ไฟไหม้ใต้ดิน
ไฟไหม้ใต้ดิน
น่าสงสัยจริงๆ ไฟอะไรไปไหม้อยู่ใต้ดิน
สุนทร ตรีนันทวัน
เราคงจะเคยทราบข่าวกันอยู่บ่อย ๆ ทั้งจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และข่าวทางวิทยุ เกี่ยวกับไฟไหม้อาคารบ้านเรือน โรงงานต่าง ๆ ไฟที่ไหม้แบบนี้เป็นไฟไหม้อยู่บนพื้นผิวดิน แต่เรื่องไฟที่ไหม้อยู่ใต้ดิน และบางครั้งไหม้อยู่นานเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน น่าสงสัยว่าทำไมไฟไหม้อยู่ใต้ดินและไหม้อะไร
เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2540 ประเทศไทยและอีกหลายประเทศได้รับรู้เป็นครั้งแรกที่เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกและใหม่ที่มีหมอกควัน เดินทางไกลมาจากประเทศอินโดนีเซีย มาถึงภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งประเทศบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ก็ล้วนได้รับผลกระทบต่อหมอกควันครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ศูนย์กลางของไฟไหม้อยู่ที่ป่าพรุ ไฟได้ไหม้ป่าพรุ ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นบริเวณกว้างขวาง ครั้งแรกไหม้ป่าบนพื้นผิวดิน และต่อมาไฟนี้ก็ได้ลุกลามไปไหม้อยู่ใต้ดินต่ออีก จนควบคุมไม่ได้ เป็นข่าวไปทั่วโลก
ถัดจากนั้นมาอีกปีเดียวไฟก็ไหม้ครั้งมโหฬารที่ ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ของประเทศไทย ไฟได้ไหม้ตั้งแต่ต้นเดือน มีนาคม พ.ศ. 2541 และควบคุมเพลิงไว้ได้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2541 โดยครั้งแรกไฟลุกไหม้อยู่บนพื้นผิวดิน และต่อมาไฟก็ไหม้ลามลงไปใต้ดิน เช่นเดียวกับประเทศอืนโดนีเซีย
เรามาทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของป่าพรุก่อน แล้วเราจะเข้าใจว่าทำไมไฟจึงไหม้อยู่ใต้ดินได้ ป่าพรุเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่งที่มีดินและน้ำอยู่คู่กันตลอดเวลามานานแล้ว พื้นดินเกิดจากการทับถมของซากพืช เศษกิ่งไม้ใบไม้ ซากสัตว์ อินทรียวัตถุต่าง ๆ มากมายนานมาแล้วจนมีความหนาหลายเมตร และน้ำไม่เคยเหือดแห้งอย่างถาวร ฝนก็ตกหนักเกือบตลอดปี ทำให้กระบวนการย่อยสลายเพื่อให้กลายเป็นดินเป็นไปอย่างช้า ต่างจากกระบวนการย่อยสลายของอินทรียวัตถุในสภาพบนบกที่ไม่มีน้ำขัง ดินป่าพรุจึงมีความยืดหยุ่นสูง เกิดจาการทับถมของสารอินทรีย์ เนื้อดินไม่แข็งแรง น้ำหนักเบา ดินพวกนี้เรียกว่า ดินอินทรีย์ หรือ ดินพีท (Peat) บางครั้งถ้าน้ำในพรุเหือดแห้งไป ดินพีทก็จะกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ไฟก็จะไหม้ลุกลามอยู่ใต้ดิน ค่อยไหม้คุไปเรื่อย ๆ ควันไฟก็มีไม่มาก มีบางครั้งที่ควันไฟโผล่ขึ้นมาเหนือดินบ้างเป็นจุดๆ ไฟที่ค่อยไหม้คุอยู่ใต้ดินแบบนี้ดับยากมากที่สุด เพราะไม่ทราบแน่นอนว่า ไฟไหม้ลุกลามไปถึงไหน ทิศทางไหน มากแค่ไหน
ตอนนี้ก็คงทราบแล้วว่าไฟไหม้ใต้ดินเกิดขึ้นอย่างไร และมักจะเกิดบริเวณไหน บริเวณนั้นมีลักษณะอย่างไร ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือไฟใต้ดินแบบนี้สามารถทำให้เกิดไฟไหม้เหนือดินได้อีกด้วย เพราะความร้อนใต้ดินและอยู่ไม่ลึกจากผิวดินมากนัก ทำให้บริเวณนั้นร้อนมาก จนเกิดไฟลุกไหม้ได้อีก ไฟไหม้ใต้ดินแบบนี้จะไม่มีเปลวไฟให้เห็น นอกจากเห็นควันไฟโผล่ขึ้นมาเหนือดินบ้างเป็นครั้งคราว ในจุดต่างๆเท่านั้นเอง
ไฟไหม้ป่าพรุโต๊ะแดงครั้งนี้ทั้งไฟบนดินและไฟใต้ดิน ทำความเสียหายให้ป่าพรุประมาณ 1,500 ไร่ จากพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ทั้งหมด 125,000 ไร่ ที่สำคัญคือทำความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศบริเวณป่าพรุ ทั้งพรรณพืช พันธุ์สัตว์ ความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย...
-
552 ไฟไหม้ใต้ดิน /article-biology/item/552-fireเพิ่มในรายการโปรด