ปวดท้องรอบเดือนในแบบที่ไม่ควรจะเป็น
การมีประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละคนก็เหมือนกับการมีรูปร่างที่แตกต่างกัน บางคนอาจมีระดูมากแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่สำหรับบางคนนั้นแทบจะทำอันตรายได้มากกว่าที่คิด ดังนั้นจะมีวิธีการอย่างไรในการแยกแยะระหว่างประจำเดือนที่มามากที่เป็นปกติกับอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหา
ภาพที่ 1 อาการปวดท้องรอบเดือน
ที่มา Rex Features/Phanie Agency
การมีรอบเดือนผิดปกติที่สังเกตได้คือ คุณผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนผ้าอนามัยมากกว่า 1 ครั้งในทุก ๆ สองชั่วโมง ลักษณะอาการดังกล่าวอาจเป็นอาการของภาวะที่มีเลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ (menorrhagia) ซึ่งส่วนมากมีสาเหตุจากความผิดปกติเกี่ยวกับโครงสร้างของระบบสืบพันธุ์ หรือปัญหาในเรื่องของการทำงานของฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ยังมีภาวะอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณสำคัญบางอย่างต่อสุขภาพของสุภาพสตรีได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนด่วนสรุปด้วย
- ติ่งเนื้อ(Polyps) ที่ปากมดลูกหรือโพรงมดลูก
ติ่งเนื้อบริเวณปากมดลูกหรือโพรงมดลูก คือติ่งเนื้อที่เจริญงอกออกมาอย่างผิดปกติ มีขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีสีแดงชมพู สำหรับสาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้นเป็นตัวกระตุ้นหรือเกิดจากการติดเชื้อ อาการของโรคไม่เป็นอันตรายร้ายแรง สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเล็ก แต่มักก่อให้เกิดความรำคาญในเรื่องของประจำเดือนที่มามากผิดปกติ
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
การมีระดูมากผิดปกติยังเป็นสัญญาณของอาการเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อบริเวณโพรงมดลูกเจริญผิดตำแหน่ง ส่วนมากมักเกิดที่บริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ หรืออุ้งเชิงกราน ซึ่งลักษณะของอาการอื่นๆ นอกเหนือจากการมีเลือดออกมากกว่าปกตินั้น ก็จะมีอาการปวดท้องรุนแรงในช่วงการมีประจำเดือน ปวดหลังส่วนล่างในช่วงก่อนหรือระหว่างมีรอบเดือน หรือแม้กระทั่งเป็นอุปสรรคในเรื่องของการขับถ่ายอุจจาระ นอกจากนี้ภาวะดังกล่าวยังอาจทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยากอีกด้วย
- ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน หรือ Pelvic inflammatory disease (PID)
เป็นการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบนที่ต่อเนื่องกันไปตั้งแต่ มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการมีบุตรได้หากไม่ได้รับการรักษา นอกเหนือจากอาการปวดจากการอักเสบแล้วยังมีอาการปวดท้องหรือปวดท้องน้อย คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ มีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการขับถ่ายปัสสาวะด้วย
- เนื้องอกมดลูก (uterine fibroid)
เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกที่เจริญมาจากชั้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก เป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรงแต่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งชนิดร้ายแรงได้ ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ แต่สำหรับบางคนจะมีประจำเดือนมาก และปวดท้องมากขณะมีประจำเดือน ไม่สบายท้องหรือมีอาการท้องอืด มีอาการเจ็บเมื่อต้องขับถ่ายอุจจาระ ปวดหลัง และหากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่มากขึ้น อาจไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยหรือมีอาการปัสสาวะไม่สุด นอกจากนี้เนื้องอกในบางรายอาจรบกวนการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
- มะเร็งทางนรีเวช (Gynecological Cancer)
หรือมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งจะมีสัญญาณเตือน อาการ และปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งทางนรีเวชในแต่ละอวัยวะจะมีความแตกต่างกัน ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งนรีเวชได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ถูกต้อง
- ภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding disorder)
การมีระดูมากผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (immune thrombocytopenia ; ITP) ซึ่งเป็นภาวะที่มีเลือดออกได้ง่าย มักพบจุดเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจ้ำเลือดตื้น ๆ หรือเป็นรอยช้ำ นอกจากนี้ การมีเลือดออกมากผิดปกติยังเป็นสัญญาณของโรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand disease) ซึ่งเป็นโรคเลือดออกง่ายทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่พบได้ในประชากรทั่วโลก ผู้ป่วยจะมีภาวะเลือดออก และมักจะมีอาการช้ำง่าย มีเลือดกำเดาไหล รวมถึงอาการเลือดออกตามไรฟัน โดยในผู้หญิงจะพบว่า มีประจำเดือนมามากและนาน หรือมีภาวะเลือดออกรุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- การตกไข่ที่ผิดปกติ (PCOS)
PCOS หรือ polycystic ovarian syndrome เป็นกลุ่มอาการที่มีการตกไข่ของรังไข่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่อาจเป็นได้นั้นเกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อร่วมกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยจะพบได้ร้อยละ 5-10 ในหญิงวัยเจริญพันธุ์
โดยปกติแล้วในทุก ๆ เดือน ร่างกายของผู้หญิงจะมีการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อกระตุ้นการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นในช่วงก่อนการตกไข่ เพราะเมื่อหลังจากมีการตกไข่แล้ว จะเป็นหน้าที่ของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกนั้นมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนจากการปฏิสนธิ เมื่อไม่มีการฝังตัว เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน แต่ถ้าไม่มีการตกไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะเจริญไปเรื่อย ๆ ไม่มีการหลุดลอกออกมาก็จะทำให้ประจำเดือนขาดหายเป็นเวลานาน หรือหากช่วงไหนมีไข่ตกและไม่มีการตั้งครรภ์ เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะลอกออกมา และทำให้ในเดือนนั้นมีประจำเดือนในปริมาณมากและนาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีขนขึ้นตามร่างกายมากผิดปกติ มีสิวมากขึ้น รวมทั้งการมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม หากคุณมีสัญญาณของปัญหาสุขภาพดังกล่าว อย่าเพิ่งด่วนสรุปเอาเอง ควรได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน จะเป็นการดีที่จะได้รับทั้งความอุ่นใจและการรักษาอย่างถูกต้อง
แหล่งที่มา
Reasons of heavy period. สืบค้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2560.จาก https://www.self.com/story/7-reasons-why-your-period-is-so-damn-heavy-and-when-to-worry-about-it.
Endometrial polyp. สืบค้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2560.จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Endometrial_polyp.
Polycystic ovary syndrome. สืบค้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2560. จาก https://www.self.com/story/pcos-polycystic-ovary-syndrome-signs.
Pelvic Inflammatory Disease. สืบค้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2560. จาก http://emedicine.medscape.com/article/256448-overview.
Endometriosis. สืบค้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2560.จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Endometriosis.
Thrombocytopenia. สืบค้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2560.จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Thrombocytopenia.
Fibroids. สืบค้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2560.จาก http://obgyn.ucla.edu/fibroids.
-
7426 ปวดท้องรอบเดือนในแบบที่ไม่ควรจะเป็น /article-biology/item/7426-2017-08-08-08-07-14เพิ่มในรายการโปรด