มะต๋าว
...มะต๋าว...
สุนทร ตรีนันทวัน
หลาย ๆ คนที่เคยรับประทานไอศกรีม ที่เป็นไอศกรีมตักใส่ถ้วย เรามักจะสั่งคนขายว่า ไอศกรีมใส่ถั่วกับลูกชิด หรือไอศกรีมใส่ลูกชิดด้วย หรือน้ำแข็งใสใส่ลูกชิดใส่น้ำหวาน ลูกชิดที่เรารับประทานกับไอศกรีมก็คือ ลูกต๋าว นั่นเองครับ ลูกต๋าวจะมีมากทางภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดน่านครับ คำพื้นเมืองทางภาคเหนือ เรียกกันว่า มะต๋าว หรือ ต๋าว แต่ทางภาคกลางเรียกกันว่า ลูกชิด ครับ คงนึกกันออกนะครับ
ต้นต๋าว จัดเป็นไม้ป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะเร็นกา พินนาตา (Arenga pinnata Merr.) อยู่ในวงศ์ Palmae พวกเดียวกับ มะพร้าว ต้นตาล หรือปาล์มต่าง ๆ ต้นต๋าวมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมและกระจายพันธุ์ อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบในป่าดิบทั่วไป แต่พบมากในป่าแถบจังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน โดยเฉพาะที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่านจะพบต้นต๋าวมากที่สุด
ต้นต๋าวมีความสูงประมาณ 15 – 20 เมตร มีใบประมาณ 50 ทาง ทางหนึ่งมีความยาวประมาณ 6 – 10 เมตร ดอก ของต้นต๋าวเป็นแบบสมบูรณ์เพศคือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ช่อดอกหนึ่งอาจจะยาวประมาณ
2 – 3 เมตร ดอกต๋าวมีสีขาวขุ่น เมื่อโตเต็มที่จะออกดอกทีละทะลาย เมื่อดอกเจริญกลายเป็นผลสุกแก่เต็มที่ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็จะเริ่มออกดอกทะลายใหม่ต่อไปอีก จะออกดอกประมาณ 5 ทะลาย ทะลายหนึ่ง ๆ จะมีผลต๋าวประมาณ 4,000 ผล และต่อมาต้นต๋าวก็จะตายไป
ผลต๋าว มีน้ำยาง ถ้าถูกผิวหนังจะรู้สึกคันมาก ชาวบ้านที่ไปเก็บต๋าวจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สวมเสื้อแขนยาวหรือสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ใส่ถุงมือ บางคนจะใส่แว่นกันน้ำยางเข้าตา ชาวบ้านเมื่อเก็บต๋าวจากต้นมาแล้ว ก็จะนำมาต้มในน้ำเดือด ซึ่งการต้มนั้นชาวบ้านจะต้มใกล้ ๆ ต้นต๋าวนั่นเอง ต้มต๋าวจนเปลือกนุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการบีบเอาเนื้อในออกมา โดยใช้มีดปาดส่วนหัวออกให้เห็นเนื้อข้างในสีขาว ๆ จากนั้นก็เอาไม้หนีบเพื่อให้เนื้อขาว ๆ เป็นเมล็ดหลุดออกมา ซึ่งผลหนึ่ง ๆ จะมีเนื้อใน 2 – 3 เมล็ด แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด
ลูกชิด ที่เรารับประทานกันนั้นก็คือลูกต๋าว หรือเนื้อในของลูกต๋าวที่เชื่อมแล้วจึงมีรสหวาน ส่วนเนื้อในของลูกต๋าวสด นั้นจะมีรสจืด ๆ ออกฝาดนิดหน่อย ชาวบ้านมักจะนำลูกต๋าวที่ ได้สด ไปจำหน่ายให้แก่พ่อค้าที่มารับซื้อ
ปัจจุบันต้นต๋าวในธรรมชาติเริ่มจะขาดแคลน มีจำนวนลดน้อยลงทุกที เพราะมีการเก็บลูกต๋าวมาขายกันมากขึ้น ต้นต๋าวเจริญไม่ทัน ประกอบกับมีการตัดไม้ทำลายป่ากันมากขึ้น จนทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าต้นต๋าวอาจจะสูญพันธุ์ได้
ทาง สถานีทดลองพืชสวน จังหวัดน่าน ได้ทำการอนุรักษ์ต้นต๋าว หรือ ต้นมะต๋าว โดยทำการขยายพื้นที่ปลูกต้นต๋าวประมาณ 200 ต้น ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของสถานี ปัจจุบันต้นมะต๋าวที่สถานีทดลองพืชสวนน่านเริ่มให้ผลผลิตออกมาบ้างแล้ว ซึ่งทางสถานีทดลองพืชสวนก็จะทำการขยายพันธุ์ต่อไปอีก และ เผยแพร่ให้เกษตรกรทราบ...
-
559 มะต๋าว /article-biology/item/559-arenga-pinnata-merrเพิ่มในรายการโปรด