ไข่เยี่ยวม้า...ตอนที่ 1
...ไข่เยี่ยวม้า ตอนที่ 1...
สุนทร ตรีนันทวัน
ไข่เป็นอาหารที่สำคัญของคนเราทุกเพศทุกวัย นอกจากเราจะใช้ไข่ทำอาหารคาวและอาหารหวานต่าง ๆ แล้ว เรายังมีการพัฒนาหรือคิดค้นหาวิธีการเก็บถนอมรักษาไข่ไว้ในรูปต่าง ๆ กัน วิธีที่เราคุ้นเคยกันนะครับก็ได้แก่ ไข่เค็ม แต่ก็ยังมีอยู่อีกวิธีหนึ่งที่หลายคนได้ยินชื่อกันมาบ้างแล้วหรือเคยกินกันมาบ้างแล้ว ก็คือ ไข่เยี่ยวม้านั่นเอง ถึงแม้ว่าบางคนไม่ทราบว่าไข่เยี่ยวม้านั้นมีวิธีในการทำอย่างไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกับไข่เยี่ยวม้าด้วยกันนะครับ
http://bbs.asiasoft.co.th/showthread.php?t=180052&page=184
สำหรับไข่เยี่ยวม้านี่นะครับ นึก ๆ ดูแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจเป็นอันมาก ที่คนเราอุตส่าห์สรรหาวิธีการต่าง ๆ กันที่จะเก็บถนอมรักษาไข่ ในลักษณะที่เรียกว่า ไข่เยี่ยวม้า ซึ่งเก็บไว้ได้นานมาก พวกฝรั่งหรือชาวตะวันตกเขาเรียกไข่เยี่ยวม้าว่าไข่พันปี (thousand year egg)ไข่เยี่ยวม้าจัดเป็นอาหารจีนที่คนในภาคพื้นเอเชียรู้จักกันมานานหลายร้อยปีแล้วนะครับ ตามประวัตินะครับมีการทำมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หมิงของจีน (พ.ศ. 1911 – 2186) เป็นอาหารที่นิยมกันมากในประเทศจีนและต่อมาก็ได้แพร่ออกไปตามประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเ ชียทั่ว ๆ ไป รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย
สำหรับกรรมวิธีในการผลิตไข่เยี่ยวม้า ในสมัยโบราณนั้นเป็นวิธีทำที่ไม่สลับซับซ้อนอะไรนัก คือใช้ไข่เป็ดพอกด้วยขี้เถ้าไม้ผสมกับดิน และในสมัยราชวงศ์หมิงก็ได้พัฒนาขึ้นมาบ้าง โดยใช้ขี้เถ้าไม้ผสมกับปูนขาว เกลือ โซเดียมคาร์บอเนตผสมคลุกเคล้ากับน้ำใบชา แล้วนำไปพอกไข่เป็ดทิ้งไว้ในภาชนะนานประมาณ 30 – 50 วัน ก็จะได้ไข่เยี่ยวม้า แต่ปัจจุบันนี้มีผู้คิดค้นสูตรการทำไข่เยี่ยวม้าต่าง ๆ กันหลายสูตรนะครับ
การทำไข่เยี่ยวม้า ไม่ว่าสูตรไหน ๆ ก็มีหลักการใหญ่ ๆ เหมือนกันทั้งนั้น คือต้องใช้สารหรือวัตถุดิบที่มีสภาพเป็นเบสหรือชาวบ้านเรียกว่า ด่าง เป็นส่วนผสมด้วยเสมอ เช่น
ปูนขาว โซเดียมคาร์บอเนต โซเดียมไฮโดรคาร์บอเนต มาทำให้เป็นน้ำด่าง แล้วให้น้ำด่างนี้
ค่อย ๆ ซึมผ่านรูพรุนเล็ก ๆ ที่เปลือกไข่ เข้าไปในไข่ขาวและไข่แดง ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีขึ้น ทำให้ไข่ขาวและไข่แดงเปลี่ยนสภาพเกิดการแข็งตัวคล้าย ๆ กับวุ้นและมีการเติมน้ำชาซึ่งจะทำให้ไข่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นสีน้ำตาล
การที่น้ำด่างซึมเข้าไปในไข่ขาว และไข่แดง ก็จะทำให้ทั้งไข่ขาวและไข่แดงมีสภาพเป็นด่างด้วยครับ การทดลองของนักวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบว่า เมื่อไข่แดงและไข่ขาวมีค่า pH 11.3 ถึง 11.7 เป็นช่วงที่เหมาะสมที่เอนไซม์จะไปแปรสภาพกรดอะมิโนในไข่ให้เกิดการแข็งตัวขึ้นคล้าย กับวุ้น
ทั้งนี้ก็เพราะว่าเอนไซม์บางตัวเปลี่ยน พวกกำมะถันในโปรตีนที่อยู่ในไข่ให้กลายเป็นไฮโดรเจนซัลไฟด์และแอมโมเนีย นี่เองที่เป็นกลิ่นเฉพาะของไข่เยี่ยวม้า ซึ่งเราจะได้กลิ่นทันทีเมื่อปอกไข่ แต่เมื่อทิ้งไว้พักหนึ่งกลิ่นก็ระเหยไปหมด และนอกจากนี้ไฮโดรเจนซัลไฟด์ยังมีส่วนทำให้ไข่เยี่ยวม้าเป็นสีน้ำตาลคล้ำด้วยเช่นกัน
ที่จริงแล้วหลักการใหญ่ ๆ ในการทำไข่เยี่ยวม้าเหมือนกันทั้งหมด แตกต่างกันในส่วนปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม
การทำไข่เยี่ยวม้าในปัจจุบันนี้ทำกัน 2 แบบ คือ
1. ทำโดยใช้วิธีพอกด้วยสารพวกที่เป็นด่างกับขี้เถ้า และสารอื่น ๆ อีกบางชนิด ทำโดยการพอกสารนั้นกว่าจะได้ไข่เยี่ยวม้านั้นต้องใช้เวลานานประมาณ 35 – 50 วัน ก็จะได้ไข่เยี่ยวม้า
2. ทำโดยใช้วิธีแช่ในสารละลายพวกด่าง สารละลายของโซเดียมคาร์บอเนต ปูนขาว และสารอื่น ๆ อีกหลายชนิด จะใช้เวลาเพียง 10 – 12 วัน
พวกสารอื่นๆก็ใช้กันในการทำไข่เยี่ยวม้านะครับ เช่น เกลือ เพื่อทำให้ไข่มีรสดีขึ้น และเป็นส่วนที่ทำให้เก็บไข่ได้นานด้วย พวกใบชาหรือน้ำชา เพื่อทำให้ไข่มีสีคล้ำขึ้น มองดูน่ารับประทาน
-
512 ไข่เยี่ยวม้า...ตอนที่ 1 /article-biology/item/512-preserved-egg1เพิ่มในรายการโปรด