เมี่ยงคู่กับชาวเขาเผ่าล่าฮู
เมี่ยง...คู่กับชาวเขา เผ่า ล่าฮู
สุนทร ตรันทวัน
คำว่า เมี่ยง ทางภาคกลาง จะเคยชินกับ เมี่ยงคำ ที่รับประทานเป็นของว่าง แต่มีพืชที่สำคัญอย่างหนึ่งที่พบมากทางภาคเหนือของประเทศไทย พืชชนิดนี้จัดเป็นพืชพื้นเมืองทาง ภาคเหนือ ภาษาพื้นเมืองทางภาคเหนือเรียกกันว่าว่า เมี่ยง ซึ่ง คุณประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เกษตรกรตัวอย่างของ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเมี่ยง พบว่าก็คือ ชา ชนิดหนึ่ง เป็นชาที่เจริญงอกงามอยู่ในแผ่นดินล้านนา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกชาที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก ในภาคเหนือเรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ชาอัสสัม ชาเมี่ยง ชาพื้นเมือง ชาป่า ซึ่งก็คือเมี่ยงหรือ ชาเมี่ยง นั่นเอง และคุณประสิทธิ์ ได้เผยแพร่ให้ทราบกันทั่วไป
เมี่ยงหรือชาเมี่ยง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คาเมลเลีย ไซเน็นซิส (Camellia sinensis) เป็นชาสายพันธุ์อัสสัม (Assamica) ชาเมี่ยงมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในภาคเหนือของอินเดีย และยังพบกระจายอยู่หลายแห่ง คือ ตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของที่ราบสูงทิเบต แถบภูเขาในอัสสัม ภาคเหนือของประเทศพม่า ภาคใต้ของประเทศจีน และทางภาคเหนือของประเทศไทย
ลักษณะสำคัญของชาเมี่ยงคือ
ลำต้น เป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10 – 20 เมตร ผิวของลำต้นเรียบ กิ่งก้านค่อนข้างแข็งแรง มีอายุยืน
ใบ เป็นใบเดี่ยวปลายใบแหลม กว้างประมาณ 2 – 4 นิ้ว ยาว 5 – 11 นิ้ว สีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม
ดอก เป็นกลุ่ม เจริญออกมาจากตา ( Bud ) ตาหนึ่ง ๆ มี 2 – 4 ดอก
ผล เป็นแคปซูล เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 – 1 นิ้ว
เมล็ด กลม ผิวเรียบ สีน้ำตาล
เมี่ยง เป็นภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ หมายถึง การนำเอาใบชามาหมัก โดยนำเอาใบที่แก่มานึ่งก่อน แล้วมัดเป็นกำ ๆ แช่ลงในถังหมัก คล้าย ๆ กับการดองใบชา นิยมนำมาบริโภคโดยการเคี้ยว มีรสฝาดอมเปรี้ยว นิยมเคี้ยวรับประทานเป็นของว่าง หรือขณะทำงาน แก้ง่วง แล้วคายกากทิ้ง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากของประชาชนทางภาคเหนือของประเทศไทย
ปัจจุบันมี การส่งเสริมให้ชาวเขา เผ่าล่าฮู ทำการเพาะปลูกชาเมี่ยง เก็บยอดชามาส่งโรงงาน เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวเขาเผ่าล่าฮู ซึ่งชาวเขาเผ่า ล่าฮู ปลูกชาเมี่ยงกันอย่างกว้างขวาง
มีการนำชาเมี่ยงมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ชาระมิงค์ โดยมีโรงงานทำผลิตภัณฑ์ชาระมิงค์อยู่ต้นน้ำแม่ปิงหรือแม่ระมิงค์ มีผลิตภัณฑ์ชาระมิงค์หลากหลายชนิด ทั้งกลุ่มของชาเขียว ที่เรียกว่า ชาเขียวญี่ปุ่น ชาเขียวระมิงค์ ชาเขียวอัสสัม และกลุ่มชาจีน เช่น ชาจีนอบดอกมะลิ ชาอูหลง และยังทำเป็นชาผงปรุงสำเร็จอีกด้วย
ต่อมามีการปลูกเป็นระบบการเกษตรสมัยใหม่ ในภาคเหนือของประเทศไทย ปลูกเป็นแปลง มีการดูแลให้น้ำ ให้ปุ๋ย เป็นระยะๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก และที่มีคุณภาพสูง เก็บผลผลิตมา ทำผลิตภัณฑ์ชาระมิงค์ที่หลากหลายชนิดออกสู่ท้องตลาด...
-
563 เมี่ยงคู่กับชาวเขาเผ่าล่าฮู /article-biology/item/563-miangเพิ่มในรายการโปรด