สะตอ...คุณค่าทางโภชนาการพืชพื้นเมืองภาคใต้
สะตอ คุณค่าทางโภชนาการ
พืชพื้นเมืองภาคใต้ ปัจจุบันปลูกแพร่หลายทุกภาค
สุนทร ตรีนันทวัน
สะตอ เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่ง ที่จัดเป็นพวกพืชผักที่เด่นอย่างหนึ่งในหลาย ๆ ชนิด สะตอที่มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พาร์เกีย สปีซิเอซา (Parkia speciasa Hassk) ปัจจุบันสะตอจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญ มีผู้นิยมบริโภคทั่ว ๆ ไป นำมารับประทานสด เป็นผักจิ้ม และปรุงอาหารได้หลายชนิด มีคุณค่าทางอาหารสูง และมีคุณค่าทางพืชสมุนไพรด้วย คือ ช่วยลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด เนื่องจากปัจจุบันมีผู้บริโภคสะตอมากขึ้น จึงมีการปลูกสะตอกันแพร่หลายทั่วประเทศ
สะตอที่ปลูก มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ
1. สะตอข้าว ลักษณะฝักเป็นเกลียว ยาวประมาณ 31 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม. จำนวนเมล็ดต่อฝักประมาณ 10 – 20 เมล็ด จำนวนฝักต่อช่อประมาณ 8 – 20 ฝัก มีกลิ่นไม่ฉุนมาก เนื้อเมล็ดไม่แน่น
2. สะตอดาน ลักษณะฝักตรง ๆ ยาวประมาณ 32 ซม. กว้างกว่าสะตอข้าวเล็กน้อย เมล็ดต่อฝักประมาณ 10 – 20 เมล็ด จำนวนฝักต่อช่อประมาณ 8 – 15 ฝัก กลิ่นฉุน รสเผ็ดเล็กน้อย เนื้อเมล็ดแน่น
ปัจจุบันมีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่าง ๆ พบว่า สะตอมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น
- ลดความดันโลหิต
- ลดน้ำตาลในเลือด
- ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย
- ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา
- ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
นอกจากนี้ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการวิเคราะห์คุณค่าสารอาหารของเมล็ดสะตอในส่วนที่กินได้ 100 กรัม ประกอบด้วย *
พลังงาน / สารอาหาร ปริมาณ หน่วย
พลังงาน 130.0 กิโลแคลอรี่
น้ำ 70.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 15.5 กรัม
โปรตีน 8.0 กรัม
ไขมัน 4.0 กรัม
กาก(Crude fiber) 0.5 กรัม
แคลเซียม 76.0 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 83.0 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.7 มิลลิกรัม
วิตามิน เอ 9.0 หน่วยสากล(I.U.)
วิตามิน บี 1 0.11 มิลลิกรัม
วิตามิน บี 2 0.01 มิลลิกรัม
วิตามิน ซี 6.01 มิลลิกรัม
ไนอะซีน 1.0 มิลลิกรัม
* กองโภชนาการ กรมอามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2535
จะเห็นได้ว่า สะตอพืชผักท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมีแร่ธาตุและวิตามินหลายอย่าง..
-
580 สะตอ...คุณค่าทางโภชนาการพืชพื้นเมืองภาคใต้ /article-biology/item/580-satoเพิ่มในรายการโปรด