ฟองน้ำ ศัตรูตัวร้ายในห้องครัว
ภัยใกล้ตัวมาได้กับทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ฟองน้ำล้างจานในบ้านของคุณ รู้หรือไม่ว่าอันตรายที่แฝงมากับอุปกรณ์ทำความสะอาดอย่างฟองน้ำล้างจาน กลับเป็นเครื่องมืออันตรายที่สร้างอันตรายจากเชื้อโรคมากมาย ทั้งอาหารที่เป็นพิษ และปริมาณจุลินทรีย์ รวมไปถึงเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยหรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ และโรคไทฟอยด์เป็นต้น
ภาพ ฟองน้ำล้างภาชนะ
ที่มา https://pixabay.com , laterjay
นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมนี ดร. Cardinale M กล่าวถึงผลงานวิจัยอันน่าตกใจว่า “ฟองน้ำล้างจานนี่แหละเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียที่มีชีวิตใหญ่ที่สุดเท่าที่มีในบ้านหลังหนึ่ง” โดยให้ข้อมูลว่า ให้ลองจินตนาการถึงฟองน้ำขนาดเท่าก้อนน้ำตาล 1 ก้อน จะพบเซลล์แบคทีเรียอาศัยอยู่ประมาณ 54,000 ล้านเซลล์ตัวต่อ 1 ตารางเซนติเมตร และที่สำคัญคือแบคทีเรียกลุ่มนี้คือกลุ่มของแบคทีเรียก่อโรค เช่น Acinetobacter johnsonil Cryseobacterium hominis และ Moraxella ostoensis ซึ่งแบคทีเรียกลุ่มนี้มีรายงานว่าเป็นที่มาของการเกิดโรคที่เกี่ยวกับคออักเสบ
ภาพ จุลินทรีย์สายพันธุ์ Salmonella spp
ทีมา https://th.wikipedia.org/wiki/Salmonella
จริง ๆ แล้วเรื่องของแบคทีเรียในฟองน้ำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีรายงานนี้จากคณะผู้วิจัยจากหลากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ได้ร่วมกันดำเนินการสำรวจหาอัตราการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในฟองน้ำไว้เช่นกัน และให้ข้อมูลสำคัญว่า Salmonella spp เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในฟองน้ำ เนื่องจากฟองน้ำมีรูพรุนจำนวนมากทำให้สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเพิ่มจำนวนได้ ซึ่งส่วนใหญ่การสะสมนี้เกิดจากการก่อตัวของแบคทีเรียสะสมอันเนื่องจากการขาดการรักษาความสะอาดและไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานชนิดป้องกันเชื้อแบคทีเรีย
ทั้งนี้แนวทางการป้องกันและการกำจัดเชื้อแบคทีเรียสะสมดังกล่าว สามารถทำได้หลายวิธีได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานชนิดขจัดเชื้อแบคทีเรียในฟองน้ำ และหลังจากการใช้งานฟองน้ำแล้วก็ต้องล้างฟองน้ำให้สะอาดแล้วผึ่งให้แห้งอยู่เสมอ
2. อาจใช้ความร้อนฆ่าเชื้อโรค โดยนำฟองน้ำไปแช่ในน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อน หลังจากนั้นผึ่งในที่โล่งแจ้ง หากเป็นไปได้ผึ่งแดดจัดอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง ก็จะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี
3. วิธีการที่นักวิชาการส่วนใหญ่แนะนำก็คือ การแช่ฟองน้ำในกรดน้ำส้ม 5% (Acetic acid) หรือน้ำส้มสายชู ในอัตราส่วน 4 ช้อนโต๊ะ (60 มิลลิลิตร) ผสมกับน้ำครึ่งลิตร โดยแช่ค้างคืนไว้ ทั้งนี้น้ำส้มสายชูที่ผ่านการใช้งานในการแช่ฟองน้ำ ไม่ควรนำมาใช้ในการแช่ครั้งต่อไปอีก
4. ควรเปลี่ยนฟองน้ำบ่อย ๆ
เห็นหรือไม่ว่า ฟองน้ำเป็นอันตรายที่อยู่ใกล้ตัวเรามากเลยทีเดียว สิ่งสำคัญคือการป้องกันมากกว่าการแก้ไข เพื่อตัวคุณเองและคนในครอบครัว
แหล่งที่มา
กลุ่มแบคทีเรียวิทยาทางการแพทย์และฝ่ายจุลทรรศน์อิเล็กตรอน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ . อันตราย ?? ที่แฝงมากับฟองน้ำและแผ่นใยขัดล้างจาน.สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://nih.dmsc.moph.go.th/login/showimgdetil.php?id=813
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. ภัยจากฟองน้ำและแผ่นใยขัดล้างจาน.สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://nih.dmsc.moph.go.th/KM/58/GHSA/Poster%20salmonellosis.pdf
-
8398 ฟองน้ำ ศัตรูตัวร้ายในห้องครัว /article-biology/item/8398-2018-06-01-02-49-33เพิ่มในรายการโปรด