เรื่องเล่าของฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม
ทุกคนต่างทราบดีว่า ฟลูออไรด์มีประโยชน์ในทางทันตกรรมซึ่งช่วยในการป้องกันฟันผุได้และมักถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปากหลายชนิดเช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น แต่สำหรับน้ำดื่มผสมฟลูออไรด์นั้นอาจแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง
ภาพที่ 1 การเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำที่ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคเพื่อป้องกันฟันผุ
ที่มา Arcaoin/Pixabay
น้ำผสมฟลูออไรด์ (Water fluoridation)
ฟลูออไรด์ เป็นสารประกอบไอออนิกที่ได้จากฟลูออรีน สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ชั้นดิน และชั้นหิน ซึ่งมีระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของแหล่งนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วจะมีความเข้มข้นไม่เกิน 0.3 PPM แต่สำหรับฟลูออไรด์ที่ถูกเติมลงในน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคจะมีมาตรฐานความเข้มข้นเดิมอยู่ที่ประมาณ 1 PPM หรือ 1 มิลลิกรัมต่อลิตรหรือต่ำกว่าเล็กน้อย และส่วนใหญ่แล้วประมาณ 95 เปอร์เซ็นของฟลูออไรด์ที่ถูกเติมลงในน้ำประปานั้นได้มาจากหินฟอตเฟส
ในปี 2015 กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐ (U.S. Department of Health and Human Services) ได้ออกประกาศคำแนะนำเกี่ยวกับระดับความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเติมลงในน้ำประปาชุมชนเพื่อป้องกันฟันผุและลดความเสี่ยงในการได้รับฟลูออไรด์ส่วนเกินไว้ที่ 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตรให้เป็นมาตรฐานปัจจุบัน ซึ่งความเข้มข้นก่อนหน้าที่ประกาศไว้ในปี 1962 อยู่ที่ 0.7-1.2 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของความเข้มข้นนี้เนื่องด้วยประชากรส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งของฟลูออไรด์อย่างเช่นผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟันได้มากขึ้นแล้ว
ภาพที่ 2 เด็กดื่มน้ำประปาในที่สาธารณะ
ที่มา brisch27/Pixabay
การทำงานของฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์ที่ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพช่องปากจะจับกับสารเคลือบฟัน ซึ่งสารประกอบทางเคมีที่สำคัญของเคลือบฟันได้แก่ ไฮดรอกซิลอะพาไทต์ (hydroxylapatite) ผลึกของแคลเซียม, ฟอสฟอรัส, ไฮโดรเจน และออกซิเจน โดยฟลูออไรด์จะช่วยให้ฟันมีความทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดที่เกิดจากแบคทีเรีย โดยการแทนที่โมเลกุลของไฮดรอกซิลในไฮดรอกซิลอะพาไทต์ ทั้งนี้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีผลการวิจัยพบว่า ฟลูออไรด์ส่วนใหญ่จะทำงานเฉพาะที่เช่น การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เป็นต้น
การไม่ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีพออาจนำมาซึ่งอาการฟันผุและสามารถลุกลามสู่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่าอย่างการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ปัญหาฟันผุมีอัตราที่ลดลงตั้งแต่มีการเริ่มใช้น้ำผสมฟลูออไรด์ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ลดลงเช่นกันในประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีการใช้งาน
ภาพที่ 3 เด็กใช้น้ำประปาในที่สาธารณะ
ที่มา Pezibear/Pixabay
ข้อพิพาทเรื่องการฟลูออไรด์
ข้อโต้แย้งในเรื่องของการใช้น้ำผสมฟลูออไรด์ เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นในปี 1940 โดยผู้สนับสนุนกล่าวว่า กระบวนการนี้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดปัญหาฟันผุโดยเฉพาะในเด็กยากจน และน้ำผสมฟลูออไรด์นี้ยังได้รับการรับรองจากทั้งสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association), สมาคมทันตกรรมอเมริกัน (American Dental Association) และหน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention-CDC) ซึ่งระบุว่าเป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกของมาตรการด้านสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20
แต่สำหรับผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็มีข้อโต้กลับว่า การใช้น้ำที่มีการเติมฟลูออไรด์นั้นเป็นรูปแบบที่ผิดจรรยาบรรณในเรื่องของการใช้ยา เนื่องด้วยไม่ได้รับความยินยอมจากแต่ละบุคคล ทั้งยังเป็นเรื่องที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอ และการเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำดื่มก็อาจทำให้กลุ่มคนบางจำพวกเช่น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องไตไม่สามารถควบคุมปริมาณการใช้ยาได้ ทั้งยังมีการอ้างถึงความไม่จำเป็นในการใช้น้ำผสมฟลูออไรด์ เนื่องจากเริ่มมีการใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์แล้ว โดย Crest คือยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ยี่ห้อแรกที่ถูกนำมาใช้ในปี 1955
นอกจากนี้ยังอ้างอิงผลการศึกษาต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพอาทิเช่น ระดับความเข้มข้นของฟลูออไรด์มีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยในด้านของความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ พัฒนาการบกพร่องทางสมองของทารก ไอคิวที่ลดลงในเด็ก และความผิดปกติของกระดูก แต่สำหรับผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดจากการได้รับฟลูออไรด์ส่วนเกินคือ การเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Fluorosis หรือฟันตกกระ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นคราบขาวที่ผิวฟัน และเมื่อรุนแรงขึ้นก็จะกลายเป็นคราบสีน้ำตาลเข้ม เป็นหลุม และทำให้สารเคลือบฟันแตกได้
ภาพที่ 4 การดื่มน้ำที่มีการเติมฟลูออไรด์ในระดับที่มีความเหมาะสมจะได้รับประโยชน์มากกว่าโทษ
ที่มา masterstudio/Pixabay
ฟลูออไรด์ไม่ใช่สารที่ดีสำหรับผู้บริโภคจริงหรือ?
คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน แน่นอนว่าฟลูออไรด์เป็นสารพิษอย่างไม่ต้องสงสัยที่ระดับความเข้มข้นสูง การศึกษาฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับฟลูออไรด์ถูกตีพิมพ์ในปี 2006 โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติซึ่งทำตามคำร้องขอของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency-EPA) พบว่าระดับการปนเปื้อนสูงสุดของฟลูออไรด์ (Maximum Contaminant Level Goal - MCLG) ในน้ำดื่มที่ 4 PPM เป็นปริมาณที่สูงเกินกว่าจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพของช่องปากและฟัน ทั้งยังทำให้เด็กได้รับฟลูออไรด์ส่วนเกินจนเกิดภาวะฟันตกกระ จึงได้มีคำแนะนำให้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ผู้ควบคุมดูแลแนวทางในการจัดการน้ำดื่มพิจารณาลดเกณฑ์สูงสุดของความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่อนุญาตให้ใช้ในน้ำดื่มลง
ในท้ายที่สุด สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ แนะนำให้ใช้ความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่ 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตรสำหรับระบบน้ำในชุมชนที่เติมฟลูออไรด์ในน้ำ เพื่อเป็นรักษาประโยชน์ในการป้องกันโรคฟันผุและลดความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจากการได้รับฟลูออไรด์ส่วนเกิน
แหล่งที่มา
Douglas Main. (2015, 30 April). Facts About Fluoridatio.
Retrieved September 27, 2017, from https://www.livescience.com/37123-fluoridation.html
Fluoride in Drinking Water: A Scientific Review of EPA's Standards (2006) .
Retrieved September 27, 2017, from https://www.nap.edu/read/11571/chapter/2
Is Fluoridated Drinking Water Safe?.
Retrieved September 27, 2017, from https://www.hsph.harvard.edu/magazine/magazine_article/fluoridated-drinking-water/
Joseph Mercola. (2015, 28 January). Harvard Study Confirms Fluoride Reduces Children’s IQ.
Retrieved September 27, 2017, from http://www.huffingtonpost.com/dr-mercola/fluoride_b_2479833.html?ncid=engmodushpmg00000003
-
7572 เรื่องเล่าของฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม /article-biology/item/7572-2017-10-17-01-57-49เพิ่มในรายการโปรด