มารู้จักเรื่อง 3R-Waste กันเถอะ
...มารู้จักเรื่อง 3R-Waste กันเถอะ...
ปัญจ์ปพัชรภร บุญพร้อม
ขยะมูลฝอย หมายถึง สิ่งต่างๆที่คนไม่ต้องการและทิ้งไปส่วนใหญ่เป็นของแข็งซึ่งอาจจะเน่าเปื่อยหรือไม่ก็ตาม รวมถึงเศษอาหาร เศษผ้า มูลสัตว์ ซากสัตว์ เถ้าถ่าน ฝุ่นละออง เศษของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและการใช้สอยของมนุษย์จากบ้านเรือน ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนต่างๆ โดยสามารถแบ่งประเภทขยะ ออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ขยะเปียก หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร พืชผัก เปลือกผลไม้ เป็นต้น
2. ขยะแห้ง หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ เศษผ้า ไม้ ยาง เป็นต้น
3. ขยะอันตราย ได้แก่ สารเคมี วัตถุมีพิษ ซากถ่านไฟฉาย หลอดไฟ และขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาล
ขยะมูลฝอยทุกวันนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มีผลมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆทีย่อยสลายได้ยาก อัตราการผลิตขยะโดยรวมประมาณ 0.82 กก./คน/วัน ซึ่งในช่วง พ.ศ. 2550-2554 มีปริมาณขยะประมาณ 8.771 ตัน/วัน และการกำจัดขยะมูลฝอยในปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 36 ที่กำจัดโดยวิธีฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ส่วนที่เหลือมีการเทกองกลางแจ้งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง จากปัญหาดังกล่าวแนวคิดและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ก่อให้เกิดปริมาณขยะให้น้อยลง จึงมีการนำแนวทางการลด คัดแยก และนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle: 3Rs) มาประยุกต์ใช้
1. Reduce คือ ลดการใช้ ลดการบริโภคสินค้าที่ฟุ่มเฟือย ใช้อย่างประหยัด และใช้เท่าที่จำเป็น เช่น ทำอาหารให้พอดีรับประทาน เลือกซื้อสินค้าที่ไม่บรรจุห่อหลายชั้น ใช้ผ้าเช็ดหน้า แทนกระดาษทิชชู พกถุงผ้าไปตลาด ถ้าวันนั้นลืมถุงผ้าไปจ่ายตลาด ก็ควรปฏิบัติเช่นนี้ คือ ไปที่ร้านแรกขอถุงใหญ่ 1 ใบ ต่อจากนั้นก็ใช้ถุงใหญ่ใบเดี่ยวแทนถุงผ้าก็ได้เมื่อไปซื้อของร้านต่อไป
2. Reuse คือ การใช้ซ้ำ การนำสิ่งของที่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า เช่น ขวดแก้วนำไปล้างไว้ใส่น้ำดื่ม นำกระดาษมาใช้ให้ครบ 2 หน้า
3. Recycle คือ การนำกลับมาใช้ใหม่ การนำขยะมาแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช่ใหม่ทำให้ไม่ต้องนำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตสิ่งของต่างๆ แต่ใช้ขยะเป็นวัตถุดิบทดแทนในการผลิตสิ่งของต่างๆ ได้แก่ • กระดาษ เช่น การนำกระดาษเก่ากลับมาใช้ การทำกระดาษสา เป็นต้น • พลาสติก ได้แก่ การนำมาขึ้นรูปใหม่ เช่น ขึ้นรูปใหม่เป็นแจกัน ถังขยะ เป็นต้น • อลูมิเนียม เช่น กระป๋องอลูมิเนียมที่ใช้แล้วสามารถที่จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ • แก้ว แก้วก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่สามารถหลอมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ก่อนที่เราจะนำขยะมูลฝอยไปทิ้งนั้นเราควรนำไปทิ้งในถังขยะที่แยกตามประเภทหรือชนิดขยะ เช่น ถังขยะมีพิษ (เทา ฝาแดง) ถังขยะย่อยสลาย(เขียว) ถังขยะรีไซเคิล (เหลือง) และถังขยะทั่วไป(ฟ้า)เพื่อง่ายต่อการนำไปกำจัดต่อไป
นอกจากถังขยะแล้วยังมีถุงขยะแยกตามสีต่างๆอีกด้วย
- ถุงสีเขียว รวบรวมขยะมูลฝอยที่เน่าเสีย และย่อยสลายได้เร็วสามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น ผัก ผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้
- ถุงสีเหลือง รวบรวมขยะมูลฝอยที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือขายได้ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ อลูมิเนียม
- ถุงสีแดง รวบรวมขยะมูลฝอยที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดยา ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องสารฆ่าแมลง ภาชนะบรรจุสารอันตรายต่าง ๆ
- ถุงสีฟ้า รวบรวมขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายไม่ได้ไม่เป็นพิษและไม่คุ้มค่าการรีไซเคิล เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก โฟมและฟอล์ยที่เปื้อนอาหาร
ถ้าทุกคนเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนก่อนเข้าสู่กระบวนการ 3R เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดให้มีปริมาณน้อยลงด้วยและเป็นการลดภาวะการเกิดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษ. แนวทางและข้อกำหนดเบื้องต้น การลดและใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย. 1,000 เล่ม, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: 2548.
-
600 มารู้จักเรื่อง 3R-Waste กันเถอะ /article-biology/item/600-3r-wasteเพิ่มในรายการโปรด