ประวัติศาสตร์การค้นพบหมู่เลือด
การจัดอันดับคนเก่งจากกรุ๊ปเลือดที่เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเล่นกัน อาจช่วยให้เรารู้สึกภูมิใจเล็ก ๆ หากเราเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้น แต่การมีหมู่เลือดที่แตกต่างกันเป็นเพียงเครื่องหมายทางชีวภาพแสดงข้อมูลสุขภาพที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเศร้าไปมากกว่าเดิม หากหมู่เลือดของเราถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มเด็กเรียนแย่ เพราะต่างรู้อยู่แล้วว่าคำทำนายทายทักหรือการจัดอันดับเช่นนั้นไม่ได้ช่วยให้เราเรียนรู้อะไรมากขึ้น เกี่ยวกับหมู่เลือด
ภาพที่ 1 หมู่เลือด
ที่มา https://pixabay.com
การได้รับผลการตรวจหมู่เลือดที่สอดคล้องกับครอบครัว ช่วยให้เราอุ่นใจได้ว่าพ่อกับแม่คงไม่หยิบเด็กผิดมาจากโรงพยาบาล ทั้งการทราบหมู่เลือดของตนเองก็ยังเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการรักษาพยาบาลในช่วงฉุกเฉิน แต่ก่อนที่เราจะมีวิธีการตรวจสอบหมู่เลือดจนมาปรากฏเป็นประวัติสุขภาพบนบัตรประชาชนได้ถึงทุกวันนี้นั้น ต่างมีเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ที่ยาวนานในการค้นพบ และการแลกมาด้วยฝันร้ายของใครหลายคนในอดีต
ในปี 1900 แพทย์ชาวออสเตรียนามว่า คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) เป็นผู้ค้นพบการจำแนกหมู่เลือดเป็นครั้งแรก ซึ่งการค้นพบครั้งนั้นทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์เพื่อการวิจัยในปี 1930 และตั้งแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์ต่างคิดค้นพัฒนาเครื่องมือและวิธีการที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำการตรวจสอบชีววิทยาของหมู่เลือด เป็นผลให้พวกเขาได้พบกับข้อมูลที่มีความหมายอย่างมากสำหรับวงการแพทย์
ภาพที่ 2 นายแพทย์คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ ผู้ค้นพบการจำแนกหมู่เลือดเป็นครั้งแรก
ที่มา derstandard.at
การที่แพทย์ตระหนักถึงความสำคัญของการจำแนกหมู่เลือด ทำให้ในปัจจุบันนี้มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อย่างเช่นวิธีการถ่ายเลือด แต่กว่าที่วิธีการนี้จะประสบสำเร็จล้วนต้องแลกมาด้วยความผิดพลาดที่เหมือนเป็นฝันร้ายมากมาย
ประวัติศาสตร์ยุคก่อนปี 1900 แพทย์ในยุคเรเนซองซ์ต่างพิจารณาถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย หลังจากการถ่ายเลือดเข้าไปยังเส้นเลือดของผู้ป่วย ซึ่งในขณะนั้นแพทย์บางท่านคิดว่า วิธีการนี้อาจเป็นวิธีรักษาอาการเจ็บป่วยได้ทุกรูปแบบ แม้กระทั่งอาการวิกลจริต และในที่สุดช่วงปี 1600 ก็ได้มีแพทย์ที่เริ่มทดสอบความเป็นไปได้ของความคิดดังกล่าว
ภาพที่ 3 แพทย์ชาวฝรั่งเศส ฌอง แบบติส เดอนีย์ส ทำการรักษาโดยการถ่ายเลือดแกะให้ผู้ป่วย
ที่มา pinsdaddy.com
ปี 1667 แพทย์ชาวฝรั่งเศส ฌอง แบบติส เดอนีย์ส (Jean-Baptiste Denys) ประสบความสำเร็จจากการถ่ายเลือดแกะเพียงไม่กี่มิลลิลิตรให้กับเด็กชายวัย 15 ปี นั่นนับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายเลือดในสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ และ 2 ปีหลังจากนั้นแพทย์ชาวอังกฤษ Richard Lower ก็ประสบความสำเร็จในการถ่ายเลือดระหว่างสุนัขเช่นกัน สำหรับแพทย์หนุ่ม Jean Denis นั้นในระยะเวลา 6 เดือนให้หลังจากความสำเร็จครั้งแรก เขาได้ทำการถ่ายเลือดของลูกวัวเข้าไปในคนวิกลจริต แต่ผลปรากฏว่าผู้ป่วยมีอาการเหงื่อออก อาเจียน และมีปัสสาวะสีขุ่น หลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์เขาก็ได้เสียชีวิตลง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้การรักษาโดยถ่ายเลือดถูกกล่าวถึงในทางที่ไม่ดีเป็นเวลาเกือบ 150 ปี
ในศตวรรษที่ 18 สูติแพทย์ชาวอังกฤษชื่อว่า เจมส์ บลันเดลล์ (James Blundell) เป็นอีกหนึ่งคนในหมู่แพทย์ในยุคของเขาที่ได้แต่เฝ้ามองผู้ป่วยหญิงจำนวนมากเสียชีวิตลงจากภาวะเลือดออกในระหว่างคลอด และหลังจากการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายหนึ่งในปี 1817 ทำให้เขาอดไม่ได้ที่จะพิจารณาเห็นว่าผู้ป่วยอาจรอดชีวิตหากได้รับการรักษาโดยวิธีการถ่ายเลือด
เจมส์ บลันเดลล์ ตระหนักว่า มนุษย์ควรได้รับเลือดจากมนุษย์เช่นเดียวกัน ซึ่งหลังจากที่เขาได้ตัดสินใจที่จะทำการรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว เขาได้ออกแบบการรักษา รวมทั้งอุปกรณ์อาทิ เข็มฉีดยา และสายให้เลือดที่สามารถถ่ายเลือดจากเลือดของผู้บริจาคไปยังผู้ป่วยได้ เมื่อได้ทดสอบอุปกรณ์ดังกล่าวกับสุนัขแล้ว เขาจึงได้ทำการถ่ายเลือดให้กับผู้ป่วยหลังคลอดรายหนึ่ง โดยใช้เลือดของสามีของเธอจำนวน 400 มิลลิลิตร และการรักษาในครั้งนั้นทำให้เขาประสบความสำเร็จในการถ่ายเลือดระหว่างมนุษย์ด้วยกันเป็นครั้งแรก
ด้วยความที่เชื่อมั่นว่า การถ่ายเลือดเป็นวิธีการรักษาที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อมวลมนุษยชาติ ในช่วง 5 ปีหลังจากนั้น แพทย์ชาวอังกฤษท่านนี้ก็ยังคงทำการรักษาด้วยวิธีการถ่ายเลือดให้กับผู้ป่วยที่หมดหวัง แม้ว่าการรักษาของเขา 10 ครั้งให้ผลดีต่อตัวผู้ป่วยเพียง 5 ครั้งก็ตาม นอกจากนี้เครื่องมือที่เขาออกแบบสำหรับการรักษายังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ในปัจจุบันอีกด้วย
ภาพที่ 4 สูติแพทย์ชาวอังกฤษ เจมส์ บลันเดลล์ทำการรักษาโดยการถ่ายเลือด
ที่มา en.wikipedia.org/wiki/James_Blundell_(physician)
ในขณะที่แพทย์ท่านอื่น ๆ ก็ทำการทดสอบวิธีการรักษาโดยการถ่ายเลือดเช่นเดียวกัน และผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกจะดูหดหู่ไม่แพ้กัน ความพยายามในหลายวิธี รวมทั้งความพยายามในปี 1870 ที่มีการใช้นมแทนเลือดในการทดสอบการรักษา ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่ผลการรักษาจะกลายเป็นฝันร้าย
เป็นความถูกต้องที่เจมส์ บลันเดลล์ เชื่อว่ามนุษย์ควรได้รับเลือดจากมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่เนื่องจากเขาไม่ทราบข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับเลือดที่ถูกค้นพบในไม่กี่ทศวรรษต่อมานั่นคือ การค้นพบหมู่เลือด จึงนำไปสู่ข้อสังเกตที่น่าสงสัยว่า เหตุใดแพทย์ในยุคก่อนปี 1900 จึงไม่ประสบความสำเร็จในการถ่ายเลือด?
ในช่วงปี 1900 เมื่อนักวิจัยทำการผสมเลือดในหลอดทดลอง พวกเขาสังเกตเห็นว่าในบางครั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงมีการจับตัวกันเป็นตะกอน แต่เนื่องจากเลือดที่ผสมนั้นโดยทั่วไปแล้วมาจากเลือดของผู้ป่วย จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้สนใจเท่าที่ควร เพราะคิดว่าอาจจะเป็นพยาธิสภาพบางประการของผู้ป่วย ซึ่งนั่นทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะสังเกตเห็นว่า เลือดของคนปกติก็เกิดการจับกลุ่มได้เช่นเดียวกันจนกระทั่ง คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ ตั้งข้อสงสัยทันทีที่เขาได้เห็นว่า มีส่วนผสมของเลือดจากคนปกติที่สามารถเกิดการตกตะกอนได้ในบางครั้ง
ภาพที่ 5 ผลการทดลองการจำแนกหมู่เลือดของคาร์ล ลันด์สไตเนอร์
ที่มา © Biologie/Schulbuch-O-Mat
เขาได้บันทึกการทดลองที่แสดงให้เห็นรูปแบบของการจับกลุ่มกันของเลือด โดยใช้ตัวอย่างเลือดที่ได้จากสมาชิกในห้องปฏิบัติการรวมทั้งเลือดของตัวเขาเองด้วย เขาทำการแยกส่วนของเซลล์เม็ดเลือดและพลาสมาจากในตัวอย่างเลือดของแต่ละคน จากนั้นได้ผสมส่วนของพลาสมาจากคนหนึ่งเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดจากอีกคนหนึ่ง และพบว่าปฏิกิริยาการจับกลุ่มตกตะกอนของเลือดเกิดขึ้นเฉพาะบางคนเท่านั้น โดยหลังจากการทดสอบดังกล่าวแล้ว เขาจึงได้จำแนกหมู่เลือดออกเป็น 3 กลุ่มโดยใช้ชื่อหมู่เลือด A, B และ C ซึ่งต่อมาหมู่เลือด C ได้เปลี่ยนชื่อเป็นหมู่เลือด O นับเป็นครั้งแรกสำหรับการค้นพบหมู่เลือดในระบบ ABO
และในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น เพื่อนร่วมงานของเขาก็ได้ค้นพบหมู่เลือด AB นับเป็นหมู่เลือดที่ 4 ในระบบหมู่เลือดนี้
ผลการทดลองของนักวิจัยทำให้เราทราบว่า หากมีการถ่ายเลือดผิดหมู่ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างแอนติบอดี และแอนติเจนที่จับกลุ่มกันตกตะกอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจะคุ้นเคยกับหมู่เลือดของตนเอง หากได้รับการถ่ายเลือดไม่ตรงกับหมู่เลือดของตนเอง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองในลักษณะของการโจมตีเซลล์
การค้นพบของนักวิจัยได้เปิดโอกาสอย่างมากสำหรับวิธีการรักษาโดยการถ่ายเลือด ทั้งยังเป็นแนวทางให้นักวิทยาศาสตร์ในยุคต่อมาค้นพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถพัฒนาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
แม้ว่าในระหว่างที่แพทย์และนักวิจัยพยายามหาความสัมพันธ์ของหมู่เลือดที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลนั้น ได้มีนักธรรมชาติบำบัดบางท่านอ้างถึง การรับประทานอาหารตามหมู่เลือด แต่ด้วยจุดอ่อนของข้อมูล รวมทั้งผลการวิจัยของแพทย์ที่ไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนผลในด้านสุขภาพจากการรับประทานอาหารตามหมู่เลือด จึงทำให้ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับการทำนายนิสัย พฤติกรรม ความเชื่อหรือการจัดอันดับตามหมู่เลือด ก็ไม่ได้ช่วยให้มีความรู้เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้เรื่องสนุกในห้องเรียน หรือในสื่อสังคมออนไลน์มีผลต่อเวลาในชีวิตมากจนเกินไป
แหล่งที่มา
History of Human Blood Groups. สืบค้นวันที่ 9 กรกฎาคม 2560. จาก www.sciencealert.com/why-do-we-have-blood-types?perpetual=yes&limitstart=1.
The history of transfusion. สืบค้นวันที่ 9 กรกฎาคม 2560. จาก www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/features/why-do-we-have-blood-types-9622054.html.
The evolution of blood transfusion. สืบค้นวันที่ 9 กรกฎาคม 2560. จาก www.economist.com/node/18385724.
Highlights of Transfusion Medicine History. สืบค้นวันที่ 9 กรกฎาคม 2560. จาก www.aabb.org/tm/Pages/highlights.aspx.
-
7418 ประวัติศาสตร์การค้นพบหมู่เลือด /article-biology/item/7418-2017-08-08-07-40-26เพิ่มในรายการโปรด