหอยน้ำจืด บางชนิดอาศัยอยู่ตามชายน้ำ ริมลำธาร บางชนิดอาศัยอยู่ตามซากไม้ใบไม้ที่เน่าเปื่อยผุพัง เฉพาะชนิดที่เป็นปรสิตในหอยเท่านั้นที่ต้องอาศัยใกล้บริเวณที่มีต้นไม้น้ำที่หอยสามารถขึ้นมาวางไข่ได้ แต่ก็มีรายงานการพบหิ่งห้อยบางชนิดอาศัยในเขตแห้งแล้งเช่นเดียวกัน
ตัวอ่อนของหิ่งห้อยดำเนินชีวิตเป็นผู้ล่าเหยื่อ โดยกินไส้เดือนดิน หอย และทากเป็นอาหาร วิธีการล่าเหยื่อทำได้โดยการตามรอยเหยื่อจากเมือกลื่นๆ ที่เหยื่อทิ้งไว้ตามรอยทางเดิน และเมื่อพบเหยื่อซึ่งโดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่กว่า ตัวอ่อนหิ่งห้อยก็จะปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมาจากเขี้ยว (ซึ่งในแมลงเรียกว่า mandible แต่ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง mandible จะหมายถึงขากรรไกรล่าง) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต หลังจากนั้นก็จะทำการกินเหยื่อเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าตัวอ่อนหิ่งห้อยสามารถที่จะกินอาหารที่เป็นซากสัตว์ที่ตายแล้วได้เช่นกัน (คือเป็น scavenger) และเมื่อหิ่งห้อยโตเป็นตัวเต็มวัย โดยทั่วไปจะกินน้ำหวานจากดอกไม้เพื่อนำเอามาสร้างพลังงานเพื่อดำรงชีวิตอยู่ ในระยะนี้หิ่งห้อยจะยังคงมีเขี้ยวอยู่ และพบว่าหิ่งห้อยบางชนิดจะมีการพรางตัวเพื่อเข้าไปทำทีว่า "อยากจะผสมพันธุ์กับหิ่งห้อยอีกชนิดหนึ่ง" แต่จริงๆ แล้วเข้าไปเพื่อจับหิ่งห้อยอีกชนิดหนึ่งกินเป็นอาหาร
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ของการสร้างแสงวับๆ ขึ้นมาก็คือ ทำเพื่อการสืบพันธุ์ และหลอกล่อเหยื่อนั่นเอง หิ่งห้อยแต่ละชนิดจะรูปแบบและระยะเวลาของการสร้างแสงวับๆ แตกต่างกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจำแนกชนิดของหิ่งห้อยได้โดยวิธีการดูจากแสงได้ด้วย ถึงแม้จะไม่แม่นยำเหมือนการจับตัวหิ่งห้อยมาศึกษาก็ตาม เพราะเจ้าหิ่งห้อยที่ชื่อ Photuris sp. (รู้แต่ genus) เพศเมียสามารถที่จะเลียนแบบการเรืองแสงของหิ่งห้อยเพศเมียพันธุ์อื่นได้ เพื่อล่อให้ตัวผู้เข้ามาผสมพันธุ์กับมัน แต่เมื่อตัวผู้เข้ามาก็จะถูกหิ่งห้อยเพศเมียตัวดังกล่าวจับกินเป็นอาหารแทน
คราวนี้ก็มาถึงคำถามที่น่าสนใจว่า "หิ่งห้อยเรืองแสงได้อย่างไร?"
เจ้าแมลงตัวน้อยของเรา สามารถสร้างแสงวับๆ ในยามค่ำคืนได้ โดยอาศัยปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์พิเศษที่อยู่บริเวณส่วนท้ายของลำตัว เป็นการเกิดปฏิกิริยาระหว่างโปรตีน Luciferin และเอนไซม์ Luciferase โดยอาศัยพลังงานจาก ATP (Adenosine triphosphate) ภายในเซลล์ และออกซิเจน ดังปฏิกิริยาเคมี
Luciferin+Luciferase+ATP ---> Luciferyl adenylate-luciferase + pyrophosphate
Luciferyl adenylate-luciferase + O2 ----> Oxyluciferin + luciferase + AMP + light
จากปฏิกิริยาเคมี จะเห็นได้ว่าภายในเซลล์พิเศษที่อยู่บริเวณส่วนท้ายตัวของหิ่งห้อยจะมีโปรตีนที่ชื่อ Luciferin และเซลล์จะสร้างเอนไซม์ Luciferase ขึ้นมา การเกิดแสงของหิ่งห้อยเกิดจากการทำปฏิกิริยากันของ luciferin กับออกซิเจนและเกิดเป็น oxyluciferin ซึ่งเป็นโมเลกุลที่อยู่ในรูปของ inactive form
ต่อมาเราจะมาดูกันว่าเอนไซม์ Luciferase ทำงานในปฏิกิริยานี้อย่างไร
- โปรตีน Luciferin จะจับกับ ATP (Adenosine triphosphate) ซึ่งพบได้ทั่วไปในเซลล์ จับกันที่ไหนจับกันอยู่บนผิวของเอนไซม์ Luciferase จากนั้นเอนไซม์ก็จะทำการเร่งปฏิกิริยาเคมีได้ Luciferyl adenylate และ pyrophosphate (PPi) และ Luciferyl adenylate จะยังคงจับอยู่กับเอนไซม์ luciferase
- ปฏิกิริยาในขั้นต่อมา Luciferyl adenylate ก็จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนได้สารตัวใหม่คือ ฯOxyluciferin และ Adenosine monophosphate (AMP) และเมื่อมีการคายพลังงานแสงออกมา Oxyluciferin และ AMP ก็จะหลุดออกมาจากผิวของเอนไซม์
ช่วงความยาวคลื่นของแสงที่หิ่งห้อยสร้างขึ้นมาจะอยู่ในช่วงคลื่น 510-670 นาโนเมตร (nm) นอกจากนี้ยังพบว่าเซลล์ที่สร้างแสงจะมีผลึกของกรดยูริก (Uric acid crystals) อยู่ภายในเซลล์เพื่อช่วยสะท้อนแสงออกมา ส่วนแหล่งออกซิเจน หิ่งห้อยจะได้ออกซิเจนมาจากท่อลมข้างลำตัว (abdominal trachea)
สำหรับเรื่องของการเรืองแสง พบว่าหิ่งห้อยทั้งตัวผู้ ตัวเมีย และตัวอ่อนหิ่งห้อยสามารถเรืองแสงได้เช่นเดียวกัน
เอกสารอ้างอิง
- "Firefly Facts" http://iris.biosci.ohio-state.edu/projects/FFiles/frfact.html
- "Nitric Oxide and Firefly Flashing" http://ase.tufts.edu/biology/Firefly/ มีภาพโครงสร้างของอวัยวะที่ใช้ในการเรืองแสง
- "What Makes a Firefly Glow?" http://gslc.genetics.utah.edu/basic/firefly/
- "หิ่งห้อย" นิตยสาร "สารคดี" เดือนพฤศจิกายน 2541 ฉบับที่ 165
- "Luciferin Details: Chemistry details" http://www.lifesci.ucsb.edu/~biolum/chem/detail2.html
- "How do fireflies light up?" http://www.howstuffworks.com/question554.htm
-
314 การเรืองแสงของหิ่งห้อย /article-biology/item/314-fireflyเพิ่มในรายการโปรด