ไฝ บอก "มะเร็งผิวหนัง"
อากาศร้อนในเมืองไทยที่หลายคนบ่นว่าร้อนจวนละลายติดพื้นถนน ต่อให้ต้องพึ่งครีมกันแดด และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการป้องกันแสงแดดก็เอาไม่อยู่ แต่นั่นเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้วสำหรับการดูแลตัวเองเบื้องต้นเนื่องจากการได้รับแสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet)) มากเกินไปนั้นไม่ใช่เรื่องดี อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ใบหน้าของหนุ่มสาวจะมีริ้วรอยเกิดขึ้น ซึ่งริ้วรอยเหล่านั้นก็เป็นสิ่งแรกและสิ่งที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าแสงแดดมีผลอย่างมากต่อผิวของเรา ทั้งยังอาจเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงโรคร้ายแรงได้
ภาพที่ 1 มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา
ที่มา National Cancer Institute
แม้มะเร็งผิวหนังจะไม่ใช่โรคมะเร็งที่ติด 10 อันดับโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในคนไทย อาจเนื่องมาจากคนไทยมีเม็ดสีเมลานินที่ช่วยปกป้องอันตรายจากแสงแดดได้ดีกว่าคนผิวขาว แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าแดดบ้านเราก็ร้อนแรงและมีค่าดัชนีของรังสียูวี (UV Index) สูงที่เป็นอันตรายต่อผิว ทั้งแสงแดดก็เป็นยังหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
โรคมะเร็งผิวหนังมีได้หลายชนิด ซึ่งชนิดที่พบได้มากที่สุดคือ Basal cell carcinoma และ Squamous cell carcinoma โดยมะเร็งทั้งสองชนิดนี้จะพบได้ในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสแสงแดดเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ ลำคอ ใบหน้า มือ แขน และขา และยังสามารถลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ในร่างกายได้ แต่ก็ไม่ได้แพร่กระจายได้เร็วเท่ามะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงที่เรียกว่า Melanoma ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง สามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะภายในอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Malanoma, Malignant melanoma) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับเม็ดสีของผิวหนังที่เรียกว่า Melanocyte เป็นมะเร็งชนิดที่ร้ายแรงที่สุด ที่พบได้ทั้งในวัยรุ่นจนกระทั่งผู้สูงอายุ และก็เป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่สามารถตรวจพบได้ง่ายที่สุดด้วยเช่นกัน เพราะหากว่าคุณเป็นหนึ่งคนที่มีไฝเกิดขึ้นตามร่างกายมากกว่าคนทั่วไป คุณควรจะรู้วิธีการในการตรวจสอบไฝพวกนั้น เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma ได้
รู้จักวิธีตรวจสอบลักษณะของไฝหรือตุ่มเนื้องอกง่ายๆ ด้วยสูตร ABCDEs
- A ย่อมาจาก Asymmetry หรือสมมาตร หากครึ่งหนึ่งของไฝมีลักษณะแตกต่างจากบริเวณอื่น นั่นคือสัญญาณของมะเร็ง
- B ย่อมาจาก Border หมายถึง ความไม่สม่ำเสมอของเส้นขอบ หากเส้นขอบที่ผิดปกติไม่สมบูรณ์ ระบุขอบเขตไม่ชัดเจน หรือมีลักษณะขอบเบลอ อาจเป็นสัญญาณของ melanoma
- C ย่อมาจาก Colour โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฝที่มีสีดำหรือมีหลายสีในไฝเม็ดเดียว เช่น มีทั้งสีแทน สีดำ บางครั้งมีสีน้ำเงินหรือสีแดง
- D ย่อมาจาก Diameter หรือเส้นผ่าศูนย์กลาง หากไฝมีขนาดใหญ่กว่ายางลบดินสอ หรือมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 6 มิลลิเมตร ควรสังเกตและพิจารณา
- E ย่อมาจาก Evolution เป็นวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงของไฝ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและสีที่ควรสังเกตอย่างระมัดระวัง
ภาพที่ 2 วิธีการตรวจสอบลักษณะของไฝบนร่างกาย
ที่มา American Academy of Dermatology
การตรวจสอบร่างกายของตัวเองนั้นทำได้โดยใช้กระจกส่งในบริเวณที่สัมผัสแสงแดดบ่อย ๆ โดยเริ่มจากบริเวณลำตัวทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง รวมทั้งด้านซ้าย-ขวาของร่างกาย เพื่อจำกัดพื้นที่ที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง จากนั้นสังเกตในบริเวณลำคอและหนังศีรษะ จากนั้นใช้กระจกอีกบานส่องในบริเวณด้านหลัง เช่น บริเวณต้นแขน ต้นขา สะโพก เป็นต้น ทั้งนี้หากเป็นในบริเวณที่สังเกตได้ยาก อาจจะขอความร่วมมือจากเพื่อนให้ช่วยกันสังเกตได้
ภาพที่ 3 การตรวจสอบความผิดปกติบนผิวหนังด้วยตัวเอง (ดัดแปลงภาพ)
ที่มา American Academy of Dermatology
ภาพดังต่อไปนี้แสดงให้เห็นเปรียบเทียบระหว่างไฝที่มีลักษณะเป็นปกติ กับส่วนของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา
ภาพที่ 4 ภาพแนวตั้งด้านซ้ายคือภาพของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ภาพแนวตั้งด้านขวาคือลักษณะของไฝที่เป็นปกติ
ที่มา National Cancer Institute
หากเราสำรวจร่างกายของตัวเองเป็นประจำทุกเดือน โดยพิจารณาทั้งไฝที่มีอยู่แล้วและลักษณะริ้วรอยใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ก็สามารถตรวจพบรอยโรคได้รวดเร็ว ช่วยให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อตรวจพบและรักษาได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ก็อาจมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้การตรวจสอบด้วยตัวเองก็ควรทำควบคู่ไปกับการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้วย
แหล่งที่มา
How to spot skin cancer. สืบค้นวันที่ 15 มิถุนายน 2560. จาก www.sciencealert.com/should-you-worry-about-that-mole-this-infographic-explains-how-to-tell
Tips for checking for skin cancer. สืบค้นวันที่ 15 มิถุนายน 2560. จาก www.sciencealert.com/how-to-check-a-mole-on-your-skin-for-cancer
How to prevent skin cancer. สืบค้นวันที่ 15 มิถุนายน 2560. จาก www.aad.org/public/kids/skin/skin-cancer/how-to-prevent-skin-cancer
Melanoma. สืบค้นวันที่ 15 มิถุนายน 2560. จาก www.aad.org/public/diseases/skin-cancer/melanoma
-
7379 ไฝ บอก "มะเร็งผิวหนัง" /article-biology/item/7379-2017-07-20-07-15-43เพิ่มในรายการโปรด