พืชก็เครียดเป็น
ใครจะทราบว่าสภาวะหนึ่งของคนเรา ที่ไม่อยากเจอะเจอเท่าไรนัก อย่างสภาวะเครียด ซึ่งเมื่อคนเราต้องเจอสภาวะเครียดแบบนี้ แน่นอนว่า สุขภาพกายและใจที่สูญเสียสมดุลก็จะทำให้ร่างกายของคนเราอ่อนแอลงไปในที่สุด และรู้หรือไม่ว่า สภาวะเครียดแบบนี้ ก็จะเกิดขึ้นได้กับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งอย่าง พืช ได้เช่นกัน ความเครียดของพืช คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร และพืชมีการตอบสนองอย่างไร
ภาพที่ 1 พืช
ที่มา https://pixabay.com/
สิ่งมีชีวิตต้องอาศัยสภาพแวดล้อมในเจริญเติบโต พืชก็เช่นเดียวกัน ที่มีรูปแบบและกระบวนการในการเจริญเติบโตที่ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมทั้งปัจจัยภายในคือพันธุกรรม และปัจจัยภายนอก คือดิน น้ำ แสงแดด อากาศ อุณหภูมิ แร่ธาตุ รวมไปถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันกับพืชชนิดนั้น ๆ
แต่ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งแวดล้อมใด ๆ ที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ผิดปกติ เราเรียกสภาวะนี้ว่า สภาวะเครียดของพืช ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายแบบตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปแบบไม่ปกติ เช่น ปริมาณน้ำที่มากหรือน้อยเกินไป แสงแดดที่จัดเกินไป ค่าความเค็มของดิน ค่าความเปรี้ยวของดิน ค่าความเป็นกรดด่าง อุณหภูมิที่ต่ำหรือสูงเกินไป ปริมาณสารเคมีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โลหะหนัก ปริมาณธาตุอาหาร หรือแม้กระทั่งจากกการโดนศัตรูพืชพวกหนองและแมลงที่เข้ากัดกินและทำลายต้นพืช ตลอดจนสภาพมลภาวะต่าง ๆ ความเครียดเหล่านี้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างแน่นอน ทุกปัจจัยที่กล่าววมาข้างต้นอาจทำให้เกิดอนุมูลอิสระในพืช และเกิดเป็น oxidative stress อันเป็นผลทำให้พืชเสียหาย และตายได้
โดยปกติพืชจะมีการตอบสนองต่อความเครียดที่แตกต่างกัน มีการศึกษาการตอบสนองต่อความเครียดของพืช โดยส่วนใหญ่มีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทำให้กระบวนการเมแทบอลิซึม (metabolism) ผิดปกติ ทำให้การเติบโตด้านต่าง ๆ ลดลง จนไม่สามารถอยู่รอดได้และตายไปในที่สุด
ภาพ การตอบสนอง (Response) ของพืชต่อความเครียด (Stress) ที่เกิดจากปัจจัยภายนอกต่างๆ
ที่มา https://ag2.kku.ac.th/kaj/PDF.cfm?filename=04-Aed.pdf&id=560&keeptrack=14
การตอบสนองของพืชแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มพืชที่ไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ กับกลุ่มที่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ โดยมีการศึกษาที่พบว่า พืชที่สามารถปรับตัวได้ ส่วนหนึ่งมาจากพืชมีกลไกในตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีการปรับตัวให้เกิดการรับรู้ (Recognition) และจดจำการเกิดลักษณะความเครียดที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดความเครียดนั้นอีก จะมีการแปลงและส่งสัญญาณให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับยีน ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุล หรือ Metabolism ระดับเซลล์ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ การหลบหนี (escape) ตัวอย่างการหลบหนีของพืชก็เช่น การพักตัวของเมล็ดพืชในพืชกลุ่มทะเลทราบ เพื่อรอฤดูฝน ซึ่งถือเป็นการปรับตัวของพืชเพื่อไม่ให้เจอกับสภาวะ ส่วนตัวอย่างการต้านทาน ซึ่งเป็นสภาวะการปรับตัวของพืชให้ทนต่อความเครียด โดยสภาวะเครียดนั้นยังคงอยู่ การลดรูปใบไปเป็นหนามของกระบองเพชร การเก็บสะสมน้ำไว้ในใบหรือลำต้นของกลุ่มพืชอวบน้ำ เป็นต้น
การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดการเกี่ยวกับความเครียดของพืช จะทำให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ต้านทานต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดการและควบคุมสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่คุ้มค่าและเหมาะสมต่อไป
แหล่งที่มา
อ.ดร.อินทิรา ขูดแก้ว (2560, 16 พฤษภาคม). ความเครียดของพืช (PLANT STRESS) . สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2561, จาก
http://biology.ipst.ac.th/?p=3361
ภัทราพร ทองเกษร (2560, 1 มีนาคม). พืชก็มีความเครียด. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2561, จาก
http://www.nsm.or.th/index.php?option=com_k2&view=itemlist&task=tag&tag=ความเครียด
Mechanisms of Plant Responses to Global Climate Change . สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2561, จาก
https://ag2.kku.ac.th/kaj/PDF.cfm?filename=04-Aed.pdf&id=560&keeptrack=14
-
7832 พืชก็เครียดเป็น /article-biology/item/7832-2018-01-11-01-27-09เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง