พิสูจน์หลักฐานคืองานตำรวจ
วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันตำรวจของไทย จึงอยากเขียนถึงภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งในด้านวิทยาศาสตร์ของตำรวจไทยมาให้ได้อ่านกัน คือ งานพิสูจน์หลักฐาน
ภาพที่ 1 ภาพพิสูจน์หลักฐานรอยนิ้วมือ
ที่มา https://pixabay.com
อาชญากรรมเกิดขึ้นและพบเห็นอยู่เสมอ การค้นหาและจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ ตามกระบวนการยุติธรรมนับเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของตำรวจ ซึ่งภารกิจนี้ ต้องอาศัยความรู้ความสามารถของตำรวจ ในสายงานที่ทำงานเกี่ยวกับงานพิสูจน์หลักฐานโดยตรง คดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผสานกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ สามารถช่วยในการจับกุมคนร้ายได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน มายืนยันให้สามารถพิสูจน์ความผิดได้อย่างชัดเจน
นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) คือ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้ในการเก็บและพิสูจน์หลักฐาน ตรวจร่างกาย และวัตถุพยาน เช่น ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีความต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อผลในการบังคับใช้กฎหมาย และการลงโทษผู้กระทำความผิดนั่นเอง
นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) ที่พบได้ทั่วไป มีดังนี้
- การตรวจสถานที่เกิดเหตุ และการถ่ายรูป (Crime Scene Investigation and Forensic)
ขั้นตอนแรกของงานพิสูจน์หลักฐานของงานสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์คือการตรวจสถานที่เกิดเหตุ นำโดยหัวหน้าทีมสืบสวนและพิสูจน์หลักฐาน ร่วมกับตำรวจพื้นที่เข้าสำรวจพื้นที่เกิดเหตุเบื้องต้น และกำหนดแนวทางค้นหาวัตถุพยาน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของคดี เจ้าหน้าที่ต้องสวมถุงมือ ชุดป้องกัน และหน้ากาก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนระหว่างผู้ตรวจสอบ และสถานที่เกิดเหตุ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะกำหนดจุดกองบัญชาการสำหรับเตรียมอุปกรณ์ พร้อมถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุและพื้นที่โดยรอบ จากนั้นจะใช้แถบสีเหลือง (Police line) กันพื้นที่เพื่อไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใกล้พื้นที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการสูญหายหรือถูกทำลายของวัตถุพยาน
ภาพที่ 2 การตรวจสอบที่เกิดเหตุ
ที่มา http://www.science.police.go.th/Download/59-0219.pdf
เจ้าหน้าที่จะเดินเรียงแถวหน้ากระดาน 4 คนเพื่อค้นหาหลักฐานอย่างครอบคลุม เมื่อพบหลักฐานหรือวัตถุพยาน จะทำการกำหนดตำแหน่ง โดยวางวงแหวนล้อมรอบ และวัดระยะหลักฐาน พร้อมจดบันทึก และถ่ายภาพก่อนออกจากจุดเกิดเหตุ วัตถุพยานต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ในกล่องกระดาษและรวบรวมไว้ที่กองบัญชาการ เพื่อให้ผู้ชำนาญการตรวจพิสูจน์หลักฐานต่อไป
- การตรวจลายนิ้วมือ
การหาลายนิ้วมือแฝง สามารถทำได้โดยการใช้ผงฝุ่นเคมี คือ นำเอาสสารที่เป็นของแข็งบางอย่างมาทำเป็นผงฝุ่นสีต่างๆ ตัวอย่างง่าย ๆ เห็นชัดเจนคือ ไส้แท่งดินสอ ซึ่งเป็นสีดำ และเป็นสีที่ตัดกับสีของพื้นผิววัตถุจนเห็นรอยได้ชัดเจนบนพื้นผิววัตถุที่เรียบและเป็นมัน เช่น แก้ว กระจก ในทางกลับกันถ้าเป็นพื้นผิววัตถุที่มีสีมืด ๆ ก็ควรใช้แป้งฝุ่นสีขาว ทั้งนี้การตรวจสอบลายนิ้วมือแบบนี้มักใช้ควบคู่กับอุปกรณ์สำหรับปัดหาคือ แปรงปัด และเทปสำหรับเก็บลอกรอยแฝง ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือแฝงกับระบบตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติ (Automated Fingerprint Identification System) หรือ AFIS เป็นการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์มาใช้งานร่วมกับหลักวิชาการทางด้านการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือบุคคล เพื่อใช้ในการตรวจสอบประวัติข้อมูลของผู้กระทำความผิด ร่วมกับการตรวจสอบข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ
ภาพที่ 3 การตรวจสอบพิสูจน์ลายนิ้วมือแฝง
ที่มา http://www.science.police.go.th/Download/59-0219.pdf
- การตรวจเอกสาร (Document) เช่น ตรวจลายเซ็น ลายมือเขียน
การตรวจพิสูจน์โดยเทียบจากลายมือเขียนชื่อหรือลายเซ็นเดิมที่เคยเขียนไว้กับลายเซ็นที่ส่งตรวจสอบ การตรวจพิสูจน์จะได้ผลดี หากเป็นระยะเวลาที่มีความใกล้เคียงกัน แต่มีข้อเสียคือ ในกรณีบุคคลที่ไม่ค่อยได้มีการเขียนลายเซ็นไว้ เช่น เกษตรกร ก็จะทำให้มีการพิสูจน์ได้ยาก หรืออีกวิธี หากลายมือที่ตรวจสอบเป็นของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีการพิสูจน์โดยการคัดลายเซ็นชื่อประมาณ 5 หน้ากระดาษต่อเจ้าหน้าที่หรือต่อหน้าศาล
ลักษณะและขั้นตอนของการตรวจพิสูจน์ลายเซ็น จะมีวิธีหลักคือ การตรวจดูทุกลายเส้น เพื่อหาเอกลักษณ์การเขียนของแต่ละตัวบุคคล เนื่องจากธรรมชาติของคนทั่วไป การเขียนมากกว่า 1 ชื่อ จะมีความผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่จะมีลักษณะเด่นที่คล้ายคลึงกันอยู่เสมอ ถ้าเอกลักษณ์ได้ออกมาตรงกัน ก็สามารถระบุได้ว่าเป็นคนเดียวกัน
- การตรวจอาวุธปืน และกระสุนปืนของกลาง (Forensic Ballistics)
เป็นการตรวจพิสูจน์โดยเปรียบเทียบลูกกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน รอยขูดลบแก้ไขเครื่องหมายทะเบียนเลขหมายประจำปืน ตรวจร่องรอยบนวัตถุ วิถีกระสุน และเขม่าปืน ด้วยกระบวนการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบตำหนิพิเศษหรือเอกลักษณ์ของร่องรอยการใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ
ภาพที่ 4 การตรวจสอบพิสูจน์อาวุธปืน
ที่มา http://www.science.police.go.th/Download/59-0219.pdf
- การตรวจทางเคมีและฟิสิกส์ (Forensic Chemistry and Physics)
การวิเคราะห์สารต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซก็ตาม โดยตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของสารต่าง ๆ หรือการวิเคราะห์วัตถุพยานด้วยเทคนิคฟิสิกส์ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะโครงสร้างโมเลกุลและธาตุองค์ประกอบภายในวัตถุ เพื่อการเชื่อมโยงวัตถุพยานและการตรวจวิเคราะห์อ้างอิงจากฐานข้อมูลเดิมที่เคยทำการพิสูจน์ ตัวอย่างการพิสูจน์นี้เช่น การพิสูจน์สารเคมีว่าเป็นชนิดใด ตรวจสอบเส้นใย กระจก โลหะ อุปกรณ์ไฟฟ้า ร่องรอยการเฉี่ยวชน และการตรวจพิสูจน์ด้วยเครื่องจับเท็จ
ภาพที่ 5 การตรวจสอบพิสูจน์เคมีและฟิสิกส์
ที่มา http://www.science.police.go.th/Download/59-0219.pdf
- การตรวจทางชีววิทยาและดีเอ็นเอ (Biological Trace Evidence)
โดยส่วนใหญ่เป็นการตรวจพิสูจน์ที่เกี่ยวกับลักษณะบุคคล เช่น ตรวจเส้นผม ขน เลือด อสุจิ และสารพันธุกรรม(DNA) โดยใช้เทคนิคเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่ปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการ โดยอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสต์ที่มีขีดความสามารถในการตรวจพิสูจน์สูง เช่นเครื่อง Scanning Electron Microscope (SEM) ที่สามารถตรวจวิเคราะห์พยานวัตถุในเชิงกายภาพได้ถึงระดับโมเลกุล หรือเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) ที่สามารถวิเคราะห์ดีเอ็นเอได้จากพยานวัตถุประเภทที่มาจากร่างกายมนุษย์ (Body Material) โดยเฉพาะ
ภาพที่ 6 การตรวจสอบพิสูจน์ชีววิทยาและดีเอ็นเอ
ที่มา http://www.science.police.go.th/Download/59-0219.pdf
- การตรวจทางนิติเวช (Forensic Medicine)
การนำเอาความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์มาใช้ประยุกต์เพื่อผลทางกฎหมาย เช่น งานนิติพยาธิ งานนิติวิทยา งานชีวเคมี งานพิสูจน์บุคคล หรือที่มักได้ยินคุ้นหูว่า ชันสูตรพลิกศพ หรือผ่าศพเพื่อที่จะได้มาซึ่งสาเหตุการเสียชีวิต และพฤติกรรมของการเสียชีวิต
โดยสรุปกระบวนการทำงานของงานสืบสวนและพิสูจน์หลักฐาน จะเริ่มต้นจากพนักงานสืบสวนเข้าตรวจสอบคดี โดยพนักงานสอบสวนจะทำหน้าที่หาข้อมูล และส่งต่อประเด็นให้ทางกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบต่อเมื่อได้ทำการตรวจสอบแล้วหากมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจะมีการประชุมหารือและหาข้อมูลเพิ่มเติม
พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เป็นพยานหลักฐานสำคัญที่เกิดขึ้นด้วยการวิเคราะห์ผ่านกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ และผ่านความรู้พื้นฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งในทางกฎหมาย ถือว่าเป็นกระบวนการพิจารณาหรือจะนำเข้าสู่ความรู้ของศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ ซึ่งก็นับว่าเป็นหน้าที่ที่น่าสนใจและยกย่องเป็นอย่างยิ่งอีกภารกิจหนึ่ง
แหล่งที่มา
พลตํารวจตรี นายแพทย์ พรชัย สุธีรคุณ. การนําความรู้ “นิติเวชศาสตร์”มาประยุกต์ใช้ในการพิจารณา. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560, จาก
https://www.tgia.org/upload/file_group/10/download_164.pdf
ไทยรัฐออนไลน์. (2558, 17 กรกฎาคม). ไขรหัสลายเซ็นปลอม แกะรอยต่อจิ๊กซอว์ อุบัติเหตุหรือฆาตกรรม ?. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560, จาก
https://www.thairath.co.th/content/512361
ระบบตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติ. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560, จาก
https://th.wikipedia.org/wiki/ระบบตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติ
รศ.พ.ต.อ.หญิง พัชรา สินลอยมา. ความรู้เบื้องต้นกับนิติวิทยาศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560, จาก
http://www.ajarnpat.com/data/document_study_Pat.pdf
สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ. เอกสารเผยแพร่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560, จาก
http://www.science.police.go.th/Download/59-0219.pdf
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์. กลุ่มตรวจสอบอาวุธปืนและวัตถุพยานทางฟิสิกส์. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560, จาก
http://www.cifs.moj.go.th/main/index.php/th/about-cifs/administration/division-forensic-investigation/gun
ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี. การหาลายนิ้วมือแฝงด้วยวิธีการต่างๆ. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560, จาก
http://www.scdc7.forensic.police.go.th/index.php/component/k2/item/323-2015-12-11-09-18-30
-
7466 พิสูจน์หลักฐานคืองานตำรวจ /article-biology/item/7466-2017-09-08-02-55-47เพิ่มในรายการโปรด