วิทยาศาสตร์ของอาการบ้าจี้
หากคุณเป็นหนึ่งคนที่หัวเราะจนถึงขั้นน้ำตาไหลเมื่อมีคนมาแตะส่วนของร่างกายในบริเวณที่ไวต่อความรู้สึกเช่น รักแร้ หน้าท้อง ด้านข้างลำตัว ฝ่าเท้า และลำคอ นั่นหมายความว่า คุณมีอาการบ้าจี้ บางคนอาจรู้สึกจั๊กจี้ได้มากจากการถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางคนกลับไม่แสดงอาการอื่นใดให้เห็น และไม่ว่าคุณจะมีอาการบ้าจี้หรือไม่ นี่คือคำอธิบายที่จะช่วยให้เข้าใจอาการบ้าจี้มากยิ่งขึ้น
ภาพที่ 1 อาการบ้าจี้
ที่มา https://www.flickr.com ,Padu Merloti
ในบรรดาประสาทสัมผัสทางกายภาพ อาการบ้าจี้เป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงมานานกว่า 2,000 ปี ถึงเช่นนั้นแม้ว่าอาการบ้าจี้จะเป็นหัวข้อที่น่าสนใจของบรรดาผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคอย่างอริสโตเติล แต่กลไกของอาการก็ยังคงไม่มีความชัดเจน
Granville Stanley Hall นักจิตวิทยาชาวอเมริกันจัดประเภทของอาการบ้าจี้ไว้ 2 รูปแบบคือ Gargalesis และ Knismesis สำหรับ Gargalesis จะเป็นลักษณะของเสียงหัวเราะที่มาพร้อมกับความอึดอัดใจ หรือในบางครั้งรู้สึกเหมือนถูกขโมยลมหายใจ ซึ่งลักษณะเช่นนั้นเกิดจากการถูกสัมผัสซ้ำๆ ในบริเวณที่ไวต่อความรู้สึก ในขณะที่ Knismesis จะเป็นอาการบ้าจี้ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่เบาบางบนผิวหนัง หรือรู้สึกยิบๆ ที่ทำให้ต้องการเกาหรือถูร่างกายในบริเวณนั้นเช่น เมื่อถูกรบกวนจากแมลง อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านเชื่อว่า อาการบ้าจี้อาจเป็นวิวัฒนาการในการปรับตัวเพื่อพัฒนากลไกการป้องกันตัวเองและปกป้องพื้นที่ที่ไวต่อความรู้สึกบนร่างกาย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการทำให้รู้สึกจั๊กจี้นั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์
เสียงหัวเราะกับอาการบิดตัวไปมา
สัมผัสของมนุษย์เป็นความรู้สึกที่มีพลังที่เราสัมผัสได้ในทันที่ที่มีลมหายใจเป็นของตัวเองครั้งแรก เราตอบสนองต่อการสัมผัสทั้งทางร่างกายและอารมณ์ในส่วนที่ไวต่อความรู้สึกมากกว่าบริเวณอื่น ๆ บนร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกทำให้รู้สึกจั๊กจี้
ภาพที่ 2 การหัวเราะอย่างหนักจากการถูกทำให้จั๊กจี้
ที่มา https://www.flickr.com ,Marie Castaigne
เราหัวเราะเมื่อถูกทำให้รู้สึกจั๊กจี้นั่นเพราะว่า การจั๊กจี้กระตุ้นสมองส่วนโรแลนดิคโอเพอร์คิวลัม (Rolandic operculum) ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า เสียง และปฏิกิริยาทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังกระตุ้นสมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมปฏิกิริยาทางอารมณ์ และการตอบสนองแบบเผชิญหน้าหรือวิ่งหนี รวมทั้งการตอบสนองต่อความเจ็บปวด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจะรู้สึกอึดอัดใจเมื่อเราถูกทำให้รู้สึกจั๊กจี้
เสียงหัวเราะที่เกิดจากกการจั๊กจี้ไม่ได้หมายความว่า เรากำลังมีความสุขหรือสนุก แต่นั่นเป็นเพราะการตอบสนองที่เรียกว่า การตอบสนองทางอารมณ์โดยอัตโนมัติ (Autonomic emotional response) อย่างไรก็ดีหากลองสังเกตอาการบ้าจี้จะพบว่า อาการบิดไปมาของคนที่ถูกทำให้จั๊กจี้นั้นคล้ายกับอาการของคนที่กำลังมีความเจ็บปวด ทั้งนี้การศึกษาหนึ่งในอดีตยังให้ข้อมูลสนับสนุนว่า ตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดและการสัมผัส (Pain and touch nerve receptors) จะถูกกระตุ้นในระหว่างการถูกทำให้จั๊กจี้ และคนที่ถูกจั๊กจี้จะหัวเราะอย่างหนักเมื่อถูกจั๊กจี้โดยบุคคลหรืออุปกรณ์อื่นใดมากกว่าการจั๊กจี้ตัวเอง
กระตุ้นความรู้สึกจั๊กจี้ด้วยตนเอง
เราไม่สามารถทำให้ตัวเองรู้สึกจั๊กจี้ได้เนื่องด้วยสมองของเราจะใช้การเคลื่อนไหวและเจตนาของการกระทำในการประเมินการตอบสนองต่อความรู้สึก ซึ่งนั่นจะช่วยลดทอนความรู้สึกจั๊กจี้ลงได้เมื่อตัวเองเป็นผู้กระทำ
นักวิจัยเชื่อว่า เมื่อมีการสัมผัสจากบุคคลหรืออุปกรณ์อื่น ๆ รูปแบบของความรู้สึกจั๊กจี้ในลักษณะของ Knismesis อาจเป็นส่วนหนึ่งของระบบประมวลผลในการพิจารณาถึงบางสิ่งที่กำลังสัมผัสเรา ในขณะที่ Gargalesis จะช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะต่อสู้ ด้วยเสียงหัวเราะที่เหมือนเป็นการสนับสนุนให้ผู้ที่ทำให้เกิดความรู้สึกจั๊กจี้กระทำการกระตุ้นความรู้สึกผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง คนที่ถูกทำให้รู้สึกจั๊กจี้จะพยายามป้องกันส่วนที่ไวต่อความรู้สึกบนร่างกายของตนเอง
การเกิดขึ้นของอาการบ้าจี้
อาการบ้าจี้เริ่มเกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุ 4 เดือน และจะเริ่มตอบสนองต่อการกระตุ้นด้วยเสียงหัวเราะเมื่อมีอายุได้ 6 เดือน ทั้งนี้ความล่าช้าในการตอบสนองอาจเข้าใจได้ว่า เด็กทารกสามารถรับรู้และรู้สึกได้ถึงการถูกจั๊กจี้ แต่เพียงไม่ทราบว่าการกระตุ้นนั้นคืออะไร เนื่องด้วยยังไม่มีการเชื่อมโยงความรู้สึกจั๊กจี้เข้ากับการกระตุ้นภายนอกเช่นเดียวกับสิ่งที่พวกเขาเห็น ได้กลิ่น หรือได้ยิน อย่างไรก็ดีเกมจั๊กจี้กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไประหว่างผู้ใหญ่กับเด็กทารก เนื่องด้วยผู้ใหญ่มักคิดว่าเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กอาจจะหัวเราะแต่พวกเขาไม่ได้รู้สึกสนุกหรือมีความสุขกับการกระทำเหล่านั้น นอกจากนี้การกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกจั๊กจี้อย่างรุนแรงควรจะกระทำในเด็กที่โตพอจะรับรู้และหลีกหนีได้แล้วเพื่อที่พวกเขาจะสามารถส่งสัญญาณให้เห็นถึงจุดที่ควรหยุดการกระทำที่เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกจั๊กจี้เหล่านั้นได้
ภาพที่ 3 ไม่ควรทำให้เด็กเล็กจั๊กจี้
ที่มา https://www.flickr.com ,Tony Alter
ไม่ว่าคุณจะมีความคิดเห็นอย่างไรกับความเข้าใจที่ว่าการจั๊กจี้เป็นกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคม สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักก็คือ ขอบเขตในการเล่นสนุก ดังนั้นอย่าพยายามบังคับให้ใครต้องเล่นเกมจั๊กจี้ทั้งที่เขาไม่เต็มใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก นอกจากนั้นแล้วการส่งสัญญาณเตือนของความอึดอัดใจที่เกิดขึ้นของฝ่ายตรงข้ามเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นลำดับแรกๆ
แหล่งที่มา
Anina Rich and Mark Williams. (2018, March 28). Curious Kids: Why are we ticklish?. Retrieved April 30, 2018, From https://theconversation.com/curious-kids-why-are-we-ticklish-92419
Annette McDermott. (2016, December 20). What Causes the Tickle Response? . Retrieved April 30, 2018, From https://www.healthline.com/health/why-are-people-ticklish#takeaway
Lizette Borreli. (2015, April 17). Tickle, Tickle: The Science Behind Being Ticklish, And How To Overcome It. Retrieved April 30, 2018, From https://www.medicaldaily.com/pulse/tickle-tickle-science-behind-being-ticklish-and-how-overcome-it-329802
Neuroscience News. (2016, November 11). Why Are We Ticklish? . Retrieved April 30, 2018, From http://neurosciencenews.com/touch-tickle-sensation-5484/
Christine R. Harris.The mystery of ticklish laughter. American Scientist. 1999. 87; 344. Retrieved April 30, 2018, From http://charris.ucsd.edu/articles/Harris_AS1999.pdf
-
8471 วิทยาศาสตร์ของอาการบ้าจี้ /article-biology/item/8471-2018-07-18-04-02-14เพิ่มในรายการโปรด