มะเร็งถ่ายทอดทางพันธุกรรมจริงหรือ
เมื่อพูดถึง มะเร็ง ทุกคนก็คงรู้และเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า เป็นโรคร้ายที่ไม่มีแนวทางรักษาให้หายขาดอย่างแน่ชัด และก็ไม่มีใครอยากเป็นโรคนี้รวมถึงไม่อยากให้คนในครอบครัวของตนเองเป็นเช่นกัน โรคมะเร็ง เป็นโรคที่มีความซับซ้อนมีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เป็นโรคมะเร็ง ที่ผ่านมาเรามักได้ยินและเข้าใจกันมาบ้างพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ถ้าบุคคลที่เป็นพ่อแม่เป็นมะเร็ง ลูกมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งอย่างแน่นอน ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร วันนี้มีข้อมูลมาฝากให้อ่านกัน
ภาพประกอบเกี่ยวกับพันธุศาสตร์
ที่มา https://pixabay.com , geralt
พันธุกรรมคืออะไร
พันธุกรรม (Heredity) หมายถึง การถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ มาจากสิ่งมีชีวิตรุ่นก่อนหน้า (รุ่นพ่อแม่) โดยถ่ายทอดลักษณะเหล่านั้นส่งต่อไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ (รุ่นลูกหลาน) โดยอาจเรียกอีกอย่างว่า กรรมพันธุ์ โดยที่มียีน (Gene) ที่อยู่ภายในเซลล์ร่างกายคอยควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของพันธุกรรม
โรคมะเร็งเกิดจากอะไร
ทำความเข้าใจก่อนว่า มะเร็งทุกชนิด เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรืออาจกล่าวอีกอย่างก็ได้ว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของยีนเช่นเดียวกัน อธิบายคือเมื่อยีนที่มีหน้าที่ควบคุมการแบ่งเซลล์นี้เกิดความผิดปกติ ทำให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ จนอาจทำให้เซลล์ปกติเหล่านี้กลายเป็นเซลล์มะเร็งและมีการลุกลามไปอวัยวะต่าง ๆ เข้าใจโดยง่ายก็คือ การกลายพันธ์ุของยีนทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งนั่นเอง
การกลายพันธ์ุของยีน มี 2 แบบ
แบบที่ 1 การกลายพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นเองหรือถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการเกิดที่เกิดจากพฤติกรรม
- เซลล์ที่กลายพันธ์ุจากภาวะผิดปกติของร่างกาย หรือจากการสัมผัสสิ่งที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
- โรคมะเร็งส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุนี้ ประมาณ 90-95 %
แบบที่ 2 การกลายพันธุ์จากของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (รุ่นพ่อแม่ถ่ายทอดส่งต่อไปสู่รุ่นลูกหลาน)
- โรคมะเร็งส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุนี้ ประมาณ 5-10 %
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ความผิดปกติของยีนมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น จากการสัมผัสกับสารก่อมะเร็งที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้แก่ สารเคมี ไวรัสบางชนิดหรืออาจเข้าสู่ร่างกายโดยการกินอาหาร การหายใจหรือการสัมผัสโดยตรงทางผิวหนัง ความผิดปกติของยีนบางชนิดได้รับมาจากการถ่ายทอดจากพ่อหรือแม่โดยตรงที่เรียกกันทั่วไปว่าเป็นกรรมพันธุ์ แต่โรคมะเร็งชนิดนี้มีจำนวนน้อยมาก คือน้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับมะเร็งที่เป็นแบบไม่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ โดยเหตุที่การสะสมความผิดปกติที่เกิดขึ้นในยีนทั้ง 2 ประเภทในเซลล์หนึ่ง ๆ จะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร
ดังนั้นผู้ที่ได้รับยีนส่วนหนึ่งที่ผิดปกติมาจากพ่อหรือแม่มาก่อน และต่อมาเกิดความผิดปกติของยีนส่วนหนึ่งจึงมีการแสดงออกของโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีความผิดปกติของยีนมาแต่กำเนิด ที่จะต้องใช้เวลาในการสะสมความผิดปกติของยีนหลาย ๆ ชนิดจนมากพอที่จะทำให้เซลล์เปลี่ยนไป แนวทางการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง คือการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นดีที่สุด
แหล่งที่มา
นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ. โรคมะเร็งกับกรรมพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2561. จาก https://www.phyathai.com/article_detail/1896/th/มะเร็งถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อย่างไร
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ. รู้ทันมะเร็ง : มะเร็งจากกรรม...พันธุ์ . สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2561. จาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/152363
มลิวรรณ สุคันธพันธ์. มะเร็งกับพันธุกรรม . สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2561. จาก http://hocc.medicine.psu.ac.th/files/khowledge/04april_2012.pdf
-
8481 มะเร็งถ่ายทอดทางพันธุกรรมจริงหรือ /article-biology/item/8481-2018-07-18-04-15-21เพิ่มในรายการโปรด