เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? ..ความเครียดทำให้ผมหงอกเร็วขึ้น
ผมหงอกหรือผมสีขาวมักถูกกล่าวโยงถึงอายุและความเครียดมาโดยตลอด แต่ความจริงที่ว่าความวิตกกังวลหรือความเครียดสามารถเปลี่ยนผมสีดำให้เป็นผมสีขาวได้นั้น นักวิทยาศาสตร์ยังคงให้คำตอบได้อย่างไม่ชัดเจน เพียงแต่กล่าวว่า ความเครียดมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น
ภาพที่ 1 ผมหงอก
ที่มา ISTOCKPHOTO.COM/CGLADE
ความเครียด (Stress) เป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกในบริบททางชีววิทยาโดยนักวิทยาต่อมไร้ท่อ “Hans Selye” ในปีพ. ศ. 2479 เพื่ออธิบายการตอบสนองทางสรีรวิทยาและจิตวิทยาที่ไม่คาดคิดของร่างกายมนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ ต่อความต้องการทางด้านจิตใจ อารมณ์หรือทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในความเป็นจริงหรือการจินตนาการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการหลั่งฮอร์โมนของระบบต่อมไร้ท่อ และระบบประสาทอัตโนมัติ โดยอธิบายถึง General Adaptation Syndrome ว่าฮอร์โมนเป็นตัวการเชื่อมโยงความเครียดกับโรคทางกาย โดยมีการตอบสนองและการปรับตัวของร่างกายใน 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะตกใจ (Alarm reaction stage) ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายตอบสนองต่อความเครียดเพื่อเตรียมสู้หรือเตรียมหนี เป็นปฏิกิริยาตอบสนองระยะสั้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระบบประสาท sympathetic จะถูกกระตุ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หายใจเร็วขึ้น รวมทั้งมีการหลั่ง adrenaline มากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่นเราสามารถยกตู้เย็นหนีออกมาจากสถานการณ์ไฟไหม้ได้ เป็นต้น
- ระยะความต้านทาน (Resistance stage) ร่างกายสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์กดดันได้มากขึ้น
- ระยะอ่อนเพลีย (Exhaustion stage) เป็นระยะที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ เมื่อความเครียดคงอยู่นาน จะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งจะเป็นอันตรายและนำมาซึ่งโรงทางกาย เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ เป็นต้น
ภาพที่ 2 โครงสร้างของเส้นผม
ที่มา http://keywordsuggest.org
สีดำของเส้นผมเกิดจากเซลล์เม็ดสีที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ (Melanocytes) โดยเส้นผมหรือขนจะงอกขึ้นมาผ่านปุ่มรากผม (hair follicles) ซึ่งอยู่บริเวณผิวหนังชั้นหนังแท้ (dermis) เมื่อเราอายุมากขึ้น เซลล์เมลาโนไซต์ก็เจริญเติบโตตามวัยและตายไป นั่นหมายความว่า ผมที่เคยดกดำเงางามเป็นอันต้องจบภารกิจในเรื่องของสีผมลง
ผมที่เปลี่ยนสีไปตามวัยนั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการ oxidative stress เป็นกระบวนการที่เซลล์ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย เมื่อร่างกายมีอายุที่มากขึ้น ความสามารถในการต่อสู้กับโมเลกุลอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพจะลดลง ต่างกับเมื่อครั้งที่อายุสัก 20-30 ปี เป็นเหตุให้กระบวนการ oxidative stress ทำงานได้ดี ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาจะแสดงให้เห็นบนความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รวมทั้งเส้นผมของเราด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เป็นไปตามวัยปกติ ไม่ได้เกิดจากความเครียดจากการถูกกำหนดเส้นตายส่งงานหรือการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ดังนั้นจึงเป็นกระบวนของผมเปลี่ยนสีตามธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากความเครียดทางอารมณ์ที่อาจมีผลต่อผมหงอกบนศีรษะของเรา
ที่ปรึกษาด้านผิวหนัง Miri Seiberg จาก Global Dermatology Institute กล่าวว่า "ความเครียดมีแนวโน้มที่จะทำให้ผมร่วงและเพิ่มการหลุดร่วงมากกว่าทำให้กลายเป็นสีเทา” ดังนั้นลดความกังวลเกี่ยวกับการมีผมหงอกก่อนวัยอันควรไปได้เลย หากคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ตรึงเครียด ปัญหาที่ควรพิจารณาคือ ความเครียดสามารถแทรกแซงกระบวนการทางชีวภาพที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นผมและทำให้เกิดปัญหาในการหลุดร่วงง่ายขึ้นมากกว่า
ถึงแม้กระบวนการ oxidative stress กับความเครียดทางอารมณ์จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกัน ความเครียดที่รุนแรงและยาวนานจะสามารถเพิ่ม oxidative stress ได้ แต่ไม่ได้บอกนะว่าเราจะผมหงอกตลอดเวลาที่ทะเลาะกับแฟน หรือเด็กเล็ก เพียงแต่บางการศึกษากล่าวว่า ความเครียดสามารถสร้างสารอนุมูลอิสระ (free radical) ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เมลาโนไซต์ เป็นผลให้ผมเปลี่ยนสีเร็วขึ้น แต่การศึกษาก็ยังคงมีปัจจัยที่ไม่แน่ชัดบางประการที่ยังรอการพิสูจน์อยู่
นักวิจัยยังคงค้นหาสาเหตุการเปลี่ยนสีผมจากสาเหตุของความเครียดอยู่ตลอดเวลา ล่าสุดนักวิจัยสามารถระบุยีนบางตัวที่เรียกว่า IRF4 ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนสีผมได้มากกว่าคนอื่นๆ แต่ก็ยังมีปัจจัยในด้านสภาพแวดล้อมที่มีผลด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้แก่ การสูบบุหรี่ การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ และการไม่ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม และอาจจะเป็นความคิดที่ดี หากคุณจะผ่อนคลายลงบ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาสีผมที่ดำเงางามให้ได้นานยิ่งขึ้น
แหล่งที่มา
Stefania Schiavone, Vincent Jaquet, Luigia Trabace,and Karl-Heinz Krause. (2013). Severe Life Stress and Oxidative Stress in the Brain: From Animal Models to Human Pathology. Antioxid Redox Signal.18 (12). 1475–1490.
The scientific link between grey hair and stress. สืบค้นวันที่ 16 กรกฎาคม 2560. จาก https://www.sciencealert.com/the-science-behind-whether-or-not-stress-can-turn-your-hair-grey.
Oxidative stress. สืบค้นวันที่ 16 กรกฎาคม 2560.จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Oxidative_stress.
โครงสร้างของเส้นผม. สืบค้นวันที่ 16 กรกฎาคม 2560. จาก http://www.scimath.org/article-chemistry/item/4431-2015-01-06-02-36-31.
-
7423 เรื่องจริงหรืออิงนิยาย? ..ความเครียดทำให้ผมหงอกเร็วขึ้น /article-biology/item/7423-2017-08-08-07-56-36เพิ่มในรายการโปรด