อาการเหนื่อยล้ากับเปลือกตาที่หนักอึ้ง
เรามักจะรู้สึกว่าเปลือกตาหนักอึ้งราวกับมีบางสิ่งดึงรั้งให้ปิดลง และการลืมตาให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนนั้นกลับเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเมื่อผ่านช่วงวันที่ยาวนานจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การออกกำลังกายอย่างหนัก หรือการเดินทางติดต่อกันหลายชั่วโมง นั่นเป็นสัญญาณที่เตือนถึงความเหนื่อยล้าของร่างกาย อย่างไรก็ดีเหตุใดอาการเหนื่อยล้าและความง่วงนอนจึงทำให้เปลือกตาหนักขึ้นได้ ?
ภาพที่ 1 เปลือกตาที่หนักอึ้งจากความเมื่อยล้า
ที่มา https://pixabay.com , OpenClipart-Vectors
ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อจำนวนมากควบคุมการทำงานเพื่อสนับสนุนการมองเห็น นอกเหนือจากกล้ามเนื้อที่ยึดลูกนัยน์ตาไว้ในตำแหน่งที่ถูกต้องและสามารถเคลื่อนไหวไปมาภายในช่องกระบอกตาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลืมตาอย่างกล้ามเนื้อที่ใช้ยกเปลือกตาที่เป็นอีกหนึ่งกล้ามเนื้อสำคัญต่อการใช้สายตาในชีวิตประจำวัน
กล้ามเนื้อที่ใช้ยกเปลือกตา (Levator palpebrae superioris muscle) เป็นกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่อยู่เหนือเบ้าตา ทำหน้าที่ควบคุมการยกเปลือกตาด้านบนขึ้นสำหรับการเปิดตาในขณะที่กล้ามเนื้อลูกตาทำงาน ส่วนใหญ่แล้วกล้ามเนื้อชนิดนี้จะประกอบด้วยกล้ามเนื้อลาย (Skeleton muscle) แต่ก็มีส่วนที่เป็นจุดแทรกของกล้ามเนื้อเปลือกตาบน (Superior tarsal muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) นั่นหมายความว่า กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเปิดตานี้เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานภายใต้อำนาจของจิตใจ (Voluntary control) และนอกอำนาจจิตใจ (Involuntary control) ยกตัวอย่างได้ว่า คุณสามารถลืมตาให้กว้างได้เท่าที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าคุณไม่ตั้งใจที่จะลืมตาให้กว้าง การลืมตาก็เกิดขึ้นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว
ภาพที่ 2 กายวิภาคของกล้ามเนื้อนอกลูกตา (Extraocular muscle) และกล้ามเนื้อที่ใช้ยกหนังตา (Levator palpebrae superioris muscle)
ที่มา https://radiopaedia.org/articles/levator-palpebrae-superioris
กล้ามเนื้อรอบดวงตาก็เหมือนกับกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตลอดทั้งวันที่เราต้องใช้สายตาในการทำกิจกรรมต่างๆ กล้ามเนื้อดวงตาในแต่ละข้างต้องทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อใช้ในการยกเปลือกตา เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่หนักอึ้งของเปลือกตานั้นจึงเป็นความรู้สึกเช่นเดียวกันกับเหตุผลที่เราทิ้งตัวลงนอนบนโซฟาในท่าทางที่ไม่อาจจัดระเบียบได้ เหตุผลนั้นคือ ความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ (Muscle fatigue) ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นกับดวงตานั้นเรียกว่า อาการล้าของดวงตา
อาการล้าของดวงตา (Tired eyes หรือ Eyestrain) เป็นสภาพของดวงตาที่แสดงออกผ่านอาการอย่างไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อาการเมื่อยล้า อาการปวดตาในดวงตาหรือรอบดวงตา ความรู้สึกหนักที่เปลือกตา อาการปวดศีรษะ ตามัว หรือในบางครั้งเกิดภาพซ้อน โดยอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สายตาในการรักษาจุดโฟกัสติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเช่น การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ เป็นต้น ทั้งนี้คนที่มีผิวหนังส่วนเกินที่เปลือกตาหรือก้อนไขมันใต้เปลือกตามีแนวโน้มที่จะรู้สึกถึงอาการล้าของดวงตาได้มากกว่าคนทั่วไป และโรคภูมิแพ้ทางดวงตา (Eye allergy) ไซนัสอักเสบจากการติดเชื้อ รวมทั้งการสัมผัสกับแสงแดดที่มากเกินไปก็เป็นสาเหตุที่ช่วยเพิ่มความรุนแรงของอาการได้มากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้โรคตาแห้ง (Dry eye syndrome) ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่ออาการเมื่อยล้าของดวงตา โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะมีการกระพริบตาอย่างน้อย 12-15 ครั้งต่อนาทีเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของดวงตา แต่เมื่อมีอาการล้าดวงตาเกิดขึ้นจะทำให้อัตราการกระพริบตาลดลงและเป็นผลให้ดวงตาไม่ได้รับการหล่อลื่นที่เหมาะสม โดยการศึกษาหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์จะกระพริบตาประมาณ 4-5 ครั้งต่อนาทีซึ่งพฤติกรรมเช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตามอาการเมื่อยล้าของดวงตาเป็นเพียงอาการชั่วคราวที่สามารถดูแลรักษาและป้องกันได้
วิธีป้องกันอาการเมื่อยล้าของดวงตา
หลายคนอาจนวดบริเวณดวงตาเมื่อรู้สึกล้า ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ดีวิธีการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตที่กล้ามเนื้อดวงตาและบรรเทาอาการล้าได้ในบางครั้ง แต่วิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันและถนอมดวงตาคือ การนอนหลับพักผ่อนและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างไรก็ดีวิธีการดังต่อไปนี้เป็นคำแนะนำที่จะช่วยถนอมดวงตาของผู้อ่านได้
- พยายามลดสาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้ของดวงตา และควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอยู่เป็นประจำ
- ควรพักการทำงานเป็นระยะๆ หรือควรลุกออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างน้อยชั่วโมงละ 1 ครั้ง
- สำหรับผู้ที่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรวางหน้าจอให้มีระยะห่างประมาณ 20-26 นิ้วจากสายตา และอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย
- ควรทำความสะอาดฝุ่นและรอยนิ้วมือออกจากหน้าจออยู่เสมอ และพิจารณาใช้ตัวกรองแสงเพื่อช่วยลดแสงสะท้อนจากหน้าจอ
- ควรให้ดวงตาได้มีเวลาหยุดพักหลังจากเลิกงาน
แม้ว่าอาการหนักที่เปลือกตาจะไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นความเจ็บป่วยของโรค แต่เงื่อนไขบางอย่างเช่น โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคกล้ามเนื้ออย่างโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis) หรือภาวะบกพร่องในกล้ามเนื้อ ( Mytonic Dystrophy) สามารถทำลายเส้นประสาทและกล้ามเนื้อใบหน้า และนำมาซึ่งอาการหนังตาตก (Ptosis) ที่รุนแรงกว่าอาการเมื่อยล้าของดวงตาได้
แหล่งที่มา
Dr. Mounir Bashour. (2016, February). Tired Eyes — What You Can Do to Wake Your Eyes Up. Retrieved April 25, 2018,From https://www.eyehealthweb.com/tired-eyes/
Levator Palpebrae Superioris: Anatomy, Insertion & Action. Retrieved April 25, 2018,From https://study.com/academy/lesson/levator-palpebrae-superioris-anatomy-insertion-action.html
Superior tarsal muscle. Retrieved April 25, 2018, From https://en.wikipedia.org/wiki/Superior_tarsal_muscle
Levator palpebrae superioris muscle. Retrieved April 25, 2018, From https://en.wikipedia.org/wiki/Levator_palpebrae_superioris_muscle
Mark A. W. Andrews. (2008, November). Why do our eyelids get so heavy when we are tired? . Retrieved April 25, 2018, From https://www.scientificamerican.com/article/why-do-our-eyelids-get-heavy/
-
8476 อาการเหนื่อยล้ากับเปลือกตาที่หนักอึ้ง /article-biology/item/8476-2018-07-18-04-09-35เพิ่มในรายการโปรด