ข้าวชนิดต่าง
ข้าวชนิดต่าง
สุนทร ตรีนันทวัน
ข้าว ซึ่งจัดว่าเป็นอาหารหลักของคนเรา เดิมทีข้าวมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตอนใต้ มีหลักฐานเกี่ยวกับการปลูกข้าวมีมานานกว่า 6500 ปี ในประเทศอินเดีย และทางตะวันออกของประเทศจีน ครับ และต่อมาใน พ.ศ. 1543 ก็เริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป
ปัจจุบันนี้นะครับ คนในประเทศต่าง ๆ ของทวีปเอเซีย เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคข้าวกลุ่มใหญ่ที่สุดของประชากรทั้งโลก เรียกได้ว่าข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรโลกมากกว่าครึ่ง
ชนิดของข้าวที่นิยมบริโภค
เราอาจแบ่งข้าวออกเป็นประเภทตามขนาดของเมล็ด คือข้าวเมล็ดยาวและข้าวเมล็ดสั้นหรือแบ่งตามกรรมวิธีการขัดสี คือข้าวกล้องและข้าวขาว ตัวอย่างเช่น ข้าวขาวหอมมะลิเป็นข้าวเมล็ดยาวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่ง เวลาหุงจะมีกลิ่นหอม แต่ถ้าเป็นข้าวกล้องหอมมะลิเวลาหุงจะมีกลิ่นหอมยิ่งกว่าและมีวิตามินแร่ธาตุรวมทั้งใยอาหารมากกว่า ข้าวที่นิยมบริโภค เช่น
ข้าวอาร์โบริโอ ( arborio rice ) เป็นข้าวเมล็ดเล็กสั้น เมื่อหุงแล้วจะแฉะ นิยมนำมาทำอาหารอิตาเลี่ยนชื่อ ริชอตโต (risotto)
ข้าวบาสมาติ ( basmati rice ) เป็นข้าวเมล็ดยาว มีกลิ่นหอม แหล่งผลิตสำคัญอยู่ในอินเดีย ข้าวชนิดนี้มีชื่อว่า “ เจ้าชายแห่งข้าว”
ข้าวเหนียว (glutinous rice ) แบ่งเป็น 2 สี คือ ข้าวเหนียวดำกับข้าวเหนียวขาว ส่วนใหญ่นิยมบริโภคในแถบเอเซีย ชาวตะวันตกนิยมนำข้าวเหนียวขาวไปทำขนมพุดดิ้ง จึงเรียกข้าวเหนียวว่า พุดดิ้งไรซ์ (pudding rice ) คนไทยในภาคเหนือและอีสานนิยมกินข้าวเหนียวมากกว่าข้าวเจ้า ส่วนคนไทยภาคกลางนิยมนำข้าวเหนียวทั้งขาวและดำมาทำขนมหวาน เช่น ข้าวหลาม ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวสังขยา ข้าเหนียวเปียก เป็นต้น
ข้าวหอมมะลิ (jasmine rice ) เป็นพันธุ์ข้าวของไทย เมล็ดเรียวมีกลิ่นหอม คล้ายกับข้าวบาสมาติ แต่ข้าวหอมมะลิจะเหนียวกว่า คนไทยและคนจีนนิยมบริโภคมาก
คนไทยรู้จักการทำนาข้าวมานานหลายพันปี ข้าวที่ปลูกในยุคนั้นมีอยู่ 2 ชนิดคือ ข้าวเมล็ดใหญ่งอกงามบนที่สูง กับข้าวเมล็ดป้อมงอกงามในที่ลุ่ม ข้าวทั้ง 2 ชนิดนี้เมื่อหุงหรือนึ่งเมล็ดจะเหนียวติดกัน อาจกล่าวได้ว่าข้าวเหนียวเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงตอนบน แล้วแพร่กระจายออกไปทุกทิศทุกทาง รวมทั้งพื้นที่ซึ่งเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
ข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่ง จึงเป็นข้าวคู่คนไทยมาช้านาน ในสมัยสุโขทัย คนไทยทั้งในภาค เหนือ อีสาน กลางและใต้ ต่างก็กินข้าวเหนียวเหมือนกันหมด
ส่วนข้าวเจ้าเป็นพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศ มีแหล่งกำเนิดอยู่แถบเบงกอล แพร่กระจายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 1000 และต่อมารับประทานกันแพร่หลาย
พันธุ์ข้าว
ข้าว เป็นธัญพืชตระกูลเดียวกับหญ้า นักวิทยาศาสตร์แบ่งข้าวออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือข้าวที่ปลูกในแอฟริกาและเอเซีย แต่ข้าวที่มีบทบาทสำคัญในตลาดโลกคือข้าวจากเอเซีย ซึ่งแบ่งตามแหล่งที่ปลูกได้ดังนี้
อินดิกา (indica ) เป็นข้าวที่ปลูกในเขตลมมรสุม ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา ไทย ไปจนถึงเวียดนามและจีน จะมีต้นสูง ฟางอ่อน เมล็ดข้าวยาวรี ข้าวเกือบทุกชนิดที่ปลูกในเมืองไทยเป็นข้าวจำพวกอินดิกา ซึ่งมีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว
จาปอนิกา (japonica ) เป็นข้าวที่ปลูกในเขตอบอุ่น เช่นญี่ปุ่น เกาหลี มีต้นเตี้ย ฟางแข็ง เมล็ดข้าวป้อม หุงแล้วเมล็ดติดกัน ไม่ร่วน
จาวานิกา (javanica ) เป็นข้าวเมล็ดเรียวใหญ่ มีหาง ปลูกมากในประเทศอินโดนิเซีย
ภาพประกอบด้วย : http://www.tkc.go.th/eng/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=152&directory=1498&pagename=content&contents=3109&parent=111
-
509 ข้าวชนิดต่าง /article-biology/item/509-riceเพิ่มในรายการโปรด