ชะพลูคู่กับเมี่ยงคำ
ชะพลูคู่กับเมี่ยงคำ
สุนทร ตรีนันทวัน
หลาย ๆ คนคงจะเคยรับประทานเมี่ยงคำ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารับประทานเมี่ยงคำจะต้องนึกถึงใบพืชชนิดหนึ่งที่นำมาห่อเมี่ยง ก็คือใบ ชะพลู นั่นเอง ชะพลูมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พิเพอร์ ซาเมนโตซัม (Piper sarmentosum Roxo) ทางภาคเหนือเรียกว่า ช้าพลู เชียงใหม่เรียก พลูลิง หรือ พลูลิงนก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ผักบูลิง ผักนางเล็ด ชะพลูจัดเป็นไม้ล้มลุกแบบเลื้อยไปตามพื้นดิน ชอบขึ้นตามที่ลุ่ม ชื้นแฉะ ใบคล้าย ๆ กับใบโพธิ์หรือคล้ายใบพลูที่กินกับหมาก มีการนำมาปลูกตามบ้าน ขึ้นทุกจังหวัดในประเทศไทย ใบมีรสเผ็ด ใบที่โตเต็มที่กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 17 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ รูปทรงกระบอก มีสีขาว ๆบริเวณส่วนข้อของ ไหล ( Stolon ) ที่ทอดเลื้อยไปตามพื้นดินจะมีรากแตกออกมาหยั่งลึกลงไปในดิน วิธีปลูกขยายพันธุ์ทำได้ง่าย ๆ คือ เด็ดหรือตัดต้นที่เลื้อยไปปักชำ ต่อมาก็จะเจริญเติบโตต่อไปได้
ชะพลู จัดเป็นพืชทั้งสมุนไพรและอาหาร คือ ส่วนใบ ยอดอ่อน รับประทานเป็นพืชผักหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่แกงเผ็ดหรือแกงกะทิ ซึ่งมีรสชาติดี ใบอ่อนออกตลอดปี แต่ในฤดูฝนจะมียอดอ่อนแตกออกมามากในภาคกลางนิยมนำใบมารับประทานกับเมี่ยงคำ โดยห่อเครื่องปรุง เช่น มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสง ขิง หอม พริกสด ตะไคร้ ราดด้วยน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยวเหลว ๆ
ชะพลูยังใช้เป็นยาสมุนไพรด้วย คือ ใช้ส่วนต่าง ๆ เช่น ราก ลำต้น หรือใบ ช่วยในการบำรุงธาตุ ขับเสมหะในลำคอ แก้ปวดท้องจุกเสียด ใบชะพลูมีรสเผ็ดเล็กน้อย
***ใบชะพลูสด 100 กรัม ให้ประโยชน์ได้ดังนี้****
ให้พลังงาน 101.0 กิโลแคลอรี่
เส้นใย 4.6 กรัม
แคลเซี่ยม 601.0 มิลิกรมั
ฟอสฟอรัส 30.0 มิลลิกรัม
เหล็ก 7.6 มิลลิกรัม
ไนอาซีน 3.4 มิลลิกรัม
วิตามิน ซี 10.0 มิลลิกรัม
วิตามิน บี 1 0.13 มิลลิกรัม
วิตามิน บี 2 0.11 มิลลิกรัม
ออกซาเลท 691.0 มิลลิกรัม
วิตามิน เอ 21250.0 หน่วยสากล
-
523 ชะพลูคู่กับเมี่ยงคำ /article-biology/item/523-chaphluandmiangkhamเพิ่มในรายการโปรด