เบื้องหลังฮอร์โมนที่ทำให้สุนัขก้าวร้าว
สุนัขเป็นเพื่อนยากและเพื่อนที่ดีสำหรับมนุษย์เสมอ แต่มิตรภาพก็ไม่ได้มีแค่ภาพความน่ารักของพวกมันอย่างการมาปลุกทุกเช้า เดินตามมาส่งที่รถก่อนออกไปทำงาน กระดิกหางต้อนรับที่เจ้าของกลับถึงบ้าน หรือแม้กระทั่งการเลียหน้าเจ้าของเพื่อแสดงความรัก แต่ยังต้องเจอกับสัญชาตญาณด้านลบอย่างการเห่ากรรโชก ขู่คำราม และจบลงที่การถูกกัดด้วย
ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องมาจากการถูกสุนัขทำร้าย และพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นก็เป็นเหตุให้พวกมัน
ต้องจบลงด้วยการถูกทิ้งไว้กับสถานรับเลี้ยงสัตว์หรือตามพื้นที่สาธารณะอย่างไร้ความเมตตา นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามค้นหาวิธีป้องกันปัญหาความก้าวร้าวเหล่านั้นในบทบาทที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน
ภาพที่ 1 เจ้าของพาสุนัขเดินเล่นพร้อมสายลากจูง
ที่มา quinntheislander/Pixabay
เจ้าของสุนัขควรทราบว่า การพาสุนัขเดินเล่นมีส่วนสร้างความเครียดให้กับพวกมันได้ โดยสุนัขจะมีภาวะที่เรียกว่า “Leash aggression” ซึ่งอาจแสดงพฤติกรรมในลักษณะของการเห่า ขู่คำราม หรือพุ่งเข้าใส่สุนัขตัวอื่น ๆ ที่เดินผ่านมา
Leash aggression เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากการถูกควบคุม ความผิดหวัง และความอึดอัดในสถานการณ์หนึ่งทางสังคมในขณะที่ต้องติดอยู่กับสายลากจูง ในสถานการณ์ปกติสุนัขที่ไม่ต้องผูกติดอยู่กับสายลากจูงจะสามารถรักษาระยะห่างระหว่างตัวพวกมันกับสิ่งที่ทำให้พวกมันกลัวได้ และในสุนัขตัวเดียวกัน เมื่อต้องถูกใส่สายลากจูงซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มันไม่สามารถรักษาระยะห่างต่อสิ่งนั้นได้ จะทำให้เขาตอบสนองในลักษณะของการเห่า ขู่คำราม และพุ่งเข้าใส่ด้วยความหวังที่ว่าสิ่งที่พวกเขากลัวจะหนีไป และหากพฤติกรรมดังกล่าวได้รับแรงเสริมจากความสำเร็จ นั่นหมายถึงการหนีไปของสุนัขตัวอื่นหรือสิ่งที่ทำให้พวกมันกลัว พวกมันอาจตอบสนองในลักษณะเดียวกันอีกครั้งเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งกระตุ้นที่คล้ายคลึงกัน
ภาพที่ 2 สุนัขเห่าและขู่คำราม
ที่มา skeeze/Pixabay
งานวิจัยใหม่นำโดย Evan MacLean ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ถูกตีพิมพ์ในวารสารฉบับพิเศษ Frontiers in Psychology ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของฮอร์โมนอย่างออกซิโทซิน (oxytocin) และวาโซเพรสซิน (vasopressin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พบในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยพบว่าฮอร์โมนดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมทางสังคมของสุนัข ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีววิทยาที่อยู่เบื้องหลังความก้าวร้าวต่าง ๆ อาจช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของเพื่อนสุนัขมากขึ้นได้
ภาพที่ 3 สุนัข
ที่มา Justin Veenema/Unsplash
ออกซิโทซิน (oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการให้กำเนิดและการดูแลเอาใจใส่ บางครั้งอาจถูกเรียกว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้จะมีระดับสูงขึ้นเมื่อโอบกอดหรือจูบคนที่รัก ในขณะที่วาโซเพรสซิน (vasopressin) เป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการควบคุมระดับน้ำในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนที่มีความตรงกันข้ามกับฮอร์โมนออกซิโทซิน เนื่องด้วยงานวิจัยหนึ่งพบว่า ฮอร์โมนวาโซเพรสซินจะมีระดับสูงขึ้นในบุคคลที่มีปัญหาความก้าวร้าวเรื้อรัง
สำหรับการศึกษา ทีมวิจัยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งเป็นสุนัขที่มีความก้าวร้าวเมื่อถูกควบคุมด้วยสายลากจูง มีวัย เพศ และสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มเปรียบเทียบจะเป็นสุนัขที่ไม่มีความก้าวร้าว แต่มีวัย เพศ และสายพันธุ์เหมือนกันกับกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มแรก
ในการทดลอง สุนัขแต่ละตัวจะใส่สายลากจูงและถูกจับไว้โดยเจ้าของภายในห้องทดลอง ขณะที่นักวิจัยจะทำการเปิดไฟล์เสียงเห่าของสุนัขตัวอื่นหลังม่าน จากนั้นก็จะเปิดม่านออกเพื่อเผยให้เห็นถึงรูปปั้นเสมือนจริงของสุนัขพร้อมกับคนดูแล โดยบรรยากาศภายในห้องทดลอง สุนัขจะได้ยินเสียงเช่นเดียวกับเสียงที่พวกมันได้ยินในชีวิตประจำวัน รวมทั้งมีวัตถุทั่วไป 3 อย่างได้แก่ กล่องกระดาษแข็ง ถุงขยะ และลูกบอลในห้องด้วย ซึ่งทีมนักวิจัยจะทำการวัดการตอบสนองของระดับฮอร์โมนทั้งก่อนและหลังการมีปฏิสัมพันธ์กับชุดการทดลองที่นักวิจัยเตรียมไว้ข้างต้น
ภาพที่ 4 สุนัขและเจ้าของสุนัข
ที่มา Matthew Henry/Unsplash
จากการศึกษาพบว่า ไม่มีสุนัขตัวใดในการทดลองที่ตอบสนองอย่างอุกอาจต่อกล่องกระดาษ ถุงดำ และลูกบอล แต่สุนัขหลายตัวในกลุ่มของสุนัขที่มีความก้าวร้าวมีการตอบสนองเชิงรุกต่อรูปปั้นสุนัขเสมือนจริง โดยจะแสดงพฤติกรรมที่ทั้งเห่า ขู่คำราม และพุ่งเข้าใส่ ซึ่งสุนัขที่มีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรุนแรงนั้นมีระดับของฮอร์โมนวาโซเพรสซินที่สูงขึ้น ในขณะที่ฮอร์โมนออกซิโทซินนั้นไม่พบความแตกต่างทั้งในกลุ่มสุนัขที่ก้าวร้าวและกลุ่มควบคุม แต่เมื่อมีการเปรียบเทียบระดับของฮอร์โมนออกซิโทซินของสุนัขเลี้ยง (pet dogs) กับสุนัขช่วยเหลือ (service dogs) ซึ่งเป็นสายพันธุ์พิเศษที่เป็นมิตรโดยพื้นฐานอยู่แล้วพบว่า สุนัขช่วยเหลือมีระดับของฮอร์โมนออกซิโทซิสูง รวมทั้งมีสัดส่วนของฮอร์โมนออกซิโทซินสูงกว่าฮอร์โมนวาโซเพรสซินอย่างมีนัยสำคัญ
นักวิจัยมีความสนใจในฮอร์โมนออกซิโทซินและฮอร์โมนวาโซเพรสซิน ซึ่งกล่าวว่าฮอร์โมนทั้งสองมีบทบาทสำคัญในลักษณะของหยิน-หยางที่อาจช่วยยับยั้งและส่งเสริมอารมณ์โกรธก้าวร้าวได้ อีกทั้งข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาที่เกี่ยวข้องทางด้านเภสัชกรรมที่มีส่วนช่วยป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ตึงเครียดในการเผชิญหน้าของสุนัข และยับยั้งความก้าวร้าวรุนแรงในสุนัขที่มีปัญหาความก้าวร้าวได้
การวิจัยในอนาคตอาจพิจารณาใหม่ถึงการวิธีการรักษาปัญหาความก้าวร้าวในสุนัขที่มุ่งเน้นไปที่ฮอร์โมนออกซิโทซินและฮอร์โมนวาโซเพรสซิน และจะเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับคนรักสุนัขที่จะพบวิธีการรักษาและบำบัดที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวของสัตว์เลี้ยงเพื่อนยากของพวกเขา สุนัขตัวอื่น รวมทั้งเจ้าของของสุนัขตัวอื่น ๆ ด้วย
แหล่งที่มา
Evan L. MacLean, Laurence R. Gesquiere, Margaret E. Gruen, Barbara L. Sherman, W. Lance Martin, C. Sue Carter. Endogenous Oxytocin, Vasopressin, and Aggression in Domestic Dogs. Frontiers in Psychology, 2017; 8
Carrie Arnold. (2017, 4 October) Why Are Some Dogs More Aggressive?
Retrieved October 22, 2017, from
https://news.nationalgeographic.com/2017/10/why-are-some-dogs-aggressive-hormones/
The hormone that could be making your dog aggressive discovered.
Retrieved October 22, 2017, from
https://www.sciencedaily.com/releases/2017/09/170927162032.htm
Leash aggression.
Retrieved October 22, 2017, from
https://positively.com/dog-behavior/aggression/leash-aggression/
-
7741 เบื้องหลังฮอร์โมนที่ทำให้สุนัขก้าวร้าว /article-biology/item/7741-2017-12-04-04-43-53เพิ่มในรายการโปรด