กลุ่มเด็กรักษ์ปลา ‘ป่าแดด’ ผู้พิทักษ์ลำน้ำ-ต้านภัยสวนส้ม
กลุ่มเด็กรักษ์ปลา ‘ป่าแดด’ ผู้พิทักษ์ลำน้ำ-ต้านภัยสวนส้ม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ลำน้ำลาว เป็นสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่ อ.แม่สรวย และ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก แต่การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่กำลังสร้างความไม่สบายใจให้กับคนในพื้นที่นี้คือ การเข้ามาของสวนส้ม วิธีการกว้านซื้อที่ดินของนายทุน การปลูกส้มที่ใช้สารเคมีเป็นหลัก รวมทั้งการใช้น้ำปริมาณมากในหน้าแล้ง กำลังก่อผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน
จากงานวิจัยในโครงการประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์ ในพื้นที่ อ.แม่สรวย - อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในเบื้องต้น ผลการศึกษาส่วนหนึ่งพบว่า “สวนส้ม”กำลังเป็นภัยคุกคาม ดิน น้ำ ป่า และชีวิต จากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจยุคใหม่ของคนแม่สรวย เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดในตอนนี้ คือ การใช้น้ำของสวนส้มในหน้าแล้ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เริ่มส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน เนื่องจากสวนส้มหลายพันไร่ ต้องการน้ำที่ใช้ในแต่ละวันจำนวนมาก แหล่งน้ำที่ใช้อยู่เดิมเริ่มแห้งขอด
สวนส้มบางแห่งก็จ้างรถแบ๊กโฮมาขุดดินปิดกั้นลำน้ำแม่ลาวเพื่อให้กลายเป็นแอ่งน้ำและใช้ท่อพญานาคขนาดใหญ่สูบน้ำขึ้นไปใช้ในสวนส้ม ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำในการเกษตรเดือดร้อน โดยเฉพาะ “กลุ่มเด็กรักษ์ปลา” ซึ่งทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในบริเวณนั้นได้รับความเดือดร้อน จากคราบน้ำมันจากเครื่องสูบน้ำที่ไหลออกมา และน้ำที่แห้งขอดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาบริเวณนั้นต้องหนีตายออกไปนอกบริเวณ ส่วนที่หนีไม่ทันก็ตายไป และบ้างถูกชาวบ้านบางกลุ่มจับไปขาย
กลุ่มเด็กน้อยรักษ์ปลาต้องช่วยกันกับชาวบ้านทลายแนวปิดกั้นออกให้น้ำไหลดังเดิม และได้ร่วมกันทำทำนบกั้นน้ำเพื่อรักษาระดับน้ำให้ปลาในเขตอนุรักษ์ได้อยู่ต่อไป ซึ่งนี่เป็นเพียงผลกระทบแรกที่ชาวบ้านได้รับ แต่ในอนาคตยังไม่อาจคาดเดาได้ เพราะสวนส้มใช้สารเคมีเป็นพิษ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการขยายพื้นที่ในการปลูกส้มจะขยายออกไปอย่างกว้างขวางจะสร้างปัญหาต่อชุมชนขนาดไหน
กรณิการ์ เจริญวรรณ หรือ ร้องแน๊ทส์ วัย 17 ปี ประธานกลุ่มเด็กน้อยรักษ์ปลา ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “วันนั้นอยู่บ้าน แล้วได้ยินเสียงป้าเรียกให้ไปดูที่แม่น้ำ ที่บริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา เมื่อวิ่งไปดูเห็นว่ามีชาวบ้านทั้งจากที่อื่น และในพื้นที่ขับรถไปจอดไว้ใต้สะพานและกำลังลงไปจับปลาที่น้ำในแม่น้ำแห้งขอด ปลาในเขตกำลังกระเสือกกระสนหนีตาย พยายามว่ายไปหาที่น้ำลึก ปลาตัวเล็กๆ ที่ไปไม่ทันก็เกยตื้นตายอยู่บนหาด ตนกับเพื่อนๆ ต้องรีบลงไปช่วยกันจับปลาให้ลงน้ำและอยู่ในเขต”
“ที่น่าสลดหดหู่ใจ คือ ชาวบ้านในหมู่บ้านที่รู้ทั้งรู้ว่าเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ก็ยังมาจับปลาในเขตนี้ไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ ปลาในเขตอนุรักษ์หายไปเยอะมาก เหลือไม่ถึง 20% เห็นจะได้” น้องแน๊ทส์พูดด้วยความเป็นห่วง
กลุ่มเด็กน้อยรักษ์ปลาเกิดจากการรวมตัวกันของเด็กจาก 2 หมู่บ้านใน ต.ป่าแดด จากการกระตุ้นของโครงการรักษ์แม่ลาวซึ่งทำงานรณรงค์อยู่ในพื้นที่ ชวนเด็กๆ ใช้เวลาหลังเลิกเรียน มาปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงของน้ำแม่ลาวในอดีตกับปัจจุบัน และมาจบลงที่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ การสูญหายไปของพันธุ์ปลาในลำน้ำแม่ลาว ที่ลดน้อยลงไปมาก จึงเกิดความคิดที่จะทำเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาขึ้น
การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเด็กน้อยรักษ์ปลาได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และกลุ่มองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ และเวลาจะทำอะไร เด็กๆ ก็จะปรึกษาผู้ใหญ่ก่อน
น้องแน็ทส์เล่าต่อไปว่า “กลุ่มเด็กน้อยรักษ์ปลาได้เลือกช่วงลำน้ำแม่ล่าวบริเวณใต้สะพานบ้านดอนสลี ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำที่ค่อนข้างลึกกว่าจุดอื่นทำเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ทำเขตประมาณ 800 เมตร และขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานกรมประมงในจังหวัดเพื่อขอพันธุ์ปลามาปล่อยเพิ่มเติม มีกิจกรรมสืบชะตาน้ำแม่ลาวและปล่อยพันธุ์ปลาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2545 และในงานสืบชะตาน้ำแม่ลาวกลุ่มเด็กๆ ได้ช่วยกันขายน้ำสมุนไพรจนได้เงินมากว่า 1,000 บาท จึงนำมาเป็นทุนในการซื้ออาหารปลามาจำหน่ายบริเวณบนสะพานดอนสลี และกิจกรรมของเด็กๆ ก็ดำเนินมาด้วยดี”
ช่วงแรกๆ มีเสียงต่อต้านจากชาวบ้านที่หาปลา ว่าทำไมกลุ่มเด็กมาตั้งเขตกีดกัน เด็กๆ พยายามอธิบายเหตุผลให้ฟังว่า ตรงนี้ในเขตประมาณ 1 กิโลเมตรนี้ ขอเป็นเขตอนุรักษ์และขยายพันธุ์ปลาไว้ให้ลูกหลานในอนาคต ถ้าชาวบ้านจะหาปลาก็สามารถหาตรงที่อื่นๆ ในลำน้ำได้ และถ้าปลาในเขตมีมากก็ปล่อยออกไปให้จับได้
ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มเห็นว่าปลาที่จับได้มากขึ้น และเป็นปลาพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งคือปลาที่เด็กๆ ปล่อยออกไปนอกเขตให้จับ เลยเริ่มเข้าใจกันมากขึ้น
แต่แล้วปลาที่เด็กๆ ฟูมฟักจนมีขนาดใหญ่ขึ้น และจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ต้องมาเจอกับเหตุการณ์สวนส้มแพร่สารพิษเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2547 ที่ผ่านมา สร้างความรู้สึกสูญเสียให้กับกลุ่มเด็กน้อยรักษ์ปลาอย่างยิ่ง จากเหตุการณ์ดังกล่าวกลุ่มชาวบ้านก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสวนส้มและอำเภอว่าการกระทำของสวนส้มได้ก่อความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม แม้สวนส้มแสดงความรับผิดชอบด้วยการจะจัดหาพันธุ์ปลามาปล่อยทดแทน แต่จากการกระทำดังกล่าวชาวบ้านก็ไม่มั่นใจว่า ในอนาคตจะไม่ทำอย่างนี้อีก
ตัวแทนเด็กน้อยรักษ์ปลา กล่าวว่า หากต่อไปเขายังทำอีก และแสดงความรับผิดชอบด้วยวิธีเช่นนี้ และเขายังทำต่อไปเรื่อยๆ ปัญหามันก็จะมีอีกในอนาคต ดีไม่ดีอาจจะมีปัญหาสารพิษเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะสวนส้มต้องใช้สารเคมีมาก ทั้งฉีดพ่น และการซึมเปื้อนลงแม่น้ำ
กรณี “สวนส้ม” เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาที่ผู้มีอำนาจควรตระหนักให้มาก และเสียงสะท้อนกับความร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มเด็กน้อยรักษ์ปลา ชาวบ้านป่าแดด ก็เป็นการแสดงออกถึงบทบาทเพื่อปกป้องสิทธิในการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และนี่คือ กิจกรรมดีๆ ของ “เมล็ดพันธุ์” ของอนาคตที่ดีแห่งบ้านป่าแดด
เอกสารอ้างอิง
*** หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2547, หน้า 9
เว็บไซต์สำหรับศึกษาเพิ่มเติม (search by spong@)
1. http://www.rdi.ku.ac.th/troprice_th/Safe.htm
การปฏิบัติที่ปลอดภัย - การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย
2. http://www.chemtrack.org/Law-Chem.asp?ID=DIW
ฐานการจัดการความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2546
3. http://www.info.tdri.or.th/poverty/trf1.pdf
สรุปการประชุม รายงานวิจัยส่วนหนึ่งของโครงการ "การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาส
ในสังคมไทย" ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.8 ตุลาคม 2546
4. http://www.seet.or.th/
โครงการสร้างความเข้มแข็งสิ่งแวดล้อมศึกษาในประเทศไทย - มีข่าวและกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากมาย
ที่สามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนได้
-
389 กลุ่มเด็กรักษ์ปลา ‘ป่าแดด’ ผู้พิทักษ์ลำน้ำ-ต้านภัยสวนส้ม /article-biology/item/389-conserveเพิ่มในรายการโปรด