พืชกินพืช ตอน 2
พืชกินพืช ตอน 2
สุนทร ตรีนันทวัน
โครงการ พืชกินพืช ซึ่งจัดโดยสถาบันราชภัฏอุดรธานี หรือ มหาวิทยัลราชภัฏอุดรธานีในปัจจุบันนี้ และโครงการ พืชกินพืช ก็ได้แพร่หลายออกสู่สถาบัน โรงเรียนต่างๆ เกษตรกร ชาวบ้านทั่วๆไป หลายแห่ง
นับว่าเป็นโครงการที่ดีมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยกำจัดมลพิษจากเศษวัชพืชต่างๆ โดยเฉพาะผักตบชวาจากแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุหรือเป็นสื่อกลางในการปลูกพื ให้พืชกินอาหารจากวัชพืชสื่อกลางที่เปื่อยยุ่ยสลายปลดปล่อยแร่ธาตุออกมาให้พืชที่ปลูกกินได้นั่นเองครับ
การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายทุกคน ควรหันมาให้ความสนใจให้มากขึ้น เพราะอย่างน้อยมันก็มีผลกระทบมาถึงเราในปัจจุบันและในอนาคต พืชกินพืช เป็นแนวทางอย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผล เพราะนอกจากจะช่วยกำจัดวัชพืชให้ลดลง เหลือในปริมาณที่เหมาะสมด้วยการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังช่วยลดปัญหาที่เกิดจากสารพิษตกค้างจากการใช้ปุ๋ยเคมีอีกด้วย
วัสดุหรือวัชพืชที่นำมาเป็นสื่อกลางในการปลูกพืชก็คือ ผักตบชวา ผักตบชวาเป็นวัชพืชที่เราเคยเห็นทั่วๆไปในแหล่งน้ำ และมีปริมาณมากเนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนอาจก่อให้เกิดปัญหากับแหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ดังนั้นการนำเอาผักตบชวามาใช้เป็นสื่อกลางในการปลูกพืช จึงมีส่วนช่วยกำจัดวัชพืชทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
การใช้ผักตบชวาเป็นวัสดุปลูกพืชแทนการใช้ดิน สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาได้หลายประการ เช่น บางแห่งดินอาจมีสมบัติที่ไม่เหมาะสมในการปลูกพืช เช่น สภาพดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายๆแห่ง
วิธีการทำบริเวณสำหรับปลูก
1.นำผักตบชวาขึ้นมาจากแหล่งน้ำ ใช้ไม้ทุบส่วนของลำต้นที่แข็งๆของผักตบชวา ให้แตกเป็นชิ้นๆ เพื่อไม่ให้หน่ออ่อนเจริญเติบโตได้เมื่อนำไปใช้เป็นตัวกลางปลูกพืช แต่ในกรณีที่ผักตบชวาแห้งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทุบ ต่อจากนั้นจึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
2.ใช้แผ่นพลาสติกปูพื้นและใช้อิฐบล็อกวางเป็นขอบทำเป็นแปลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือรูปอื่นๆตามที่ต้องการปลูก ขนาดตามต้องการ แผ่นพลาสติกจะช่วยป้องกันวัชพืชที่จะงอกขึ้นมาในที่ปลูกผัก เราก็ได้แปลงสำหรับปลูกตามต้องการ
3.นำผักตบชวาที่เตรียมไว้ใส่ในแปลงปลูกดังกล่าว ให้มีความหนาเท่ากับความสูงของอิฐบล็อก
4. การปลูกทำได้ 2 วิธี คือ
4.1 ปลูกโดยย้ายต้นกล้าพืชที่เตรียมไว้เช่น มะเขือเทศ ผักกาด ผักคะน้า ฯลฯ ซึ่งเตรียมเพาะไว้ล่วงหน้าแล้ว ผักตบควรให้มีการสลายตัวบ้างแล้ว
อาจจะใช้ไม้ปักยึดต้อนกล้ากันล้ม
4.2 ปลูกโดยการหยอดเมล็ดลงบนผักตบชวาที่ย่อยสลายแล้ว เป็นระยะ
เป็นแถวตามต้องการ หลุมละ 3 - 4 เมล็ด เมื่อต้นอ่อนขึ้นมาแล้วให้ถอนเหลือเพียงหลุมละ 1 ต้น เพื่อจะได้ต้นผักกาดที่ โตเต็มที่
การดูแลรักษา
1. รดปุ๋ยน้ำที่เตรียมจากการนำเอาปู๋ยคอก ใส่ในถังพลาสติกขนาดใหญ่ ครึ่งถัง
ใสน้ำลงไปให้เต็มถัง คนให้เข้ากัน ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน หลังจากนั้นจึงตักน้ำปุ๋ยไปรดแปลงที่ปลูกต่อไป
2. การรดปุ๋ยน้ำควรรดเมื่อต้นพืชอายุได้ประมาณ 15 วัน
หรือ 3. ไม่ต้องรดปุ๋ยน้ำ แต่ใส่ปุ๋ยคอกลงไปในแต่ละหลุมแทน
4. รดน้ำ 2 - 3 วัน ต่อครั้ง เนื่องจากผักตบชวาสามารถอุ้มน้ำได้ดี การรดน้ำควรรดให้ชุ่ม แล้วเก็บเกี่ยวเมื่อโตเต็มที่
ถ้าเป็นต้นมะเขือเทศ จะต้องทำร้านด้วยไม้ เพื่อใช้เชือกผูกยึดลำต้นไม่ให้ล้ม ลองทำดูนะครับ ดัดแปลงได้ตามความเหมาะสมครับ
-
550 พืชกินพืช ตอน 2 /article-biology/item/550-hydroponic2เพิ่มในรายการโปรด