แสงแดด VS ผิวหนัง VS สารกันแดด (Part I)
แสงแดด VS ผิวหนัง VS สารกันแดด (Part I)
อย่างที่รู้กันว่าประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศเขตร้อน ที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวตามชายหาด หรือชายทะเล และค่านิยมของคนไทยที่อยากจะมีผิวขาวทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดนานาชนิด ออกมาวางขายมากมายในตลาด แต่เคยสงสัยไหมว่า แท้จริงแล้วแสงแดดมีผลอย่างไรต่อร่างกายมนุษย์ได้บ้าง และร่างกายมนุษย์ ก็ไม่สามารถขาดแสงแดดได้เช่นกัน
มาดูกันว่า แสง UV หรือ Ultraviolet light ที่เรากลัวกันนักหนานั้น มีผลเสียต่อผิวหนังอย่างไรได้บ้าง
- ผลที่เกิดขึ้นได้ภายในระยะสั้นๆ ได้แก่ ผิวหนังไหม้จากแสงแดด , ผิวหนังมีสีคล้ำลง เนื่องมาจากมีการกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนัง
- ผดที่เกิดขึ้นตามมาเมื่อโดนแสงแดดซ้ำๆในระยะยาว ก็จะทำให้ผิวหนังเสื่อมหรือผิวหนังแก่เร็ว เช่นทำให้เกิดริ้วรอยย่น ผิวหนังกำพร้าบางลง เส้นเลือดขยาย เกิดรอยฝ้าตกกระ เป็นต้น หากสังเกตที่ตัวเรา จะเห็นได้ว่าผิวหนังบริเวณนอกร่มผ้ามีความหยาบ ย่น และความผิดปรกติของสีผิวเกิดขึ้นมากกว่าในร่มผ้า
- มีความเสี่ยงสำหรับการเกิดเนื้องอกผิวหนังและมะเร็งผิวหนัง
- ทำให้เกิดความผิดปรกติของระบบภูมิต้านทาน
- ทำให้เกิดต้อเนื้อและต้อกระจกที่ตา
- ในบางรายอาจเกิดโรคแพ้แสงแดด เช่น โรดลูปัส หรือโรคแพ้แสงแดดที่เป็นพันธุกรรมเป็นต้น
แสง UV นี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 โซนด้วยกัน ประกอบด้วย UVC ( ช่วงคลื่นความยาวระหว่าง 200-290 nm) , UVB ( ช่วงคลื่นความยาวระหว่าง 290-320 nm) และ UVA ( ช่วงคลื่นความยาวระหว่าง 320-400 nm) แต่เนื่องจากคลื่นความยาวของแสงที่มาถึงพื้นโลกได้จะมีค่าคลื่นความยาวมากกว่า 290 nm ดังนั้น สิ่งที่พวกเรามักจะเจอกันบ่อย หรือได้ยินในโฆษณา หรือเห็นในป้ายผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดจะเป็นในส่วนของ UVB และ UVA เสียส่วนใหญ่ แต่อันที่จริงแล้วในบริเวณยอดเขาสูง ก็อาจพบ UVC ได้เช่นกัน เนื่องจากปรกติ UVC จะถูกดูดซับโดยชั้นโอโซนในบรรยากาศ แต่ในปัจจุบัน มีการใช้สาร chlorofluorocarbons , halons , nitric oxide , carbon tetrachloride , และ methyl chloroform ในอุตสาหรรมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ อุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น โฟมที่ใช้เป็นฉนวน และตัวทำลาย รวมถึงยาฆ่าแมลงที่มีสาร methyl bromide ได้ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ จึงทำให้ความสามารถในการดูดซับแสง UV ในบรรยากาศลดลง ทำให้เราได้รับปริมาณแสง UV มากขึ้น
แล้วผลกระทบของแสง UV จะมีผลมากน้อยเพียงใดต่อผิวหนังมีปัจจัยอะไรบ้าง ?
- ระยะเวลาและความถี่ที่ผิวหนังต้องเจอกับแสงแดด
- ความเข้มข้นของแสง ซึ่งความเข้มข้นของแสงขึ้นอยู่กับช่วงเวลา และตำแหน่งของผิวโลก เช่น ช่วงสายถึงบ่ายต้นๆ จะมีความเข้มข้นของแสงสูง หรือประเทศที่ตั้งอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะมีความเข้มข้นของแสงสูงกว่าบริเวณอื่น
- พันธุกรรม และสีผิว ในคนผิวคล้ำจะมีเมลานินซึ่งเป็นตัวดูดซับแสง UV ป้องกันการเกิดอันตรายต่อเซลล์ผิวหนังได้ดีกว่าคนผิวขาว
เนื้อหาจาก
http://www.webmd.com/beauty/sun/sun-exposure-skin-cancer
http://www.brecosmeticlab.com/newslet/51/04_apr/007_uv_effect.html
https://www.doctor.or.th/article/detail/1632
http://www.inderm.go.th/Health/health_21.htm
http://www.skincancer.org/prevention/sun-protection/sunscreen
ภาพจาก
http://www.gettyimages.com
https://sundicators.com/2016/05/important-protect-your-skin-from-sun/
https://en.wikipedia.org/wiki/Ozone_layer-
4825 แสงแดด VS ผิวหนัง VS สารกันแดด (Part I) /article-biology/item/4825-vs-vs-part-iเพิ่มในรายการโปรด