สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers)
มะเร็ง โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลกรวมถึงประเทศไทย สำหรับบทความนี้มีความรู้ดี ๆ มาฝากให้อ่านกัน เพราะถ้ามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว อาจทำให้ผู้อ่านรีบตัดสินใจไปตรวจสุขภาพทันที สำหรับบทความนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็นโรคมะเร็ง การตรวจสุขภาพเป็นประจำอยู่เสมอจะช่วยให้สามารถทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วหากเมื่อพบความผิดปกติ และนั่นอาจส่งผลถึงโอกาสในการหายขาด หรือป้องกันการเป็นโรคในระยะรุนแรงได้เป็นอย่างดี
ภาพ สารบ่งชี้มะเร็งที่สามารถตรวจดูได้จากเลือดของผู้ตรวจ
ที่มา https://pixabay.com/th/ , frolicsomepl
การตรวจสุขภาพประจำปีการตรวจมะเร็งก็มีความสำคัญอยู่ในอันดับต้น ๆ ซึ่งจะต้องทำการตรวจเลือดหรือสารคัดหลั่ง (biological fluid) ตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะ น้ำในช่องปอด น้ำในไขสันหลัง เพื่อตรวจดูสารบ่งชี้มะเร็ง
สารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) คืออะไร?
สารบ่งชี้มะเร็งเป็นสารชีวโมเลกุลที่ถูกสร้างและหลังมาจากจากเซลล์มะเร็งเอง หรือผลิตจากเซลล์ร่างกายที่ตอบสนองต่อมะเร็ง ดังนั้นจึงตรวจพบได้ในกระแสเลือดหรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการตรวจวินิจฉัยโรค อีกทั้งยังช่วยในการตรวจคัดกรอง การพยากรณ์โรค โดยบอกประเมินความรุนแรง ระยะของโรคได้ซึ่งส่งผลดีในการเลือกวิธีการรักษา ซึ่งค่าของสารบ่งชี้แต่ละตัวสามารถบ่งบอกผลของการรักษาคือติดตามการรักษาของโรคนั่นเอง รวมไปถึงยังมีประโยชน์เพื่อหาโอกาสในการแพร่กระจายของโรคอีกด้วย
การตรวจวัดสารบ่งชี้มะเร็ง
โดยปกติการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งมักตรวจจากเลือด ปัสสาวะ และเนื้อเยื่อเป็นอันดับต้น ๆ โดยตรวจเพื่อหาแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่อาจจะเป็นมะเร็ง ตรวจในช่วงระหว่างการรักษา และตรวจเพื่อติดตามการรักษา สารบ่งชี้มะเร็งตัวหนึ่งอาจตรวจพบค่าผิดปกติได้ในมะเร็งหลายชนิด และในอีกกรณี ในบางครั้งสารบ่งชี้มะเร็งเหล่านี้ยังสามารถตรวจพบในโรคที่ไม่ใช่โรคมะเร็งได้ และในผู้ป่วยบางรายที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งก็อาจตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงของสารบ่งชี้มะเร็งได้เช่นกัน
สารบ่งชี้มะเร็งที่ควรรู้จัก
Alpha-fetoprotein (AFP)
ซึ่งเป็นโปรตีนในมะเร็งตับและมะเร็งชนิด แอนติเจนกลุ่ม oncofetal antigen สัมพันธ์ในกลุ่มมะเร็งตับ มะเร็งรังไข่ มะเร็งอัณฑะ โดยกลุ่มคนปกติทั่วไปจะวัดค่า AFP ได้ที่ 0 – 15 IU/ml หากเกินหรือมากกว่า 400 IU/ml แสดงว่าอาจพบเชื้อมะเร็ง
Carcinoembryonic antigen (CEA)
แอนติเจนในกลุ่ม oncofetal antigen อีกชนิดหนึ่ง สัมพันธ์ในกลุ่มมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด , มะเร็งรังไข่ โดยกลุ่มคนปกติทั่วไปจะวัดค่า CEA น้อยกว่า 5 ng/ml หากมากกว่า 100 ng/ml คือมีแนวโน้มเป็นมะเร็งสูง
Prostate specific antigen (PSA)
เอนไซม์ชนิดหนึ่งสร้างจากเซลล์เยื่อบุผิว (epithelial cell) ของต่อมลูกหมากสัมพันธ์ในกลุ่มมะเร็งต่อมลูกหมากโดยตรง โดยกลุ่มคนปกติทั่วไปจะวัดค่า PSA ได้น้อยกว่า 4 ng/ml
CA 125
โปรตีน glycoprotein สัมพันธ์ในกลุ่มมะเร็งรังไข่, มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งลำไส้ตรง, มะเร็งมดลูก, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งตับและปอด โดยกลุ่มคนปกติทั่วไปจะวัดค่า CA 125 ได้ที่ 0 – 35 U/ml
CA 19-9
แอนติเจน carbohydrate สัมพันธ์ในกลุ่มมะเร็งของระบบเดินอาหาร, มะเร็งตับ, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม โดยกลุ่มคนปกติทั่วไปจะวัดค่า ได้น้อยกว่า 37 U/ml หากมากกว่า 120 U/ml คือมีแนวโน้มเป็นมะเร็งสูง
CA 15-3
แอนติเจน glycoprotein สัมพันธ์ในกลุ่มมะเร็งเต้านม, มะเร็งตับและตับอ่อน, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งระบบทางเดินอาหาร, มะเร็งรังไข่ โดยกลุ่มคนปกติทั่วไปจะวัดค่า ได้น้อยกว่า 31 U/ml
ทั้งนี้ก็ยังมีอีกหลายชนิดด้วยกัน สามารรถศึกษาเพิ่มเติมได้ตามแหล่งที่มาได้โดยละเอียด ซึ่งจะเห็นว่ากว่าที่จะทราบผลการเป็นมะเร็งต้องผ่านขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญอันนำมาสู่แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและได้ผลต่อไป
แหล่งที่มา
Tumor Marker ที่ควรรู้จัก . สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.ams.cmu.ac.th/amscsc/article/5tumor.pdf
อาจารย์ ภญ. ลักขณา สุวรรณน้อย (2560, 29 ตุลาคม).บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers). สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/416/สารบ่งชี้มะเร็ง-tumormarkers/
ผศ.พญ.ศันสนีย์ เสนะวงษ์. สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ควรรูจัก. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/618_1.pdf
-
7939 สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers) /index.php/article-biology/item/7939-tumor-markersเพิ่มในรายการโปรด