สารพิษ ในหัวกลอย กินแล้วอาจตายได้
สารพิษ ในหัวกลอย กินแล้วอาจตายได้
สุนทร ตรีนันทวัน
เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องหนึ่ง คือ พนักงานบริษัท แอดเดอรานไทย จำกัด ตำบลเสม็ด อ. เมือง จ. บุรีรัมย์ จำนวน 20 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ เนื่องจากเกิดอาการมึนงง ปวดหัวอย่างรุนแรง ใจสั่น เหงื่อออก อาเจียนตลอดเวลา หลังจากรับประทานกลอยนึ่งคลุกกับมะพร้าว ในช่วงหยุดพักกลางวัน นอกจากนี้เรายังคงเคยได้ยินบ่อยๆว่า ประชาชนตามจังหวัดต่างๆ แม้แต่ในกรุงเทพฯ ที่เกิดอาการดังกล่าว จนต้องนำส่งโรงพยาบาล หลังจากรับประทานกลอยเข้าไป
เรามาทำความรู้จักหัวกลอยกันนะครับ หัวกลอยมีลักษณะอย่างไร เอามาทำอาหารได้หรือไม่ ทำไมคนที่รับประทานกลอยแล้วเจ็บป่วย แต่บางคนก็ไม่เป็นอะไร
กลอย เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Dioscoreaceae สกุล Dioscorea และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dioscorea hispida Dennst. Var. hispida
ลักษณะของต้นกลอย ลักษณะลำต้นเป็นเถาว์ เจริญเลื้อยพันต้นไม้อื่น ลำต้นมีหนามเล็กๆกระจายอยู่ทั่ว มีขนสีขาวนุ่มๆอยู่ตามลำต้น เมื่อเจริญเต็มที่จะมี หัวอยู่ใต้ดิน เราเรียกว่า หัวกลอย มีลักษณะกลมรีๆ มีรากเล็กๆอยู่รอบๆหัวกลอย ต้นหนึ่งจะมีหัวกลอยประมาณ 4 – 5 หัว หัวกลอยมีเปลือกบางสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อภายในหัวกลอย มี 2 ชนิด คือ เนื้อสีขาว เรียกกันว่า กลอยหัวเหนียว และ เนื้อสีครีม เรียกกันว่า กลอยไข่ หรือ กลอยเหลือง
ใบ เป็นใบประกอบ ก้านใบยาวประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร มีใบย่อย 3 ใบ มีรูปรีปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ความกว้างของใบประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร ใบยาว 8 – 10 เซ็นติเมตร เส้นใบนูน บนแผ่นใบมีขนปกคลุม
ดอก ออกเป็นช่อ ตามซอกของก้านใบ มีดอกเล็กๆติดอยู่บนก้านดอกประมาณ 30 – 50 ดอก
ผล มี 3 พู คล้ายกับมะเฟือง แต่ละพู มี 1 เมล็ด เมื่อแก่ ผลจะแตก เมล็ดลักษณะแบนมีปีกบางใสรอบเมล็ด ช่วยในการปลิวลอยไปกับลมได้
ส่วนที่เป็นพิษ คือเนื้อในทั้งหมดของส่วนที่เป็นหัวกลอย
สารพิษ พืชในสกุล Dioscorea มีสารพิษ ชื่อว่า Dioscorine ในปริมาณที่แตกต่างกันในแต่ละชนิด (Specie) หัวกลอยที่มีขนาดใหญ่มีอายุมาก ก็จะมีสารพิษมากกว่าหัวกลอยที่ยังมีขนาดเล็ก
การเกิดพิษ เมื่อรับประทานหัวกลอยเข้าไป โดยที่ยังไม่ได้กำจัดสารพิษออกไปก่อน จะมีอาการใจสั่น วิงเวียน คันบริเวณลำคอ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก หน้าซีด ตาพร่า ชีพจรเบา รู้สึกหายใจอึดอัด และคล้ายกับจะเป็นลม อาจจะมีประสาทหลอน กล้ามเนื้อชักกระตุก ถ้ารับประทานเข้าไปมาก พิษจะกดระบบทางเดินหายใจ หายใจลำบาก และ ตาย ได้
การรักษา ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ หรือ ส่งโรงพยาบาล โดยทันที
การเอาสารพิษออกจากหัวกลอย การนำเอาหัวกลอยมาใช้ประโยชน์ เป็นอาหาร ต้องใช้ความชำนาญ และ เวลามาก โดยต้องหั่นหัวกลอยเป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ แล้วนำไปล้างน้ำในน้ำไหล หรือต้มในน้ำเกลือ โดยต้องเปลี่ยนน้ำล้างหลายๆหน เพื่อให้สารพิษออกไปให้หมด
ข้อเสนอให้คิด ในเมืองไทยมีอะไรให้เลือกรับประทานได้หลายอย่าง ถ้าเราเว้นไม่รับประทานหัวกลอย ชีวิตเราจะเป็นอะไรหรือไม่
-
584 สารพิษ ในหัวกลอย กินแล้วอาจตายได้ /article-biology/item/584-wild-yamเพิ่มในรายการโปรด