ถั่วเหลืองกับสุขภาพ
...ถั่วเหลืองกับสุขภาพ...
สุนทร ตรีนันทวัน
เราคงจะรู้จัก น้ำนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าฮู้หรือเต้าฮวย นอกจากจะรู้จักและก็คงจะเคยรับประทานกันมาแล้วด้วย ซึ่งทั้งสองอย่างทำมาจากถั่วเหลืองครับ เมื่อพูดถึงถั่วเหลืองนะครับ นับว่าเป็นถั่วที่มีประโยชน์อย่างมากครับ ถั่วเหลือง จัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีขนยาวคลุมอยู่ทั่วทุก ๆ ส่วน ใบเป็นใบประกอบ ใบมีขนทั้งด้านบนและด้านล่าง ดอกเล็กสีขาวอมม่วง ฝักถั่วเหลืองแบน ๆ มีเมล็ด 2 – 5 เม็ด
คุณค่าด้านอาหาร
ถั่วเหลืองเป็นพืชที่ให้โปรตีนสูงและไขมันที่ร่างกายต้องการ ส่วนประกอบของถั่วเหลืองมีสารอาหารครบครัน คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เหล็ก แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามมิน บีหนึ่ง บีสอง บีหก บีสิบสอง สารไนอาซิน วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี และเลคซิติน ถั่วเหลืองปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด
การรับประทานถั่วเหลือง ทางการแพทย์กล่าวว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษากระดูกของเราให้แข็งแรง และลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อมีอายุมากขึ้น เป็นภาวะที่กระดูกบางมีเนื้อกระดูกน้อย ทำให้กระดูกแตกหักได้ง่ายเมื่อหกล้ม ปัจจัยที่เร่งทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนก็คือการได้รับอาหารที่มีแคลเซี่ยมน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานานตั้งแต่วัยหนุ่มสาวประกอบกับการไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง ช่วยลดการสูญเสียเนื้อกระดูก สำหรับแคลเซี่ยมและวิตามินดี ช่วยส่งเสริมการสร้างกระดูก
ถั่วเหลืองให้แคลเซี่ยม ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถัวเหลืองสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพของกระดูกได้ คือ
- ถั่วเหลืองเป็นแหล่งของแคลเซี่ยม
- ถั่วเหลืองช่วยป้องกันการสูญเสียแคลเซี่ยม
- ถั่วเหลืองช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก
โปรตีนในถั่วเหลืองช่วยปกป้องแคลเซี่ยม กระดูกของคนเราจะมีการสร้างและการสลายอยู่ตลอดเวลา อัตราการสร้างจะมากกว่าการสลายเมื่ออยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโต จนถึงอายุประมาณ 25 ปี ต่อมาในช่วงอายุ 25 – 35 ปี การสร้างและการสลายของกระดูกจะสมดุลกัน อายุ 35 ปีขึ้นไป อัตราการสลายกระดูกจะมากกว่าการสร้าง โปรตีนจากถั่วเหลืองช่วยทำให้การสูญเสียแคลเซี่ยมลลดลงครับ จากการศึกษามีรายงานว่าผู้บริโภคโปรตีนจากถั่วเหลือง ร่างกายจะมีการขับแคลเซี่ยมออกมาในปัสสาวะลดลง นั่นก็คือช่วยยืดการเป็นกระดูกพรุนได้ครับ.
-
529 ถั่วเหลืองกับสุขภาพ /article-biology/item/529-soybeanเพิ่มในรายการโปรด