โรคไอบีเอส (IBS) อยู่ข้าง ๆ ตัวเรา
โรคไอบีเอส (IBS) อยู่ข้าง ๆ ตัวเรา
สุนทร ตรีนันทวัน
ในปัจจุบันนี้มีชื่อโรคภัยต่าง ๆ ที่เป็นชื่อที่เราไม่ค่อยจะได้ยินมาก่อน เช่น โรคไอบีเอส (IBS-Irritable Bowel Syndrome) ไอบีเอส เป็นคำย่อทางการแพทย์ที่อาจจะไม่คุ้นหูพวกเรามากนัก ทั้ง ๆ ที่มีคนจำนวนมากที่เป็นโรคนี้ ทางการแพทย์เรียกกันว่า โรคลำไส้แปรแรวน แพทย์บางท่านเรียกว่า โรคลำไส้หงุดหงิด
ไอบีเอส เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือที่ส่วนของลำไส้ ซึ่งโครงสร้างหรืออวัยวะของระบบทางเดินอาหารไม่มีอะไรผิดปกติหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ไม่มีพยาธิสภาพอื่นใด นั่นคือปกติทุกอย่าง อาการที่พบบ่อย ๆ เสมอคือมีตั้งแต่ท้องเสีย ท้องผูก หรือทั้งท้องเสียและท้องผูกสลับกันไปมา ผู้ป่วยมักจะปวดท้อง ซึ่งเมื่อได้ถ่ายอุจจาระจะรู้สึกหายปวดและสบายขึ้น หลายคนมีอาการท้องอืดแน่นท้อง ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกว่าถ่ายอุจาระไม่หมดทั้ง ๆ ที่ความจริงถ่ายหมดแล้ว หรือมีมูกปนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ ไอบีเอสแบ่งเป็นสามลักษณะใหญ่ ๆ คือ ท้องผูกเป็นอาการเด่น,ท้องเสียเป็นอาการเด่น,และท้องผูกกับท้องเสียสลับกันเป็นอาการเด่น
สำหรับในประเทศไทยทางการแพทย์คาดว่าผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย อาการของโรคไอบีเอสจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง สร้างความรำราญไปตลอดชีวิต ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ค่อยอยากจะออกไปไหนไกล ๆ เพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับห้องน้ำ บางคนเมื่อมีอาการกำเริบมาก ๆ ปวดท้องมาก ทานยาแล้วก็อาการยังไม่ดีขึ้น บางคนคิดว่าตัวเองเป็นโรคร้ายรักษาไม่หาย ทำให้เกิดอาการเครียดตามมา
ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคไอบีเอส จึงยังไม่มียารักษาเฉพาะหรือการรักษาที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แพทย์ก็รักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาระบายในผู้ที่มีอาการท้องผูก หรือให้ยาแก้ท้องเสีย ถ้ามีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ผลการรักษาจึงยังไม่ดีเท่าที่ควร ผู้ป่วยก็จะเป็น ๆ หาย ๆ นี่แหละครับเป็นโรคที่เกิดขึ้นและเป็นภัยเงียบอยู่ข้าง ๆ เรานี่เอง ครับ
-
536 โรคไอบีเอส (IBS) อยู่ข้าง ๆ ตัวเรา /article-biology/item/536-ibsเพิ่มในรายการโปรด