ว่าด้วยเรื่องของ "ขี้มูกแห้ง"
เรื่องราวมากมายทั้งเรื่องของการเดินทาง เวลา จักรวาลและดวงดาว หรือแม้กระทั่งเป้าหมายในชีวิต เรื่องราวเหล่านี้ทำให้มีเหตุผลน้อยมากที่จะหันมาสนใจเรื่องเกี่ยวกับก้อนเล็กๆ ที่ติดอยู่ในโพรงจมูกอย่างขี้มูกแห้ง อย่างไรก็ดี เรื่องที่อยู่ใกล้เพียงปลายจมูกนี้มีข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ควรทราบไว้อย่างแน่นอน
ภาพที่ 1 เด็กแคะขี้มูก
ที่มา asliegonzales /Flickr
ขี้มูกแห้งเกิดจากอะไร?
ก่อนที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับขี้มูกแห้ง สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทราบคือเรื่องเกี่ยวกับสารเมือกในโพรงจมูก
ภาพที่ 2 ขี้มูก
ที่มา Sarah/Flickr
สารเมือก (Mucus) เป็นสารเหนียวคล้ายเจล หรือสารหล่อลื่นที่หลั่งออกมาจากเซลล์เยื่อเมือก (mucous cell) สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย ทั้งภายในกระเพาะอาหาร ลำไส้ จมูก ปาก ปอด ตา และทางเดินปัสสาวะ โดยสารเมือกที่เกิดขึ้นภายในจมูกนั้นอาจเรียกอีกชื่อได้ว่า “น้ำมูก” ปกติแล้วเยื่อเมือกภายในโพรงจมูกจะผลิตน้ำมูกประมาณ 1 ลิตรต่อวัน ซึ่งสารเมือกเหล่านี้มีหน้าที่ในการรักษาความชุ่มชื้น และช่วยปรับอุณหภูมิของอากาศที่หายใจเข้ามาให้อุ่นขึ้น ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นด่านคัดกรองสิ่งสกปรกที่มากับอากาศ อาทิเช่น ฝุ่นละออง แบคทีเรีย สารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น
หากร่างกายไม่มีการป้องกันตัวเองที่ดี อนุภาคเล็ก ๆ ที่ปนเปื้อนมากับอากาศจะสามารถผ่านเข้าไปยังปอด และทำให้ปอดเกิดอาการระคายเคือง ติดเชื้อ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงตามมาได้ ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่า ปอดจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวช่วยสำคัญอย่างน้ำมูกจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดักจับหรือช่วยชะลอการก่อตัวของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มากับอากาศก่อนเข้าสู่ปอด และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ร่างกายพยายามป้องกันไวรัสให้พ้นไปจากระบบทางเดินหายใจด้วยการสร้างน้ำมูกจำนวนมากในเวลาที่เป็นหวัด
เมือกภายในโพรงจมูกจะทำหน้าที่ร่วมกับเซลล์ขนขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า ซิเลีย (Cilia) ที่คอยพัดโบกเมือกให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเมือก ฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกอื่น ๆ แห้ง มันจะเกาะติดเข้าด้วยกันและอัดตัวเป็นก้อนเกิดเป็นขี้มูกแห้ง (Booger) ซึ่งขี้มูกแห้งจะเกิดขึ้นมากในช่วงที่เป็นหวัดหรือเป็นภูมิแพ้ นอกจากนี้อากาศที่แห้ง ฝุ่นละออง รวมทั้งเครื่องปรับอากาศ ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ขี้มูกแห้งก่อตัวได้มากขึ้นด้วย
ขี้มูกแห้งจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน บ้างอาจแข็ง แห้ง หรือเหนียว นั่นขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มันเกิดขึ้นภายในจมูก อย่างไรก็ดี ไม่ว่าขี้มูกจะแข็งแห้งหรืออ่อนนุ่ม ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่ต้องกังวล เพราะในความเป็นจริงแล้ว ขี้มูกแห้งเป็นสัญญาณที่ดีของระบบทางเดินหายใจในเรื่องของการป้องกันสิ่งสกปรกที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ทำไมเด็กๆ จึงทานขี้มูก?
หากกล่าวถึงในแง่ทางสังคม เด็กที่มีนิสัยชอบแคะขี้มูกหรือรับประทานขี้มูกแห้งนั้น อาจเป็นเพราะเด็ก ๆ ยังไม่มีการจัดการที่ดีเกี่ยวกับทักษะทางสังคมที่จะช่วยป้องกันพวกเขาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของการขัดเกลาทางสังคมคือ การเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นพฤติกรรมทั้งที่ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้ ในหลาย ๆ บทเรียนพวกเขาได้เรียนรู้จากพ่อแม่ ครูอาจารย์ และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาจะได้เรียนรู้จากเพื่อน ๆ ที่ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน
ภาพที่ 3 เด็กๆ มีนิสัยชอบแคะขี้มูก ที่มา nnc07/Flickr
ศาสตราจารย์ Scott Napper ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเคมี มหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน ประเทศแคนาดาเสนอสมมติฐานว่า ความสนใจของเด็กเกี่ยวกับการแคะจมูกและทานขี้มูกของตัวเองนั้นอาจเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของขี้มูกแห้ง ซึ่งเด็กเกือบทั้งหมดพยายามที่จะลิ้มรสชาติของสิ่งที่ออกมาจากจมูกของพวกเขา และเป็นไปได้ว่า การกระทำดังกล่าวกำลังพยายามผลักดันให้เกิดการยอมรับพฤติกรรมเหล่านั้น
ขี้มูกแห้งจะมีรสหวานเล็กน้อย และนั่นอาจเป็นรสชาติที่ดีในความคิดของเด็ก โดยที่เด็กยังไม่มีความตระหนักถึงความปลอดภัยของสิ่งที่รับประทานเข้าไปมากนัก นอกจากนี้จากสมมติฐาน Hygiene hypothesis ของดอกเตอร์ James T.C. Li จาก Mayo Clinic ยังชี้ให้เห็นว่า การรับประทานขี้มูกแห้งเป็นการสัมผัสกับเชื้อโรคในระยะเริ่มต้นที่อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการพัฒนาของระบบภูมิคุ้มกันได้
ไม่เพียงแค่พฤติกรรมการแคะขี้มูกหรือที่เรียกว่า "ไรโนทิลเล็กโซมาเนีย" (rhinotillexomania) จะเกิดขึ้นในเด็กเท่านั้น จากการสำรวจพบว่า ผู้ใหญ่เกือบทั้งหมดก็มีพฤติกรรมชอบแคะขี้มูกในระดับที่แตกต่างกัน อย่างไรตามร่างกายของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยปกติแล้วจะมีการสร้างสารคัดหลั่งในจมูกอย่างต่อเนื่อง และกลืนมันผ่านการพัดโบกของซิเลียไปทางด้านหลังของจมูก ดังนั้นการรับประทานขี้มูกที่แคะออกมาเป็นเพียงวิธีการที่แตกต่างกันออกไป
รับประทานขี้มูกแห้งแล้วเป็นอย่างไร?
แน่นอนว่าการแคะขี้มูกแล้วรับประทานเข้าไปนั้นไม่ใช่การกระทำที่สุภาพและเหมาะสม และความคิดในการรับประทานเชื้อโรคของตัวเองเข้าไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกสุขอนามัย แต่ทำไมหลายคนจึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น?
สมมติฐานหนึ่งจากศาสตราจารย์ Scott Napper เชื่อว่า การรับประทานขี้มูกอาจส่งผลดีต่อร่างกายในแง่ของการช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องด้วยก้อนเล็ก ๆ ที่อัดแน่นอยู่ภายในโพรงจมูกเต็มไปด้วยข้อมูลทางชีวภาพ ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปจะสามารถช่วยให้ร่างกายเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น นอกจากนี้ขี้มูกยังประกอบไปด้วยเชื้อโรคที่เฉพาะต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะของเจ้าของ ดังนั้นการรับประทานขี้มูกเข้าไปเปรียบได้กับการรายงานข้อมูลอันตรายที่ร่างกายกำลังเผชิญหน้าต่อระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการสร้างระบบป้องกันที่ดีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สมมติฐานดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิสูจน์เนื่องด้วยยังไม่สามารถรวบรวมอาสาสมัครได้เพียงพอ ทั้งนี้จากข้อมูลของดอกเตอร์ William Schaffner จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์มีการเสนอให้เห็นอีกว่า มนุษย์กลืนสารคัดหลั่งที่เกิดขึ้นภายในจมูกตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่กำลังนอนหลับ ดังนั้นการรับประทานขี้มูกแห้งจึงไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้
หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่ต้องการกำจัดขี้มูกแห้ง รบกวนดึงนิ้วก้อยออกจากโพรงจมูกของคุณ และใช้วิธีในการเป่าลมออกทางจมูกหรือค่อย ๆ สั่งออกมาและใช้กระดาษทิชชู่เช็ดออก การแคะขี้มูกแห้งออกมาไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม เนื่องด้วยขี้มูกแห้งมีเชื้อโรคจำนวนมาก อีกทั้งขี้มูกแห้งที่แข็งและเกาะติดกับเนื้อเยื่อในโพรงจมูกมากเกินไป การแคะออกอาจทำให้เนื้อเยื่อเกิดบาดแผล และยังเป็นช่องทางในเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้นด้วย
แหล่งที่มา
Jennifer Sellers. Why do we have boogers?
Retrieved January 21, 2018,
from https://health.howstuffworks.com/human-body/systems/nose-throat/why-do-have-boogers.htm
Monica Beyer. (2017, 17 February). HERE'S WHY YOU KEEP GETTING ALL THOSE GROSS BOOGERS.
Retrieved January 21, 2018,
from https://www.thrillist.com/health/nation/what-are-boogers-made-of-where-do-they-come-from
What’s a booger?
Retrieved January 21, 2018,
from http://kidshealth.org/en/kids/booger.html
RYAN JASLOW. (2013, 1 May). Eating boogers may boost immunity, scientist suspects.
Retrieved January 21, 2018,
from https://www.cbsnews.com/news/eating-boogers-may-boost-immunity-scientist-suspects/
LAURIE L. DOVE. Why do kids eat boogers?
Retrieved January 21, 2018,
from https://health.howstuffworks.com/human-body/systems/nose-throat/why-do-kids-eat-boogers.htm
-
7848 ว่าด้วยเรื่องของ "ขี้มูกแห้ง" /article-biology/item/7848-2018-02-22-02-12-22เพิ่มในรายการโปรด