สำเร็จไปอีกขั้น กับการโคลนนิ่งที่เงียบหายไปนาน
เป็นที่ฮือฮาอยู่ไม่น้อยในช่วงเวลา ที่เทคโนโลยีทางด้านพันธุกรรมซึ่งหวังเป็นผลผลิตที่จะสร้างความหวังให้แก่มนุษย์ชาติ แม้สิ่งที่สามารถจะทำให้ประสบความสำเร็จได้จะเป็นแค่พืชและสัตว์เพียงเท่านั้น เวลาผ่านไปเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ ข่าวการโคลนนิ่งสิ่งมีชีวิตก็ได้ส่างซาลงไป และเมื่อช่วงต้นปีที่ ข่าวเกี่ยวกับการโคลนนิ่งก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อประเทศจีนสามารถโคลนนิ่งลิงได้สำเร็จ ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าแท้จริงแล้วเรื่องของโคลนนิ่ง เป็นสิ่งที่หายไปแล้วเพราะคงไม่มีใครสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเพียงแค่เป็นเรื่องที่เงียบหายไปชั่วขณะ เรามาร่วมสังเกตการณ์กันดีกว่า
โคลนนิ่งคืออะไร
การโคลนนิ่ง (Cloning) คือ กระบวนการสร้างสิ่งมีชีวิตตัวใหม่ขึ้นมา ให้มีลักษณะเลียนแบบตามพันธุกรรมเดิมของสิ่งมีชีวิตต้นแบบ แตกต่างจากเดิมที่การเกิดขึ้นใหม่ของสิ่งมีวิตที่จะเกิดขึ้นจากการปฎิสนธิกันระหว่างเซลล์สืบพันธ์ุเพศผู้และเซลล์สืบพันธ์เพศเมีย โดยมีขั้นตอนคือนำนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายใส่เข้าไปในเซลล์ไข่ที่ถูกดูดเอานิวเคลียสออกไปก่อนแล้ว ด้วยกระบวนการใช้นิวเคลียสจากเซลล์เต็มวัยของเซลล์ร่างกายของสัตว์เพศอะไรก็ได้ลงไปที่เซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์เพศเมียหรือเซลล์ไข่ โดยนำสารพันธุกรรม หรือ DNA ที่มีอยู่ในเซลล์สืบพันธุ์ของเพศเมียหรือเซลล์ไข่ออกก่อน เซลล์ไข่ที่มีนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายจะพัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่โดยใช้ข้อมูลของสารพันธุกรรมจากนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายสิ่งมีชีวิตต้นแบบ สิ่งมีชีวิตใหม่จะมีรูปร่าง หน้าตา ลักษณะภายนอก เหมือนกับสัตว์ตัวที่เป็นเจ้าของเซลล์เดิมเกือบทุกประการ
ความจริงแล้วการโคลนนิ่ง (Cloning) นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถที่จะทำได้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แต่ไม่ได้เป็นที่ฮือฮาหรือกระแสข่าวแต่อย่างใดเพราะสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นเพียง การโคลนนิ่งที่ทำกับพืชเท่านั้นเอง ต่อมาเริ่มเป็นที่สนใจของคนมากขึ้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน คือ ดร.ทอมัส คิง (Thomas King) และคณะ ซึ่งได้ทำการทดลองโคลนนิ่งกบ ในปี พ.ศ.2495 ซึ่งถือเป็นการโคลนนิ่งสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่พืชครั้งแรก
นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ไม่อาจหยุดถอยการวิจัยและพัฒนาต่อไปได้ การโคลนนิ่งเป็นที่รู้จักและที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากในช่วงที่สามารถทำการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างแกะเป็นตัวแรก โดยดร.เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) และคณะ ในปี พ.ศ.2540
การโคลนนิ่งในประเทศไทย
พื้นฐานการโคลนนิ่งในประเทศไทยนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่การถ่ายฝากตัวอ่อน การผสมเทียม การผลิตตัวอ่อนในหลอดแก้ว และสามารถทำการโคลนนิ่งได้สำเร็จคนแรกโดย ศาสตราจารย์มณีวรรณ กมลพัฒนะ โคลนนิ่งวัวตัวแรกของประเทศไทย มีชื่อว่า “อิง” เป็นลูกโคสีดำ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2543
ความคาดหวังกับการโคลนนิ่งมนุษย์
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดความต้องการของมนุษย์ที่หวังใช้การโคลนนิ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถโคลนนิ่งมนุษย์เพื่อหวังนำอวัยวะมาปลูกถ่ายทดแทน
แต่ถึงอย่างนั้นความหวังนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกต่อต้านจากบุคคลหลาย ๆ กลุ่มจากทั่วโลก เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม อีกทั้งอาจยังมีปัญหาในเรื่องของการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลที่อาจจะทำได้ยากขึ้น ทำให้ข่าวหรือรายงานเกี่ยวกับงานวิจัย การพัฒนาเกี่ยวกับการโคลนนิ่งจึงได้ซบเซาแต่นั้นมา จะมีเพียงนาน ๆ หลายปีที่มีข่าวการทำโคลนนิ่งสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น แมว ม้า สุนัข หมู หมูป่า หรือแม้กระทั่งสัตว์สูญพันธุ์ยุคดึกดําบรรพ์อย่างแมมมอธก็ตาม
ล่าสุด จีนโคลนนิ่ง “ลิง” ได้เป็นครั้งแรก! เพื่อหวังใช้ศึกษาโรคในมนุษย์ โดยลิงทั้งสองตัวเป็นลิงแสมชื่อจงจงและหัวหัว ซึ่งเป็นข่าวที่เป็นกระแสขึ้นมาอีกก็เพราะว่าเป็นสัตว์ที่ความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด นักวิทยาศาสตร์ถึงการทดลองและวิจัยนี้ว่า ประชากรลิงที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับมนุษย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยเกี่ยวกับโรคในมนุษย์ ซึ่งเช่นเคย กลุ่มต่อต้านก็ยังให้ความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยและมีความกังวลต่อจริยธรรม เพราะว่าเหมือนว่าการโคลนนิ่งมนุษย์เริ่มเข้าใกล้ความจริงขึ้นไปทุกที
และนี่ก็อาจเป็นการให้คำตอบได้ว่า การโคลนนิ่งไม่ได้หายไป เพียงแต่เงียบไปเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนบทความเพียงเท่านั้น
แหล่งที่มา
การโคลน . สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
https://sites.google.com/site/biotechnology510/cloning
ทวีวัฒนา ทุนคุ้มครอง . โคลนนิ่งมนุษย์ ความขัดแย้งระหว่างศีลธรรมกับวิทยาการ . สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet4/cell/dna.htm
การโคลนนิ่ง (Cloning) คือ อะไร (What is Cloning ?). สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.thaibiotech.info/what-is-cloning.php
ประวัติการโคลนนิ่ง (History of Cloning). สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.thaibiotech.info/history-of-cloning.php
แล็บจีนโคลนนิ่ง “ลิง” ได้เป็นครั้งแรก! หวังใช้ศึกษาโรคในมนุษย์ นักวิทย์หวั่นไม่ถูกจริยธรรม. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
https://www.prachachat.net/spinoff/science-technology/news-106596
โลกตะลึง! นักวิทย์โสมขาวโคลนนิ่งปลุกชีพ 'แมมมอธ' หวังใช้ศึกษาโรคในมนุษย์ . สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
https://www.thairath.co.th/content/245273
-
7942 สำเร็จไปอีกขั้น กับการโคลนนิ่งที่เงียบหายไปนาน /article-biology/item/7942-2018-03-20-04-38-12เพิ่มในรายการโปรด