ฤทธิ์ของพิษงู
ฤทธิ์ของพิษงู
งู สัตว์เลื้อยคลานที่คนทั่วไปมักจะหวาดกลัวในพิษของมัน แต่งูนั้น ก็มีทั้งชนิดที่มีพิษ และชนิดไม่มีพิษ โดยในประเทศไทยมีรายงานอุบัติการณ์งูพิษกัดประมาณ 7,000-10,000 รายต่อปี เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า พิษของงูนั้นมีกี่ชนิด และส่งผลอะไรต่อเหยื่อได้อย่างไรบ้าง
ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนมีทั้งพื้นที่ลุ่ม ป่า และภูเขาจึงทำให้มีงูชุกชุม ส่วนใหญ่เป็นงูไม่มีพิษ งูพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์เพราะมีคนถูกพวกมันกัดบ่อยๆ มีอยู่ 7 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ งูเห่า , งูจงอาง , งูกะปะ , งูเขียวหางไหม้ , งูแมวเซา , งูสามเหลี่ยม , งูทับสมิงคลา
...ส่วนที่น่าสนใจคือ พิษของพวกสามารถออกฤทธิ์อะไรกับเราได้บ้าง?
พิษงูสามารถแบ่งออกได้ตามฤทธิ์ของมันดังนี้
- Neurotoxins เป็นพิษที่ทำลายประสาท พบได้ในงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา และงูทะเล พิษชนิดนี้มีโมเลกุลขนาดเล็ก สามารถถูกดูดซึมได้รวดเร็วไปตามกระแสเลือด ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยเกิดหนังตาตก พูดไม่ชัด หายใจไม่สะดวก
- Hemorrhagins เป็นพิษที่ทำลายผนังด้านในของหลอดเลือด (vascular endothelium) ทำให้เม็ดเลือดแดงเล็ดลอดออกมาจากผนังหลอดเลือดที่ถูกทำลาย ผู้ป่วยจึงมีเลือดออกตามที่ต่างๆ เช่น ตามผิวหนัง ไรฟัน ในสมอง กระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นต้น พบได้ในพิษของงูกะปะ งูเขียวหางไหม้และงูแมวเซา
- Procoagulant enzymes เป็นพิษที่ไปกระตุ้นระบบการกลายเป็นลิ่มของเลือด เช่น งูแมวเซา ไปกระตุ้น factors V และ X พิษงูกะปะและงูเขียวหางไหม้กระตุ้น factor I (fibrinogen) ทำให้เลือดไม่กลายเป็นลิ่ม เกิดเลือดออกตามที่ต่าง ๆได้
- Myotoxin เป็นพิษที่ทำลายกล้ามเนื้อ (rhadomyolysis) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง กล้ามเนื้อแข็ง ถ่ายปัสสาวะดำ (myoglobinuria) และมีโปตัสเซียมในเลือดสูงพบได้ในพิษงูทะเล
- Cytotoxins เป็นพิษที่พบได้ในงูเห่า งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ และงูแมวเซา (ไม่พบในงูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลา) จะทำให้บริเวณที่ถูกกัดบวมเน่าได้ บางรายเกิดตุ่มน้ำเหลืองพุพอง และอาจมีน้ำเลือดแทรกอยู่ได้ ผู้ป่วยบางรายเนื้อเน่าลึกจนถึงกล้ามเนื้อ อาจพบการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ ซึ่งจะเห็นได้บ่อยในรายงูเห่าหรืองูกะปะกัด ถ้าเกิดการบวมในตำแหน่งที่ขยายไม่ได้ เช่น ที่หน้าขาการบวมอาจไปกดการไหลเวียนของเลือดเกิดภาวะ compartment syndrome ได้ การวินิจฉัยภาวะนี้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากการคลำการเต้นของหลอดเลือดในตำแหน่งที่บวมได้ไม่ชัดเจน
- Cardiotoxins เป็นพิษที่ทำลาย cell membrane ของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และเกิดความดันเลือดต่ำได้ พบในพิษงูเห่า งูกะปะ และงู บางชนิดในต่างประเทศที่อยู่ในตระกูล Viperidae เช่น adders และ rattlesnakes
- Autopharmacological substances เป็นพิษที่ทำให้เกิดอาการหลายอย่าง ซึ่งเป็นฤทธิ์ของสารคัดหลั่ง สารจำพวก histamine serotonin และ kinins จะทำให้ผู้ป่วยที่ถูกงูกัดมีอาการปวดแผล ใจสั่น ปวดท้อง ท้องเสีย เหงื่อออก ความดันเลือดต่ำ บางรายมีอาการบวมตามริมฝีปากและลิ้นทันทีหลังจากถูกงูกัด
- Nephrotoxin เป็นพิษทำลายไตโดยตรงพบในงูแมวเซา แต่ผู้ป่วยที่ถูกงูพิษชนิดอื่นกัดก็อาจจะพบไตเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งเป็นผลทางอ้อม เช่น เกิดจากการอุดตันของ myoglobin หรือ fibrin หรือเกิดหลังจากภาวะช็อคได้ และอาจเกิดจาก immune complex ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของการรวมของพิษงู (antigen) และเซรุ่ม (antibody) ซึ่งจะถูกขับออกทางไตทำให้ไตเสื่อมสภาพได้
- Hemolysis เป็นพิษทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ภาวะนี้เกิดได้อย่างชัดเจนในหลอดทดลอง แสดงให้เห็นได้โดยการนำพิษผสมงูรวมกับเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดแดงจะแตกสลาย แต่ภาวะนี้เกิดขึ้นน้อยมากในผู้ป่วยที่ถูกงูกัด
ภาพจาก
http://pet.kapook.com/view87130.html
เนื้อหาจาก
http://www.saovabha.com/th/clinicpoison01.asp?nTopic=4
http://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/snake
-
4820 ฤทธิ์ของพิษงู /article-biology/item/4820-2016-09-06-11-12-39เพิ่มในรายการโปรด